ประวัติ ของ พิพิธบางลำพู

พิพิธบางลำพู ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ เดิมเป็นบ้านของพระยานรนารถภักดีศรีรัษฎากร หรือ เอม ณ มหาไชย อธิบดีกรมการคลัง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ในปี พ.ศ. 2467 กระทรวงพาณิชย์ได้ขอใช้เป็นที่เก็บหนังสือ บัญชี สิ่งของของห้างเยอรมันและออสเตรีย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2468 กรมตำรา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอใช้เป็นร้านกลางสำหรับจำหน่ายแบบเรียนจึงมีการรื้อและซ่อมแซมอาคารเดิม โดยปรับปรุง อาคารด้านริมถนนพระสุเมรุ (กำแพงพระนคร) เป็นโรงพิมพ์ชั้นเดียว มีการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์จากบริษัท บาโรว บาวน์ จำกัด มาจัดพิมพ์แบบเรียนเลข ภูมิศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 อาคารชำรุดจึงได้ทำการซ่อมแซมปรับปรุงอีกครั้ง โดยรองอำมาตย์เอกหลวงไมตรีวานิช  และได้รับพระบรมราชานุญาตให้รื้อกำแพงพระนครที่ติดโรงพิมพ์ออก รวมทั้งมีการปรับปรุงเรือนไม้ริมคลองทางด้านทิศตะวันออกเพื่อใช้เป็นที่เก็บกระดาษ

ในปี พ.ศ. 2475 กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการเปิดโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนวิชาการพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย โดยเปิดรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรียนตามหลักสูตร 3 ปี ภาคเช้าสอนทฤษฎี ภาคบ่ายฝึกปฏิบัติให้นักเรียนได้พิมพ์งานจริง โดยสร้างอาคารขึ้นบริเวณด้านหน้าที่ติดกับถนนพระสุเมรุเป็นอาคารคอนกรีตรูปตัวแอล (L) แบบเบาเฮ้าส์ (Bauhaus) มีลักษณะเรียบง่าย บันไดภายในและพื้นเป็นไม้ บริเวณเดียวกันนั้นยังมีโรงงานของโรงเรียนซึ่งอยู่ติดกับคลองบางลำพู เป็นอาคารเรือนไม้ 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า กว้าง 7 เมตร ยาว 23 เมตร และมีการสร้างซุ้มประตูคอนกรีตตรงมุมใกล้ปากซอยวัดสังเวชวิศยาราม โดยทั้งหมดเป็นการออกแบบของพระสาโรชรัตนนิมมานก์ และควบคุมการก่อสร้างโดยหลวงวิศาลศิลปกรรม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชต้องหยุดการสอนลงเนื่องจากมีนักเรียนเหลือน้อย และมีภาระการจ้างครู รวมถึงภาระอื่นๆ คณะกรรมการควบคุมและดำเนินการองค์การค้าคุรุสภาจึงมีมติให้เปลี่ยนโรงเรียนและโรงพิมพ์มาเป็นโรงพิมพ์เพียงอย่างเดียว และเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "โรงพิมพ์คุรุสภา" ในปี พ.ศ. 2493 โดยรับงานพิมพ์ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานราชการอื่นๆ ภายหลังได้มีการสร้างโรงพิมพ์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนลาดพร้าว จึงได้ยกเลิกการพิมพ์ที่โรงพิมพ์คุรุสภาและใช้เป็นคลังสินค้าของครุสภา โดยหลังจากหมดสัญญาเช่าแล้วพื้นที่นี้ได้ถูกทิ้งร้าง ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศให้โรงพิมพ์คุรุสภาขึ้นทะเบียนเป็น โบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และกรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงที่ราชพัสดุแห่งนี้ให้เป็น “พิพิธบางลำพู” ศูนย์การเรียนรู้กรมธนารักษ์และห้องสมุดชุมชน ในปี พ.ศ. 2555

ใกล้เคียง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา พิพิธภัณฑ์การบินเพิร์ลฮาร์เบอร์ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ลุยเซียนา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำมอนเทอเรย์เบย์