พายุเฮอริเคนไอโอตา
พายุเฮอริเคนไอโอตา

พายุเฮอริเคนไอโอตา

พายุเฮอริเคนไอโอตา (อังกฤษ: Hurricane Iota) เป็นเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกลูกล่าสุดที่มีความเร็วลมอยู่ในระดับ 5 และเป็นเฮอริเคนแอตแลนติกระดับ 5 ลูกที่สองที่ก่อตัวในเดือนพฤศจิกายนเท่าที่มีการบันทึกไว้ (อีกลูกคือเฮอริเคนคิวบา พ.ศ. 2475) ไอโอตาสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ภูมิภาคอเมริกากลางซึ่งเพิ่งถูกเฮอริเคนอีตาพัดถล่มเมื่อสองสัปดาห์ก่อนไอโอตาเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่สามสิบเอ็ด พายุที่ได้รับการตั้งชื่อลูกที่สามสิบ และเฮอริเคนลูกที่สิบสาม และเฮอริเคนใหญ่ลูกที่หกของฤดูเฮอริเคนแอตแลนติก พ.ศ. 2563 ซึ่งมีพายุเกิดขึ้นชุกเป็นประวัติการณ์ ไอโอตามีต้นกำเนิดจากคลื่นเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ทะเลแคริบเบียนด้านตะวันออกในวันที่ 10 พฤศจิกายน[1][2] คลื่นดังกล่าวเริ่มก่อตัวเป็นระบบในอีกไม่กี่วันถัดมาและพัฒนาเป็นดีเปรสชันเขตร้อนทางทิศเหนือของโคลอมเบียเมื่อถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน[2][3][4] ดีเปรสชันลูกนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็น พายุโซนร้อนไอโอตา ในอีกหกชั่วโมงถัดมา[5] ในช่วงแรกพายุได้รับผลกระทบจากลมเฉือน แต่การย้ายศูนย์กลางและลมเฉือนที่ผ่อนกำลังลงทำให้ไอโอตาสามารถทวีกำลังขึ้นเป็นเฮอริเคนในวันที่ 15 พฤศจิกายน หลังจากนั้นก็เพิ่มกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเฮอริเคนระดับ 5 ในวันรุ่งขึ้น[6] สถานการณ์นี้ทำให้ พ.ศ. 2563 เป็นฤดูกาลที่ห้าติดต่อกันนับตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ที่มีเฮอริเคนระดับ 5 อย่างน้อยหนึ่งลูก หลังจากที่อ่อนกำลังลงเล็กน้อยเป็นเฮอริเคนระดับ 4 ไอโอตาได้ขึ้นฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของนิการากัว กลายเป็นเฮอริเคนที่มีกำลังแรงที่สุดที่เคยขึ้นฝั่งที่นิการากัวในเดือนพฤศจิกายนเท่าที่มีการบันทึกไว้[7] จากนั้นไอโอตาก็อ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วในขณะที่เคลื่อนตัวลึกเข้าไปในแผ่นดิน ก่อนที่จะสลายตัวไปในวันที่ 18 พฤศจิกายน[8]คลื่นเขตร้อนที่เป็นต้นกำเนิดของไอโอตาได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในเกาะต่าง ๆ ในทะเลแคริบเบียน มีการออกประกาศเฝ้าระวังและคำเตือนเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนในบางพื้นที่ของโคลอมเบีย[9] นิการากัว และฮอนดูรัส[10] โดยสองประเทศหลังยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากความเสียหายที่อีตาเพิ่งก่อไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน คลื่นเขตร้อนและไอโอตาได้นำพาฝนปริมาณมากไปยังพื้นที่บางส่วนของโคลอมเบีย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่ม น้ำขึ้นจากพายุรวมทั้งฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ส่วนใหญ่ของนิการากัวทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ขยายเป็นวงกว้าง เหตุโคลนถล่มตามสถานที่ต่าง ๆ สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย มีผู้เสียชีวิตจากไอโอตาอย่างน้อย 54 คน ซึ่งรวมถึง 21 คนในนิการากัว และ 16 คนในฮอนดูรัสในบรรดาประเทศต่าง ๆ[11][12][13][14] มีผู้สูญหายมากถึง 41 คนการวางแผนเพื่อการบรรเทาทุกข์ตามมาในไม่ช้า ได้แก่ การตั้งเต็นท์ การเปิดโรงพยาบาลชั่วคราว และการส่งอาหารและน้ำให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไฟฟ้าที่ดับหลายแห่งเริ่มกลับมาใช้ได้ภายในเวลาไม่กี่วันหลังการพัดถล่มของไอโอตา[15] ต้นไม้ที่ล้มขวางทางและเส้นทางที่ถูกตัดขาดเป็นอุปสรรคต่องานกู้ภัยบางส่วน[16]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: พายุเฮอริเคนไอโอตา https://www.lapresse.ca/international/amerique-lat... https://apnews.com/article/tegucigalpa-honduras-hu... https://abcnews.go.com/US/record-breaking-hurrican... https://www.orlandosentinel.com/weather/hurricane/... https://www.reuters.com/article/instant-article/id... https://www.nhc.noaa.gov/archive/2020/al31/al31202... https://www.nhc.noaa.gov/archive/2020/al31/al31202... https://www.nhc.noaa.gov/archive/2020/al31/al31202... https://www.nhc.noaa.gov/archive/2020/al31/al31202... https://www.nhc.noaa.gov/archive/2020/al31/al31202...