ประวัติ ของ พันทิวา_สินรัชตานันท์

พันทิวา มีบิดาชื่อ แต้เที๊ยะลิ้น เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว จากซัวเถามาตั้งรกรากที่ประเทศไทย ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น เธียร สินรัชตานันท์ ส่วนมารดาชื่อ จงจิตร สุทธินันท์ เป็นชาวกรุงเทพฯ ศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนอนุบาล จังหวัดตาก จนจบประถมศึกษา 4 จึงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนตากสินมหาราชานุสรณ์ จังหวัดตาก จนจบประถมศึกษาที่ 7 ต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนสตรีตากผดุงปัญญา กระทั่งจบมัธยมศึกษาที่ 5 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ 12 และวิทยาศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น 6 และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูง วิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (รามาธิบดี) ในปี พ.ศ. 2520 นอกจากนั้นเธอยังได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (รามาธิบดี) รุ่น 5, เวชศาสตร์การกีฬา และอาชีวเวชศาสตร์ รุ่น 10, นิติศาสตรภาคบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น 33, หลักสูตรสำหรับนักบริหารระดับสูง ด้านการเมืองการปกครอง รุ่น 9 สถาบันพระปกเกล้า (ประกาศนียบัตรชั้นสูง), หลักสูตรกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ และหลักสูตรการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ[1]

เริ่มต้นการร้องเพลงประกวดระดับมหาวิทยาลัยในตำแหน่งนักร้องนำวงดนตรีคณะวิทยาศาสตร์ The Science ได้รับรางวัลวงดนตรีชนะเลิศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2513 จากการชักนำไปออกรายการร้องเพลงทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ พูนพิศ อมาตยกุล บันทึกเสียงร้องเพลงไทยเดิมชุดลาวดวงเดือน เป็นครั้งแรก และ ชุดที่สองคือเพลงของ ว.วัชญาน์ ชุด เธอรักฉันอย่างไร เธอโด่งดังจากเพลง "เทพธิดาดอย" ในปี 2523 จากภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกัน โดย จิรบันเทิงฟิล์ม ของ จีรวรรณ กัมปนาทแสนยากร นำแสดงโดย ไกรสร แสงอนันต์, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ เพลงคนจนไม่มีสิทธิ์เจ็บป่วยทำให้เธอได้รับรางวัลนักร้องแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เธอออกแผ่นเสียงอัลบั้มเต็มชื่อชุด "วิมานทราย" ประพันธ์โดยวราห์ วรเวช และ เรียบเรียงเสียงประสานโดยพิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิต จากนั้นได้บันทึกเสียงกับทาง อีเอ็มไอ (ประเทศไทย) ในชื่อชุด "เดินชมดอย" ประพันธ์โดย วินัย รุ่งอนันต์ และบันทึกเสียงเพลงชุดสุนทราภรณ์ สองชุด คือหงษ์เหิร และ หงษ์สบัดบาป

ในปี พ.ศ. 2526 เธอเป็นนักร้องคนแรกที่แกรมมี่ ภายใต้การดำเนินงานของเรวัต พุทธินันทน์ ออกผลงานในชื่อชุด "นิยายรักจากก้อนเมฆ" เป็นผลงานการเขียนคำร้องทั้งชุดโดย บุษบา ดาวเรือง ส่วนดนตรีและทำนองประพันธ์โดย วิชัย อึ้งอัมพร และควบคุมการผลิตโดย เรวัต พุทธินันทน์ เพลง "นิยายรักจากก้อนเมฆ" ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ฟังทางวิทยุแต่ยอดขายเทปไม่ดีนัก ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ออกผลงานชุดสุดท้าย ในงานเขียนคำร้องโดย กรวิก และ พนัส หิรัญกสิ ดนตรีเรียบเรียงเสียงประสานโดย ปราจีน ทรงเผ่า ควบคุมการผลิตโดย เรวัต พุทธินันทน์

เธอเป็นหนึ่งในนักร้องหญิงที่ร่วมขับร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ปัจจุบันเป็นแพทย์ที่คลินิกตรวจนักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[2]

ได้ร้องเพลงการกุศลในวาระเฉลิมพระเกียรติ์หลายครั้ง เช่น เพลงฝนหลวงพระราชทาน, เพลินภูพาน, อัครศิลปิน ได้ร้องเพลงประจำสถาบันหลายแห่ง เช่น เพลงชุดมหิดล, จุฬา, ธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, รามคำแหง, บูรพา, ศิริราช, รามาธิบดี, ธรรมะสันติอโศก และเพลงประจำโรงเรียน ได้แต่งเพลงและร้องในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยนานาชาติ และเพลงมาร์ชปณิธานราม ร่วมแต่งกับ ชัยรัตน์ วงศ์เกียรติ์ขจร และ ดร.ศรีจักร วัชรเกียรติ์ รวมผลงานร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง และบันทึกการแสดงสด ประมาณ 300 เพลง

ใกล้เคียง

พันทิป.คอม พันทิวา สินรัชตานันท์ พันทิวา ภูมิประเทศ พันหนึ่งทิวา พันท้ายนรสิงห์ พันท์เซอร์ 4 พันท้ายนรสิงห์ (ละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2559) พันท้ายนรสิงห์ (ภาพยนตร์ พ.ศ. 2493) พัน จินเหลียน พันท์เซอร์ 8 "เมาส์"