พอลิโพรพีลีน
พอลิโพรพีลีน

พอลิโพรพีลีน

130–171 °C (266–340 °F; 403–444 K) พอลิโพรพีลีน (อังกฤษ: polypropylene, ย่อ PP) หรือ พอลิโพรพีน (polypropene) เป็นพอลิเมอร์เทอร์โมพลาสติกในกลุ่มพอลิโอลีฟิน พอลิโพรพีลีนมีคุณสมบัติคล้ายพอลิเอทีลีน เป็นสารไม่มีขั้ว ทนต่อไขมันและตัวทำละลายอินทรีย์เกือบทั้งหมด มีจุดหลอมเหลวประมาณ 130–171 °ซ และจุดวาบไฟที่อุณหภูมิสูงกว่า 300 °ซ[1] เจ. พอล โฮแกนและรอเบิร์ต แบงส์ค้นพบกระบวนการเตรียมพอลิโพรพีลีนในปีค.ศ. 1951[2] ขณะที่กระบวนการปรับแต่งโครงสร้างพอลิโพรพีลีนถูกค้นพบครั้งแรกโดยจูลีโย นัตตา นักเคมีชาวอิตาลีในปีค.ศ. 1954 ทำให้เขาและคาร์ล ซีกเลอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีค.ศ. 1963[3]พอลิโพรพีลีนเตรียมได้จากปฏิกิริยาพอลิเมอไรเซชันแบบลูกโซ่ของโพรพีน การผลิตพอลิโพรพีลีนในเชิงอุตสาหกรรมแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ แบบแก๊สที่ใช้การผ่านแก๊สโพรพีนเข้าไปในเครื่องปฏิกรณ์ที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาจนได้พอลิเมอร์เป็นชิ้น ๆ, แบบบัลค์ที่ใช้โพรพีนในรูปของเหลวทำปฏิกิริยากับอีทีนในเครื่องปฏิกรณ์แบบวน และแบบสเลอรีที่ใช้แอลเคนที่มีคาร์บอน 4–6 อะตอมทำปฏิกิริยากับแก๊สโพรพีน การจัดเรียงของหมู่เมทิลในโครงสร้างมีผลอย่างมากต่อคุณสมบัติของพอลิโพรพีลีน โดยการจัดเรียงนี้สามารถกำหนดได้จากตัวเร่งปฏิกิริยาซีกเลอร์–นัตตา โครงสร้างผลึกของพอลิโพรพีลีนสามารถแบ่งได้เป็น 3 แบบคือ isotactic polypropylene (iPP) ซึ่งแยกย่อยเป็นแอลฟา บีตาและแกมมา[4] มีจุดหลอมเหลวราว 170–220 °ซ[5], syndiotactic polypropylene (sPP) ที่มีจุดหลอมเหลว 161–186 °ซ เตรียมได้จากตัวเร่งปฏิกิริยาเมทัลโลซีนเท่านั้น[6] และ atactic polypropylene (aPP) ที่ไม่มีผลึกในโครงสร้าง ทำให้มีจุดหลอมเหลวต่ำกว่า 2 แบบแรกและมีรูปแบบคล้ายยางที่อุณหภูมิห้อง[7] โดยทั่วไปพอลิโพรพิลีนมีความยืดหยุ่นทนทานและทนต่อความล้า[8] มีความหนาแน่นระหว่าง 0.895–0.92 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร (g/cm3) ทำให้พอลิโพรพิลีนเป็นพลาสติกโภคภัณฑ์ที่มีความหนาแน่นต่ำที่สุด พอลิโพรพีลีนมีค่ามอดุลัสของยังประมาณ 1300–1800 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร (N/mm2) และมีความแข็งแรงแรงดึงสูงสุดราว 19.7–80 เมกะปาสกาล (MPa) ผ้าทำจากพอลิโพรพิลีนไม่ไวไฟ แต่เมื่อติดไฟแล้วจะหลอมติดผิวหนังผู้สวมใส่ได้[9]พอลิโพรพีลีนเป็นพลาสติกที่แปรใช้ใหม่ได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติน้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูงและไม่ดูดซึมน้ำ พอลิโพรพีลีนจึงถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ของเล่น เสื้อผ้า บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และชิ้นส่วนรถยนต์[10] บางครั้งใช้แทนพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นฉนวนในสายไฟฟ้าในพื้นที่ปิด เนื่องจากพอลิโพรพีลีนก่อควันและแก๊สพิษน้อยกว่าเมื่ออยู่ในอุณหภูมิสูง[11] คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่าพอลิโพรพีลีนมีอันตรายระดับต่ำถึงกลาง[12] ขณะที่มาตรฐานว่าด้วยการจำแนกสารเรซินจัดให้พอลิโพรพีลีนเป็นหมายเลข 5 บนสัญลักษณ์จำแนกเรซิน[13] และยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย[14]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พอลิโพรพีลีน http://www.chemspider.com/None http://www.cosmeticdatabase.com/ingredient.php?ing... http://permanent.access.gpo.gov/lps11992/2002/fsmn... //doi.org/10.1002%2Fmacp.1964.020750113 //doi.org/10.1002%2Fpol.1975.180130713 //doi.org/10.1016%2Fj.progpolymsci.2005.11.002 //doi.org/10.1021%2Fcen-v065n010.p030 //www.worldcat.org/oclc/213395068 http://www.lgchem.com.tr/products/14122012-124034-... http://www.wasteonline.org.uk/resources/Informatio...