เทคนิคการพอลิเมอไรเซชัน ของ พอลิเมอไรเซชัน

ในการเตรียมปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันนั้นสามารถเตรียมได้โดยเทคนิค ดังนี้ เช่น

พอลิเมอไรเซชันแบบบัลค์ (Bulk polymerization)

เป็นเทคนิคที่ง่ายที่สุดทั้งหลักการและเครื่องมือ แต่การควบคุมอุณหภูมิของปฏิกิริยาค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากระหว่างการเกิดปฏิกิริยามีการคายความร้อนมาก ช่วงที่มอนอเมอร์ทำปฏิกิริยาได้พอลิเมอร์ที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ น้ำหนักโมเลกุลสูง ความหนืดของปฏิกิริยาจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาจเกิดปัญหาเรื่องการถ่ายเทความร้อนขึ้นได้ สารตั้งต้นในระบบนี้มีแค่มอนอเมอร์ และตัวริเริ่ม (initiator) ไม่มีการใช้ตัวทำละลาย ข้อดีของเทคนิคนี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับวัตถุดิบในการผลิตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเทคนิคอื่น และไม่ต้องมีการกำจัดตัวทำละลายออกจากพอลิเมอร์ภายหลังจากพอลิเมอไรเซชันเสร็จแล้ว

พอลิเมอไรเซชันแบบแขวนลอย (Suspension polymerization)

เทคนิคพอลิเมอไรเซชันนี้จะมีหยดเล็ก ๆ ของมอนอเมอร์กระจายอยู่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.01-0.05 ซม. อยู่ในน้ำ การจะทำให้มอนอเมอร์กระจายเป็นหยดเล็ก ๆ จะต้องกวนหรือปั่นอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเติมดิสเพอร์สแซนต์ (dispersant) เช่น พอลิไวนิลแอลกอฮอล์ เมธิลเซลลูโลส ซึ่งต้องเป็นสารที่ละลายน้ำ โดยสารตัวนี้จะป้องกันไม่ให้มอนอเมอร์รวมตัวเป็นหยดใหญ่ ส่วนตัวริเริ่มเป็นสารที่ละลายได้ในมอนอเมอร์ เช่น เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ พอลิเมอไรเซชันแบบแขวนลอยนี้จะคล้ายกับพอลิเมอไรเซชันแบบบัลค์ (bulk polymerization) เพราะต่างก็มีตัวริเริ่ม ต่างกันตรงที่มอนอเมอร์จะแยกจากกันเป็นหยดเล็กแขวนลอยอยู่ในตัวกลางเท่านั้น

ข้อดีของพอลิเมอไรเซชันแบบแขวนลอย
  1. ลดปัญหาของการควบคุมอุณหภูมิและความหนืด เพราะมีตัวกลางที่ทำหน้าที่รับและกระจายความร้อนของปฏิกิริยา
  2. พอลิเมอร์ที่ออกมาจะเป็นเม็ดเท่าขนาดของหยดมอนอเมอร์ จึงแยกออกได้ง่ายโดยวิธีกรองธรรมดา

พอลิเมอไรเซชันแบบอิมัลชัน (Emulsion polymerization)

เทคนิคพอลิเมอไรเซชันนี้จะใช้สบู่ซึ่งใช้เป็นตัวอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifier) เพื่อลดความตึงผิวของตัวกลางที่เป็นน้ำ และตัวริเริ่มที่ใช้ เช่น โพแทสเซียมเพอร์ซัลเฟต (K2S2O8) จะละลายอยู่ในน้ำไม่ใช่ละลายอยู่ในมอนอเมอร์ และขนาดของหยดมอนอเมอร์จะมีขนาดที่เล็กมาก ประมาณ 0.01- 0.04 ซม. ทำให้พอลิเมอร์ที่ได้มีขนาดเล็กมาก

พอลิเมอไรเซชันแบบสารละลาย (Solution polymerization)

เป็นเทคนิคที่มีการใช้ตัวทำละลายเพื่อช่วยในการถ่ายเทความร้อน ข้อเสียของเทคนิคนี้ก็คืออุณหภูมิของปฏิกิริยาต้องถูกจำกัดให้ต่ำกว่าจุดเดือดของตัวทำละลาย ซึ่งการจำกัดอุณหภูมิอาจส่งผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยาได้ นอกจากนี้การกำจัดตัวทำละลายให้หมดจากพอลิเมอร์ที่เตรียมได้นั้นก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้น และสุดท้ายการเลือกตัวทำละลายให้ไม่มีผลต่อกลไกการเกิดปฏิกิริยาเลยนั้นทำได้ยาก ส่วนใหญ่พบว่าในระหว่างพอลิเมอรไรเซชันมักเกิดการย้ายแรดิคัล จากสายโซ่ที่กำลังเจริญเติบโตไปที่โมเลกุลตัวทำละลาย (chain transfer to solvent) ซึ่งส่งผลต่อความยาวของสายโซ่และทำให้น้ำหนักโมเลกุลของพอลิเมอร์ลดลง

ใกล้เคียง

พอลิเมอร์ พอลิเอสเทอร์ พอลิเตตระฟลูออโรเอทิลีน พอลิเมอไรเซชัน พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต พอลิเอทิลีน พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง พอลิเบียส พอลิเมอร์เสริมเส้นใยสำหรับโครงสร้างคอนกรีตไม่อัดแรง พอลิเพปไทด์