งานออกพระเมรุ ของ พระเมรุมาศ

ริ้วกระบวนเชิญพระมหาพิชัยราชรถทรงพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคลื่อนผ่านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาทริ้วกระบวนพระอิสริยยศอัญเชิญพระอัฐิ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (ทรงพระที่นั่งราเชนทรยาน มีเจ้าพนักงานภูษามาลาประคองกลางภาพ) ออกจากพระเมรุ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

เมื่อถึงกำหนดงานออกพระเมรุ จะอัญเชิญพระบรมศพออกไปถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งมีการแห่ไปทั้งทางบกทางน้ำ โดยเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงมาที่พระยานมาศสามลำคาน แล้วแห่ออกท่าราชวรดิษฐ์ไปลงเรือ พายตามน้ำไปขึ้นที่ท่าเตียน จากนั้นเชิญขึ้นพระยานมาศสามลำคานจากเรือไปจนถึงหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ จัดเป็นริ้วขบวนแห่เข้าพระเมรุที่ท้องสนามหลวง

การแห่กระบวนเป็นไปตามราชประเพณีแต่โบราณ เพื่อเป็นเกียรติยศ สำหรับการแห่ทางน้ำหรือชลมารคในรัชกาลปัจจุบันได้ลดทอนเหลือแต่กระบวนแห่ทางบก โดยแห่จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นการเฉพาะสำหรับพระบรมศพและพระศพเกียรติยศจริง ๆ เท่านั้น[41] โดยริ้วขบวนมักประกอบด้วยริ้วขบวน 6 ริ้วได้แก่[42]

  • ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระโกศพระยานมาศสามลำคานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัยราชรถหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
  • ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวง
  • ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศโดยราชรถปืนใหญ่ สำหรับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ หรือพระยานมาศสามลำคานสำหรับพระศพเจ้านายชั้นสูง เวียนโดยอุตรวัฏ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ แล้วเชิญพระโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ
  • ริ้วขบวนที่ 4 ในวันเก็บพระอัฐิ เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระบรมราชสรีรางคารโดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยสำหรับพระมหากษัตริย์ พระราชยานกงสำหรับพระบรมวงศ์ฝ่ายหน้า หรือพระวอสีวิกากาญจน์สำหรับพระบรมวงศ์ฝ่ายใน จากพระเมรุมาศท้องสนามหลวง สู่พระบรมมหาราชวัง
  • ริ้วขบวนที่ 5 ในวันเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน เชิญพระโกศพระอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐานที่พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  • ริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หรือวัดแห่งอื่นตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้เป็นสถานที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร

อย่างไรก็ตาม ในริ้วขบวนที่ 3 สำหรับพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าที่ทรงรับราชการทหารนั้น ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ราชรถปืนใหญ่รางเกวียนทรงพระบรมศพหรือพระศพเวียนรอบพระเมรุมาศหรือพระเมรุ โดยเริ่มปรากฏหลักฐานของธรรมเนียมดังกล่าวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะพระบรมศพของพระมหากษัตริย์นั้น ได้เริ่มธรรมเนียมนี้ขึ้นในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์เอง ข้อที่ 11 ซึ่งระบุไว้ว่า "ในการแห่พระบรมศพ ตั้งแต่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปถึงวัดพระเชตุพน ให้ใช้พระยานมาศตามประเพณี จากวัดพระเชตุพนไปพระเมรุ ขอให้จัดรถเสียใหม่เป็นรถปืนใหญ่บรรทุกพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร"[43] แต่เมื่อถึงคราวจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระเวชยันตราชรถ (ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ออกนามในหมายกำหนดการว่าพระมหาพิชัยราชรถ) ทรงพระบรมศพ ในริ้วกระบวนเชิญพระโกศทรงพระบรมศพจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศท้องสนามหลวงตามโบราณราชประเพณีเช่นเดิม แต่ทรงอนุโลมให้ใช้ราชรถปืนใหญ่เชิญพระบรมศพเวียนรอบพระเมรุมาศตามที่ระบุไว้ในพระราชพินัยกรรม การจัดริ้วขบวนดังกล่าวนี้ได้สืบทอดเป็นราชประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน

อนึ่ง ในคืนก่อนวันออกพระเมรุ จะมีการจัดงานเครื่องสดอย่าง งานแทงหยวกและงานดอกไม้สด เพิ่มเติมในพระเมรุมาศ โดยงานแทงหยวกแต่งจิตกาธาน ด้วยเพราะหยวกฉ่ำน้ำช่วยไม่ให้ไฟโหมไหม้แรงเกินไป ส่วนงานดอกไม้สด ร้อยประดิษฐ์เป็นฉัตรและเครื่องแขวนต่าง ๆ ที่มาจากโบราณ ยังเป็นเครื่องกลบกลิ่น ส่วนในงานกลางคืนของคืนวันออกพระเมรุ จะจัดให้มีมหรสพสมโภชและจัดซุ้มให้ประชาชนมาถวายดอกไม้จันทน์[44]

เครื่องสังเค็ด

เครื่องสังเค็ด หมายถึง วัตถุทานที่เจ้าภาพสร้างอุทิศเพื่อใช้ชักบังสุกุลในเวลาปลงศพ โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมทำเป็นของใช้สำหรับพระสงฆ์ อาทิ พัดรอง ธรรมมาสน์ เครื่องบริขาร และเครื่องนมัสการ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นงานแรกที่มีการจัดสร้างเครื่องสังเค็ดเพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของศาสนาอื่นด้วย อาทิ ธรรมมาสน์ เพื่อมอบแก่วัดในพระพุทธศาสนา เชิงเทียน เพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของคริสต์ศาสนา และโคมไฟ เพื่อมอบให้แก่ศาสนสถานของมุสลิม หลังจากนั้นก็คงมีแต่การพระราชทานเครื่องสังเค็ดเฉพาะพระพุทธศาสนาเท่านั้น จนเมื่อครั้งงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มีการพระราชทานเครื่องสังเค็ดแก่ศาสนสถานของศาสนาทุกศาสนา และโรงเรียนและห้องสมุดด้วย ได้แก่

ของที่ระลึกเนื่องในงานออกพระเมรุ

การจัดทำของที่ระลึกในงานพระเมรุ ทำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่ออุทิศเป็นบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โดยพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ พระราชโอรสทรงร่วมแจกทานเป็นเสื้อผ้าและเงินทอง และสิ่งของเครื่องใช้แก่ประชาชน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ยังคงจัดทำเครื่องสังเค็ดและถวายพระภิกษุสงฆ์ที่อาราธนาเทศน์หรือพิจารณาผ้าบังสุกุล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เริ่มจัดทำเหรียญที่ระลึกเป็นเงินพดด้วง มีตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์รูปครุฑ ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงการจัดทำเป็นหีบเงินหรือกระเบื้องเคลือบ ในงานพระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์[45]

ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก นอกจากนี้การพิมพ์หนังสือที่ระลึกก็เป็นที่นิยมเช่นกัน เช่นงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกถึง 5 เล่ม[46] สำหรับของที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์นั้น นอกจากเครื่องสังเค็ดถวายพระสงฆ์แล้ว ยังมีการจัดทำหนังสือ และของที่ระลึกอื่น ๆ ทั้งเข็มที่ระลึก เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก [45]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเมรุมาศ http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t... http://cons-mag.com/index.php?option=com_content&t... http://www.posttoday.com/galyani/pramerumas.html http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=News... http://www.sookjai.com/index.php?topic=32814.0 http://www.tpschamnong.iirt.net/article/basa_5nt03... http://www.oknation.net/blog/print.php?id=192207 http://www.oknation.net/blog/winsstars/2012/04/25/... http://www.phrameru.net/accessory_02.html