การจัดแสดง ของ พิพิธบางลำพู

พิพิธบางลำพู แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ตามอาคาร 2 หลัง ดังนี้

                     1.  อาคารปูนรูปตัวแอล (L)  

                     2.  อาคารเรือนไม้ 2 ชั้น

อาคารปูนรูปตัวแอล (L)

  • อาคารปูนรูปตัวแอล (L)

ภายในอาคารมีการจัดแสดงนิทรรศการตามเนื้อหาประวัติศาสตร์ ออกแบบเป็นสองชั้นและแบ่งเป็นห้องนิทรรศการหมุนเวียนและนิทรรศการถาวร ดังนี้

บริเวณชั้น 1

นิทรรศการเอกบรมองค์ราชินี (นิทรรศการหมุนเวียน)

จัดแสดงเผยแพร่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยเนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

คู่บารมีพระภูมินทร์

ย้อนรำลึกถึงช่วงเวลากว่า 60 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงอยู่เคียงพระราชหฤทัยกันอย่างมั่นคง นอกจากจะนำความปลาบปลื้ม ปิติโสมนัส และความซาบซึ้งมาสู่พสกนิกรทั้งหลายแล้ว ยังทรงเป็นแบบอย่าง ที่งดงามให้ประชาชนชาวไทยได้ยึดถือ และคงอยู่ในความทรงจำตลอดมา

ปิ่นพระขัตติยราช

พระราชสถานะที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ การเป็นสมเด็จพระราชชนนีของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงดูแลพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยพระองค์เอง เมื่อมีการกระทำความผิดจะทรงตักเตือนดังเช่นพ่อแม่ทั่วไป ดังปรากฏพระราชดำรัสว่า “โปรดที่จะเป็นแม่มากที่สุด” สิ่งสำคัญอย่างที่สุดคือ ทรงอบรมให้ทุกพระองค์ทรงมีความสำนึกในหน้าที่ต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนให้เห็นความทุกข์ของราษฎรอยู่เหนือความสุขส่วนพระองค์ ทรงปลูกจิตสำนึกความรักชาติลงไว้ในดวงพระราชหฤทัยของพระราชโอรสและพระราชธิดาอย่างแนบแน่น      

บรมราชินีนาถแห่งแผ่นดิน

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วผืนแผ่นดินไทย ทำให้ทรงทราบถึงปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ก่อเกิดโครงการพระราชดำริมากมาย ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังให้ราษฎรรักษาและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งพระราชทานความรู้แก่ราษฎร เช่น โครงการป่ารักษ์น้ำ โครงการฟาร์มตัวอย่าง และยังมีโครงการพระราชดำริที่ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม สาธารณสุข การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการสร้างอาชีพ ทรงนำงานศิลปะจากทุกแหล่งชุมชนมาเป็น “งานศิลปาชีพ” ให้อาชีพแก่ราษฎรผู้ยากไร้ นอกจากเป็นการยกฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ยังเป็นการสืบสานสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ให้ยั่งยืน สมดังพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษ์ศิลปิน” ซึ่งมีความหมายว่า ศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักษ์รักษาศิลปะ คู่กับ “อัครศิลปิน” พระราชสมัญญาแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

  • นิทรรศการเอกบรมองค์ราชินี

สำหรับนิทรรศการเอกบรมองค์ราชินี ได้มีการนำแบบจำลองเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในวาระอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาจัดแสดงเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ผ่านเหรียญวาระต่างๆ ที่กรมธนารักษ์ได้ผลิตขึ้น อาทิ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 3 รอบ และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา รวมทั้งเหรียญอื่นๆ อีกหลายวาระผ่านหน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส โดยภารกิจด้านการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญที่ระลึก นับเป็นงานในความรับผิดชอบของกรมธนารักษ์มากว่า 85 ปี แล้ว ทั้งนี้ ยังได้มีการจัดมุมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านหน้าจอสัมผัสไว้ในบริเวณดังกล่าวด้วย

  • นิทรรศการเอกบรมองค์ราชินี
นิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์รัตนโกสินทร์ (นิทรรศการถาวร)
  • นิทรรศการป้อมเขตขันฑ์รัตนโกสินทร์

ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวกำแพงเมือง โบราณสถานท้องถิ่นบางลำพูที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และมีความสัมพันธ์กับชุมชนมาช้านาน จนเป็นที่มาของนิทรรศการ "ป้อมเขตขัณฑ์รัตนโกสินทร์" โดยจัดแสดงเรื่องราวของแนวกำแพงเมืองซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นการเกริ่นนำให้ผู้ชมรู้จักบางลำพูในฐานะชุมชนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ของประเทศสยาม และเป็นพื้นที่ที่ยังรักษาป้อมปราการ “ป้อมพระสุเมรุ” ไว้ได้จากป้อมปราการ 14 ป้อม ที่ถูกรื้อทิ้งไป โดยนิทรรศการป้อมเขตขัณฑ์รัตนโกสินทร์ ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนี้

ส่วนจัดแสดง "ป้อมพระสุเมรุ"
  • ส่วนจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับป้อมพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2326 มีลักษณะเป็นป้อมก่ออิฐถือปูนทรงแปดเหลี่ยมบนฐานสองชั้น มีบันไดทางขึ้นสองทางและทางเดินโดยรอบบริเวณฐานชั้นแรก ส่วนกำแพงของฐานชั้นที่สองทำเป็นรูปใบเสมา ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมและช่องลมทรงโค้งเป็นระยะ โดยรอบผนังเจาะช่องปืน หลังคาเป็นโครงสร้างไม้ยอดแหลมมุงกระเบื้องดินเผา

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2542 ได้มีการฟื้นฟูกรุงเทพมหานครบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และซ่อมแซมป้อมพระสุเมรุให้กลับคืนสภาพดังเดิมหลังจากถูกปล่อยให้ทรุดโทรมมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังปรับปรุงพื้นที่โดยรอบเป็นสวนสาธารณะ “สวนสันติชัยปราการ” เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนอีกด้วย

ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกลิ่นอายของกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ่านภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณป้อมพระสุเมรุ รวมทั้งมีการใช้สื่อและอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาประกอบการจัดแสดง เพื่อบอกเล่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับป้อมปราการเมืองในอดีตแห่งนี้     

ส่วนจัดแสดง “กำแพงเมือง”
  • ส่วนจัดแสดงให้ความรู้เกี่ยวกับแนวกำแพงเมือง

กำแพงเมืองในอดีตมีประตูสำหรับเข้าออก 63 ประตู ประตูเมืองเหล่านี้เป็นเสมือนทางเชื่อมผู้คนจากนอกเมืองเข้าสู่พระนคร เป็นจุดพบปะกันของผู้คนและเป็นทางเข้าออกเขตพระราชฐานชั้นในอีกด้วย นอกจากแนวกำแพงเมืองแล้ว โดยรอบยังมีการขุดคลองขึ้นอีกชั้นหนึ่งสำหรับวางกลยุทธ์ในการศึก รวมทั้งเป็นแหล่งอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน และใช้เป็นเส้นทางสัญจรของเรือค้าขายสินค้าและขนส่งสิ่งของ การขุดคลองนั้นจะขุดผ่านย่านสำคัญต่างๆ ของพระนคร เริ่มจากการขุดลอกคูเมืองเดิม จากนั้นขุดคลองใหม่อีกเส้นหนึ่งในบริเวณที่มีต้นลำพูขึ้นอยู่มากจึงเป็นที่มาของชื่อ “คลองบางลำพู” และขุดคลองเส้นอื่นๆ ผ่านย่านสำคัญต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น คลองรอบกรุง คลองหลอดวัดราชนัดดา คลองหลอดวัดราชบพิตร และคลองมหานาค

ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตภายนอกประตูเมืองของผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผ่านการจัดแสดงที่น่าสนใจ เช่น การจัดแสดงแอนิเมชั่นเรื่องการติดต่อค้าขายกับต่างชาติโดยมองผ่านช่องกำแพงจำลอง เป็นต้น

บริเวณชั้น 2

นิทรรศการสืบสานคุณค่าธนารักษ์

จัดแสดงบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์ที่รับผิดชอบงานทั้ง 4 ด้าน คือ

ด้านการผลิตและบริหารเหรียญกษาปณ์

จัดแสดงข้อมูลเชิงสถิติการใช้เหรียญ และติดตั้งเครื่องใช้หยอดเหรียญแบบต่างๆ รวมถึงแสดงขั้นตอนการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนโดยมาสคอตพนักงานโรงกษาปณ์

ด้านการดูแลรักษาและจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

แสดงขั้นตอนวิธีการอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าและเงินตราไทยโบราณตามหลักวิชาการอนุรักษ์  ที่ต้องใช้ความรู้เชิงช่างศิลปกรรมโบราณผสมผสานกับวิทยาการสมัยใหม่ ก่อนนำเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่า

ด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน

จัดแสดงแบบจำลองพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครที่มีราคาประเมินสูง และบอกเล่าขั้นตอนการประเมินราคาทรัพย์สินผ่านวีดีทัศน์

ด้านการบริหารที่ราชพัสดุ

นำเครื่องมือการทำงานที่ใช้อยู่ประจำมาจัดแสดง เช่น กล้องระดับ และอุปกรณ์วัดพื้นที่ และยกตัวอย่างพื้นที่เขตอโศกและเขตคลองเตย ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศมาจัดแสดงเป็นโมเดลเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจการบริหารงานด้านที่ราชพัสดุได้โดยง่าย

อาคารเรือนไม้

  • อาคารเรือนไม้

อาคารเรือนไม้เป็นอาคารที่จัดแสดงเรื่องราวและวิถีชีวิตก่อนเก่าของชาวบางลำพูซึ่งประกอบไปด้วยย่านการค้าและแหล่งชุมชนเก่าแก่ 7 ชุมชน โดยผู้คนในชุมชนยังคงสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ ชุมชนบ้านพานถม ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ชุมชนวัดใหม่อมตรส ชุมชนบวรรังสี ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ และชุมชนวัดสามพระยา

บริเวณชั้น 1

ชั้นล่างของอาคารเรือนไม้ได้จำลองบรรยากาศห้องเรียนของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชในสมัยก่อน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือในประเทศไทยและขั้นตอนการพิมพ์ผ่านจอทัชสกรีน รวมทั้งมีเครื่องพิมพ์หนังสือที่ได้รับความอนุเคราะห์จากบ้านลานทองมาจัดแสดงไว้ด้วย

  • การจำลองบรรยากาศห้องเรียนของโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช

บริเวณเดียวกันนั้นยังสร้างเป็นห้องสมุดชุมชนบางลำพู แหล่งเรียนรู้อิสระซึ่งรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชนบางลำพู หนังสือทั่วไป รวมถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าใช้บริการ อีกทั้งยังมีลานใต้ถุนอาคารและสนามหญ้าสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นศูนย์กลางสำหรับการจัดกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่างๆ ของชุมชนอีกด้วย

บริเวณชั้น 2

ผู้เข้าชมจะพบกับนิทรรศการ “เสน่ห์บางลำพู” ร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมอันควรค่าแก่การรักษาไว้ของชุมชนทั้ง 7 แห่ง ทั้งนี้ชาวชุมชนบางลำพูได้มอบสิ่งของต่างๆ อันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งของสะสมซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนมาร่วมจัดแสดงและมอบชิ้นส่วนจริงของต้นลำพูต้นสุดท้ายที่ยืนต้นตายเมื่อครั้งเกิดมหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 มาประกอบการจัดแสดงด้วย โดยเนื้อหานิทรรศการแบ่งเป็นดังนี้

นิทรรศการ “เสน่ห์บางลำพู”
  • นิทรรศการเสน่ห์บางลำพู
ประณีตศิลป์เครื่องถมไทย

ชุมชนบางลำพูในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีช่างฝีมืออยู่ 2 สาขา คือ ช่างทำเครื่องเงินและช่างทำเครื่องถม และได้รวมกลุ่มกันเกิดเป็นชุมชนบ้านพานถม ซึ่งการทำเครื่องถมนั้นจะต้องอาศัยฝีมือขั้นสูงประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลวดลายที่วิจิตรอ่อนช้อย ทำให้เครื่องถมเป็นที่นิยมของชนชั้นสูงในสมัยก่อน ปัจจุบันอาชีพนี้ค่อยๆ เลือนหายไป หลงเหลือเพียง “ร้านเครื่องถมไทยนคร” ที่ยังคงสืบสานเครื่องถมไทยให้เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบัน

ช่างทองแห่งชุมชนมัสยิดจักรพงษ์

แหล่งกำเนิดช่างทองผู้สร้างสรรค์เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ด้วยฝีมือ   ที่ประณีตวิจิตร ศิลปะการทำทองได้ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยการเข้ามาของวิทยาการสมัยใหม่ทำให้อาชีพช่างทองลดลงเหลือไว้เพียงตำนาน และชื่อเสียงของช่างทองคนสุดท้ายแห่งตรอกสุเหร่า “เล็ก ลอประยูร”

ศิลปะแทงหยวกกล้วย สละสลวยงานช่างสิบหมู่

ศิลปะการแทงหยวกกล้วย หนึ่งในงานช่างสิบหมู่ประเภทเครื่องสด มีต้นกำเนิดมาจากชาวมอญเมื่อหลายร้อยปีก่อน ลวดลายต่างๆ ที่แกะสลักมาจากมุมมอง  ของช่างโดยที่ไม่มีการวาดลายลงไปก่อน ปัจจุบันศิลปะแทงหยวกกล้วยแทบจะเลือนหายไปจากสังคมไทยแต่ชุมชนวัดใหม่อมตรสยังมีทายาทรุ่นเยาว์ของศิลปินผู้ล่วงลับ “ชูชาติ แดงแนวโต” เป็นผู้สืบทอดและรักษางานศิลปะแขนงนี้ไว้

เบื้องหลังผืนผ้าวิจิตร

“เบื้องหน้าอันวิจิตรงดงามบนคนโขน เบื้องหลังร้อยโยงเชือกด้ายปักลงผ้า” ด้วยความรู้ที่ร่ำเรียนจากวังหลวงของ “นางสมคิด หลาวทอง” อดีตข้าราชการกรมศิลปากร ฝ่ายงานเครื่องอาภรณ์ ชาวชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ ทำให้เกิดเป็นชุดโขนอันงดงามวิจิตร เพราะการปักผ้ามิใช่เป็นเพียงแต่อาชีพเท่านั้น หากยังเป็นศิลปะที่ศิลปินบรรจงสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจ

สีทองสุกปลั่งดั่งสีทองคำเปลว

ชุมชนช่างทองวัดบวรรังสี ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากช่างฝีมือในวัง การตีทองคำเปลวต้องใช้ทั้งพลัง สมาธิ และความชำนาญขั้นสูง ปัจจุบันมรดกทางภูมิปัญญานี้ยังไม่สูญหาย ไปจากชุมชน เพราะลูกหลานบ้านช่างทองยังคงรักษาอาชีพดั้งเดิมนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม

บวรรังสี ถิ่นนี้มีธงโบกไสว

ย่านบางลำพู บริเวณถนนตะนาวจะมีการประดับธง ทั้งธงชาติและธงสัญลักษณ์  ผลัดเปลี่ยนตามเทศกาลพาดผ่านเป็นเส้นสายตลอดแนวถนน ทั้งนี้ เพราะชาวชุมชนต้องการจะรักษาความสงบอย่างกรุงเก่าเอาไว้เพื่อให้พระสงฆ์ได้มีถนนสักเส้นหนึ่งสำหรับบิณฑบาต จึงเป็นที่มาของอาชีพช่างทำธง ปัจจุบันไม่ได้มีการทำธงเหมือนแต่ก่อน แต่ยังคงเป็นแหล่งค้าขายธงขนาดใหญ่ตลอดถนนบวรนิเวศ

ดุริยประณีต บรรเลงสังคีตศิลป์ไทย

บ้านดนตรีไทยดุริยประณีตแห่งชุมชนวัดสังเวชวิศยารามที่ยังคงสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมด้านดนตรีไทยมาตลอดระยะเวลายาวนานตั้งแต่ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และยังคงเดินหน้าสานต่อปณิธานที่จะสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ให้กับวงการดนตรีไทยตามยุคสมัยเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

พระพุทธบางลำพู-ประชานาถ
  • พระพุทธบางลำพู - ประชานาถ

บริเวณชั้น 2 ยังประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งชาวชุมชนบางลำพูได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ที่ทรงประทานพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในองค์พระตรงพระอุระเบื้องซ้าย และประทานนามให้ว่า "พระพุทธบางลำพู-ประชานาถ" มีความหมายว่าที่พึ่งของชาวบางลำพู เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ชาวชุมชนบางลำพูสืบไป และในเทศกาลวันสงกรานต์ของทุกปี ชาวชุมชนบางลำพูจะอัญเชิญพระพุทธบางลำพู-ประชานาถจากพิพิธบางลำพูไปประดิษฐาน ณ สวนสันติชัยปราการเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำโดยทั่วกันปัจจุบันกาลเวลาได้ทำให้หลายสิ่งในชุมชนบางลำพูเปลี่ยนแปลงไป ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่ล้วนปรับ ตามยุคสมัย แหล่งบันเทิงยอดนิยมในอดีตที่กลายเป็นเพียงสถานที่ในความทรงจำ ร้านค้าร้านรวงต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวลง รวมถึงศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่กำลังจะเลือนหายไปพร้อมกับคนรุ่นปู่ย่า พิพิธบางลำพูจึงเป็นสถานที่สำหรับคนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้และศึกษารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันทรงคุณค่าของชุมชน เพื่อสืบสานตำนานและเรื่องเล่า “วิถีก่อนเก่าชาวบางลำพู” ให้ยังคงอยู่เป็นสมบัติสำคัญของชาติสืบไป

ใกล้เคียง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา พิพิธภัณฑ์การบินเพิร์ลฮาร์เบอร์ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ลุยเซียนา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์