สิ่งก่อสร้าง ของ พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

พื้นที่ในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับการออกแบบโดยมุ่งเน้นให้เป็นแหล่งเรียนรู้พุทธประวัติ โดยประกอบไปด้วยลุมพินีวันสรณียสถาน (โซน 1), สัมพุทธมุนีโพธิสถาน (โซน 2), สารนาถสรณียสถาน (โซน 3), เวฬุวันภาวนาสถาน (โซน 4), ชีวกัมพวันภาวนาสถาน (โซน 5), เชตวันภาวนาสถาน (โซน 6), บุพพารามภาวนาสถาน (โซน 7), สังฆิกาวาส (โซน 8), สาลวโนทยานสรณียสถาน (โซน 9), ศาลาจีรปุญญานุศาสก์ (โซน 10), เนินสวนสน (โซน 11) และลานมะเดื่อท่าน้ำเขตอภัยทาน (โซน 12) โดยมีพระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร เป็นจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์[22]

พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร หรือชื่อที่นิยมเรียกติดปากของคนในพื้นที่ว่า หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี, หลวงพ่อใหญ่ทรงกลดปาฏิหาริย์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ณ พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดคุ้งตะเภา อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ปลายพระเกศบุด้วยแผ่นทองคำจังโก มีความสูงจากฐานองค์พระถึงยอดพระเกศ 19 เมตร เทียบเท่ากับตึก 8 ชั้น และมีความกว้างของหน้าตัก 10 เมตร ปัจจุบันเป็นพระพุทธรูปที่สูงที่สุดในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์

พระปฏิมาปางประสูติแกะสลักจากหินทรายแดงใหญ่ที่สุดในจังหวัด ในส่วนสังเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล (จำลอง)

เป็นส่วนภูมิทัศน์ธรรมชาติในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งเป็น 4 โซน โดยในแต่ละโซน มีการปลูกต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ โดยแบ่งเป็น[22]

โซนประสูติ (สวนลุมพินีวันสรณียสถาน)

อยู่บริเวณสวนป่าสาละลังกา ด้านหน้าทางเข้าพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ประดิษฐานพระปฏิมาปางประสูติแกะสลักจากหินทรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ความสูง 3 เมตร พร้อมดอกบัวแกะสลักจากหินทราย 7 ดอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม.[22]

โซนตรัสรู้ (สวนสัมพุทธมุนีโพธิสถาน)

อยู่บริเวณโดยรอบองค์พระประธาน หน้าตัก 10 เมตร ด้านซ้ายปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา นำเมล็ดสืบสันตติพันธ์มาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ด้านขวาปลูกต้นพระอานันทโพธิ์ ซึ่งพระครูธรรมธรเทวประภาส รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา นำเมล็ดสืบสันตติพันธ์มาจากวัดพระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย[22]

โซนแสดงปฐมเทศนา (สวนสารนาถสรณียสถาน)

วังปลาเขตอภัยทานริมแม่น้ำน่านในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

อยู่บริเวณก่อนถึงองค์พระประธาน หน้าตัก 10 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย ปางทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดเหล่าเบญจวัคคีย์ ขนาดความสูง 3 เมตร ด้านหลังเป็นสวนกวางมฤคทายวันจำลอง เขตอภัยทาน[22]

โซนปรินิพพาน (สวนสาลวโนทยานสรณียสถาน)

พระพุทธปฏิมาปางปรินิพพานแกะสลักจากหินทรายแดงใหญ่ที่สุดในจังหวัด ในส่วนสังเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล

อยู่บริเวณหลังองค์พระประธาน หน้าตัก 10 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย ปางปรินิพพานทรงนอนตะแคงขวาในท่ามหาปรินิพพาน ขนาดความยาว 4 เมตร สูง 1.5 เมตร ด้านหลังเป็นสวนสาละอินเดีย ซึ่งเป็นต้นไม้มีพันธ์ตรงตามพุทธประวัติ และเป็นต้นที่สืบสันตติพันธ์มาจากสาละอินเดียต้นแรกที่นำมาปลูกในประเทศไทย โดยได้รับสนับสนุนกล้าพันธ์จากหัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยงาว กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 20 ต้น ซึ่งเป็นต้นที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ตาของต้นสาละอินเดียดั้งเดิมที่สืบจากต้นแรกในไทย ตามโครงการต้นสาละอินเดียเฉลิมพระเกียรติถวายพระกุศลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2562[25]

พระพุทธสตปฏิมา150 องค์

บรรยากาศภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ในพุทธประวัติ ที่หน่วยงานราชการต่างๆ และประชาชนชาวอุตรดิตถ์ นำมาปลูกถวายเป็นพุทธบูชา จำนวนกว่า 3000 ต้น (โซนสวนไผ่เวฬุวัน)

พระพุทธรูปจำนวน 150 องค์ ในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะแบบคันธาระ ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธศรีรัตนคันธาระมงคล อายุ 1,800 ปี[26] มีขนาดหน้าตักองค์ละ 1 เมตร สูง 1.5 เมตร ประดิษฐานอยู่สองข้างทางเข้าสู่องค์พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างขึ้นด้วยความศรัทธาของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ทั้งสองนิกาย โดยมีพระปัญญากรโมลี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ (มหานิกาย) เจ้าอาวาสวัดท่าไม้เหนือ และพระวินัยสาทร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์-สุโขทัย (ธรรมยุติกนิกาย) เจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์จัดสร้าง และมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ หน่วยงาน ภาคส่วนราชการ สถานศึกษา รวมถึงพ่อค้าประชาชนในจังหวัดอุตรดิตถ์และใกล้เคียง เป็นเจ้าภาพจัดสร้าง เริ่มจัดสร้างในกลางปี พ.ศ.2563 และแล้วเสร็จทั้ง 150 องค์ ในปีเดียวกัน[2]

ถนนสัมพุทธปูชนีย์

พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร ศูนย์กลางของส่วนเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล

ภายในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการจัดสร้างถนนจำนวน 1 เส้น กว้าง 5 เมตร ความยาวจากต้นทางบริเวณสวนลุมพินีวันสรณียสถาน (โซนประสูติ) จนถึงสวนสาลวโนทยานธรรมสถาน (โซนปรินิพพาน) ริมแม่น้ำน่านท่าน้ำเขตอภัยทาน มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร โดยระยะจากโซนประสูติจนถึงโซนตรัสรู้ตลอดสองข้างทางนั้น ประดิษฐานพระพุทธสตปฏิมา จำนวนกว่า 150 องค์ โดยมีองค์พระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ประดิษฐานอยู่กลางวงเวียนบริเวณโซนตรัสรู้ โดยถนนเส้นนี้จัดสร้างในปี พ.ศ. 2559 ส่วนชื่อถนนสัมพุทธปูชนีย์ ได้มาจากพระนามขององค์พระประธานที่ได้รับประทานพระนามมาจากสมเด็จพระสังฆราชในปี พ.ศ. 2563[23]

หอประชุมสงฆ์

เป็นอาคารสองชั้น สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบศาลาโปร่ง ภายในปูด้วยแผ่นไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ภายใน ชั้น 1 ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ตะเคียนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่วนชั้นที่ 2 ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ตะเคียนท่อนเดียว ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก 1 เมตร[27] ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563

อาคารประกอบ

บริเวณโดยรอบพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ มีอาคารประกอบที่เนื่องด้วยการจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ด้านหลังองค์พระประธานหน้าตัก 10 เมตร ในโซนสังฆาวาส มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมประยุกต์หนึ่งชั้น จำนวน 4 หลัง สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2563, พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อยู่บริเวณใต้ฐานพระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบในพื้นที่ ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการพัฒนาการพระพุทธศาสนาในจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนที่ 3 จัดแสดงรูปเหมือนพระเกจิเถราจารย์ในอดีต, วังปลาเขตอภัยทาน อยู่ด้านทิศตะวันตก ใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือในแม่น้ำน่าน ใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ลอยกระทง และเป็นพื้นที่ส่วนแพปลาเขตอภัยทาน ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำในการดูแลของคณะกรรมการประมงประจําจังหวัดอุตรดิตถ์ และ ศาลาอำนวยการ อยู่บริเวณด้านข้างพระประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน และวัตถุมงคล[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ http://maps.google.com/maps?ll=17.656827367376618,... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6568... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=17.656827367376618&... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65682736737661... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/CCF0109... http://www.mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/c_1... http://region4.prd.go.th/pubnews/detail.asp?ID=146... http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2547/991972...