พระประวัติ ของ พระโสภิตพุทธเจ้า

พระโสภิตะพุทธเจ้า ประสูติเป็นพระโสภิตะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งสุธัมมนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้าสุธัมมราช และพระราชมารดาทรงพระนามว่า พระนางสุธัมมาเทวี โสภิตะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง ชื่อ สุทัสสนะ รตนัคฆิ และอาเวฬะ มีพระมเหสีพระนามว่า มขิลาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๗๐,๐๐๐ นาง วันหนึ่ง พระโสภิตะทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา เมื่อพระนางมขิลาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า สีหกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาอยู่ในปราสาทนั้น โดยทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางมขิลาเทวี

เมื่อบำเพ็ญเพียรได้ ๗ วันก็อธิษฐานให้ปราสาทลอยไปจากพระราชนิเวศน์ และเสด็จประทับใต้ต้นนาคะ (ต้นกากะทิง) บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้เป็นพระปัญญาธิกะพุทธเจ้า พระโสภิตะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระอนุชาต่างมารดา ๒ พระองค์ คือ อสมกุมาร และสุเนตตกุมาร ที่สุมธัมมราชอุทยาน ทำให้พระอนุชาทั้งสองสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระโสภิตะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ

วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดาไม่อาจนับจำนวนได้

วาระที่ ๒ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ

วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ชัยเสนะ ราชบุตรแห่งกรุงสุทัสสนะ ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ


พระโสภิตะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ ณ สุนันทะวิหาร ในโอกาสที่พระเจ้าอุคคตะแห่งกรุงสุนันทะน้อมถวายสุนันทวิหาร

ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ ณ เมขลนคร ในโอกาสที่ชาวนครถวายวิหารทาน

ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐ โกฏิ ที่มาประชุมกัน เพื่อรอรับเสด็จพระโสภิตะพุทธเจ้าเสด็จกลับดาวดึงส์


พระโสภิตะพุทธเจ้ามีพระสาวกองค์สำคัญ คือ

พระอัครสาวก คือ พระอสมะเถระ และพระสุเนตตะเถระ

พระอัครสาวิกา คือ พระนกุลาเถรี และพระสุชาดาเถรี

พระอุปัฏฐาก คือ พระอโนมะ


พระโสภิตะพุทธเจ้ามีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระฉัพพรรณรังสีแผ่ไปทุกทิศดังอาทิตย์อุทัย เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงดับขันธปรินิพพานที่พระราชอุทยานมหานาควัน พระศาสนาดำรงอยู่ได้ ๙๐,๐๐๐ ปีแล้วอันตรธานไป


ใกล้เคียง

พระโสภณวิสุทธิคุณ (บุญเพ็ง กปฺปโก) พระโสภิตพุทธเจ้า พระโสภิตะ พระโสดาบัน พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) พระโสภณปริยัตยาภรณ์ (ฉัตต์ สจฺจวโร) พระโคตมพุทธเจ้า พระสุนทรโวหาร (ภู่) พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) พระโพธิสัตว์