ประวัติ ของ พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

สถานที่ตั้งพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ในอาณาบริเวณปริมณฑลเมืองฝางสวางคบุรี ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เนื่องจากเป็นเมืองที่ตั้งของพระบรมธาตุฝาง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระทันตธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามความในพงศาวดารเหนือ ปัจจุบันบริเวณเมืองฝางสวางคบุรีคือที่ตั้งของตำบลคุ้งตะเภา ตำบลผาจุก และบางส่วนของตำบลป่าเซ่า รวมถึงบึงทุ่งกะโล่ ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ของเมืองสวางคบุรีมานับแต่โบราณ[3]

การจัดหาสถานที่ตั้งพุทธมณฑลจังหวัด

คณะรัฐมนตรีไทย ในสมัยของทักษิณ ชินวัตร ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2547 เห็นชอบเกี่ยวกับการส่งเสริมพระพุทธศาสนาตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้มีการจัดตั้งพุทธศาสนสถานที่มีลักษณะเดียวกับพุทธมณฑลในส่วนภูมิภาคให้แพร่หลายเพิ่มขึ้น โดยอาจใช้พื้นที่สวนสาธารณะ ที่วัด ที่ศาสนสมบัติกลาง ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่เอกชน ซึ่งยินดีให้ใช้ประโยชน์ และสถานที่ดังกล่าวควรเน้นการเป็นสวนสาธารณะที่สงบ ร่มรื่น ราษฎรใช้ออกกำลังกาย เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สามารถใช้ประกอบพิธีการทางพุทธศาสนา ประชุมปรึกษาเรื่องทางศาสนา และใช้เป็นสถานที่แสดงธรรมได้ โดยรัฐจะสนับสนุนทางคณะสงฆ์หรือท้องถิ่นในส่วนของงบประมาณ[4][5] จากนั้นในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 21/2548 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 ได้มีมติที่จะสนับสนุนการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล[6]

ในปี พ.ศ. 2549 ท่านเจ้าคุณพระสิทธิญาณมุนี (อุดม เขมธัมมมหาเถระ) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น จึงได้ดำริร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ และพุทธศาสนิกชน ดำเนินการจัดหาสถานที่เพื่อจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นสถานที่ถวายเป็นพุทธบูชาในนามของศูนย์กลางในระดับจังหวัด ที่สามารถใช้จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งด้านการศึกษา อบรม ปฏิบัติธรรม การเผยแพร่พระพุทธศาสนาสู่เยาวชน และประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้มีลักษณะเหมือนกับพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม[7]

พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาโดยมีแนวคิดเดียวกับพุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธในพื้นที่

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2548 ภาคส่วนราชการในจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ริเริ่มนโยบายโครงการพัฒนาบึงทุ่งกะโล่ ให้เป็นศูนย์การศึกษา กีฬา และนันทนาการ[8] โดยมีหน่วยงานราชการในจังหวัดขอใช้หลายหน่วยงาน เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ และได้รับจัดสรรที่ดินในบึงกะโล่ จำนวน 150 ไร่ รวมถึงได้ดำเนินการออกแบบแผนผังโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้มีการดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคลรูปหล่อลอยองค์ พระฝางทรงเครื่อง เนื้อกะไหลทอง จำนวน 6,300 องค์ ในพิธีอัญเชิญพระฝางทรงเครื่องจำลองประดิษฐาน ณ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตำบลผาจุก ในปี พ.ศ. 2551 และได้เข้าดำเนินการปรับพื้นที่บางส่วนเพื่อเตรียมจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานในพิธี[9]

ต่อมาภาคส่วนในชุมชนรอบบึงกะโล่ได้ยื่นคัดค้านโครงการของจังหวัด จึงได้ร้องศาลปกครองเป็นเหตุให้การดำเนินการในพื้นที่บึงกะโล่ต้องหยุดลง[10][11] ทำให้คณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องยุติการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดในพื้นที่บึงทุ่งกะโล่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้มีความพยายามในการดำเนินการขอใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ม่อนไม้ซาง ตำบลบ้านด่านนาขาม อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ โดยมีเทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม เป็นหน่วยงานขอใช้ที่ดิน จากที่ดินสาธารณประโยชน์ และที่ สปก. จำนวนเนื้อที่ 105 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา โดยใช้คำว่า "พุทธอุทยานเฉลิมพระเกียรติจังหวัดอุตรดิตถ์" แทนพุทธมณฑลจังหวัด ซึ่งมีอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง แต่การดำเนินการไม่คืบหน้า เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินสาธารณประโยชน์ (นสล.) และพื้นที่ ส.ป.ก. และได้รับอนุญาตจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินให้ใช้พื้นที่ Rest Area ที่จอดรถยนต์ เพียง 14 ไร่ เท่านั้น[12] รวมถึงการขาดทุนดำเนินการจัดสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ตามแผนงานให้แล้วเสร็จ ทำให้ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2563 พื้นที่ดังกล่าวคงอยู่ในการดูแลของเทศบาลตำบลด่านนาขามในนาม "สวนสาธารณะเทศบาลตำบลบ้านด่านนาขาม (ม่อนไม้ซาง)"[13]

การก่อสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากสมเด็จพระสังฆราช ภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

ในปี พ.ศ. 2555 พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา, ผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับสนองงานคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ในการดำริจัดสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลฉลองวาระพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ ซึ่งครบในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ. 2555 จึงได้ดำเนินการจัดหาที่ดินเพิ่มเติมจำนวน 20 ไร่ เพื่อจัดสร้างสถานพุทธบูชาขนาดใหญ่ โดยพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งอยู่ในพื้นที่โฉนดตราจองที่ 5172 ระวาง 92 น. 14 ฏ ที่ดิน 57 หน้า 72 เล่ม 52 ใช้ประโยชน์ในการเป็นที่ตั้งพุทธมณฑล สังเวชนียสถานสี่ตำบลจำลอง ศาลาปฏิบัติธรรม กุฎิสงฆ์ และสถานที่จัดกิจกรรมสำหรับพุทธศาสนิกชน มีเนื้อที่ตามโฉนดรวมกับที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชนในเขตพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา เป็นพื้นที่กว่า 72 ไร่ และเมื่อรวมกับโฉนดที่ตั้งวัดคุ้งตะเภา จะมีพื้นที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาทั้งหมด 87 ไร่[14]

โดยโครงการจัดสร้างพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ในพื้นที่ปัจจุบัน ได้รับพระเมตตาคุณจากสมเด็จพระสังฆราช ถึง 2 พระองค์ คือ ในปี พ.ศ. 2555 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีพระเมตตาธิคุณประทานแบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่รักษาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธศาสนามาตั้งมั่นในสยามประเทศ และเป็นพระบรมธาตุส่วนเดียวกับที่ได้ทรงเคยแบ่งอัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ บนยอดดอยอินทนนท์[15]ให้แก่วัดคุ้งตะเภา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบรรจุสร้างพระประธานในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์[16]

การจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาภายในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

โดยได้รับเมตตาจากพระปัญญากรโมลี เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ และคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้การสนับสนุนดำเนินการตั้งให้วัดคุ้งตะเภาเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2559[17] จากนั้นได้มีการดำเนินงานวางผังออกแบบพื้นที่พุทธปูชนียสถานทั้งหมดโดยพระครูธรรมธรเทวประภาส, ดร. รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา รวมถึงได้กราบอาราธนาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ฝ่ายมหานิกาย ไปประกอบพิธีปลูกต้นสาละอินเดีย และต้นพระศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา กราบอาราธนาเจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ฝ่ายธรรมยุติ ไปประกอบพิธีเทหล่อองค์พระพุทธสตปฏิมา ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ รวมถึงมีการจัดกิจกรรมอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติระดับจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการบวชพระสงฆ์รวมกว่า 425 รูป ในพื้นที่พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 วัดคุ้งตะเภา หลายวาระ เช่น ปัญญาสมวาร[18], สตมวาร[19], วาระถวายพระราชกุศล[20], บรมราชาภิเษก[21]การก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น พระพุทธปฏิมาศิลาสังเวชนียสถาน กุฎิสงฆ์ และศาลาปฏิบัติธรรม ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ภายใต้ความรับผิดชอบของวัดคุ้งตะเภา ในนามสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แห่งที่ 3 โดยการจัดสร้างได้ดำเนินการมาเรียบร้อยและได้รับความสนับสนุนจากทุกภาคส่วนมาด้วยดีโดยลำดับ[22]

พระพุทธปฏิมาปางปฐมเทศนาแกะสลักจากหินทรายแดงใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ในส่วนสังเวชนียสถานจำลอง 4 ตำบล ภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

จากนั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงมีพระเมตตาธิคุณโปรดประทานนามพระพุทธรูปประธาน ซึ่งคณะสงฆ์และคณะศรัทธาชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้สำนึกในพระเมตตาธิคุณยิ่ง จึงได้พร้อมใจกันถวายสร้อยพระนามพระมหาปฏิมาเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่องค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า "พระสัมพุทธมุนี ศรีสุโขทัยไตรรัตนสวางคบุรีบพิธ สิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร" แปลว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระมุนี ผู้ทรงให้สิริมงคลและความสุขเกิดขึ้นแก่สรรพสัตว์ สถาปนาโดยพุทธศาสนิกชนชาวสวางคบุรีผู้ประกอบด้วยองค์คุณคือความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย เพื่อประดิษฐานไว้ให้เป็นพระมหาปฏิมา อันนำมาซึ่งสิริมงคลแก่จังหวัดอุตรดิตถ์"[1][23]

พระพุทธสตปฏิมาที่จัดสร้างโดยภาคส่วนราชการองค์กรพ่อค้าและประชาชน จำนวน 150 องค์ ภายในพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์

การสร้างพระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เป็นส่วนหนึ่งของการยกให้เป็นโครงการพุทธมณฑลของคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งพระปัญญากรโมลี, ดร. เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้นำคณะศรัทธาพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ถวายพระพุทธรูปทองคำแท้ บรรจุบนยอดพระเกศขององค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากรอีกด้วย ทั้งนี้จากการสำรวจบัญชีของคณะสักขีพยานบรรจุพระบรมธาตุและมงคลวัตถุพบว่า มีผู้ศรัทธาถวายทองคำ อัญมณี สินแร่มีค่า และวัตถุมงคลมากมายหลายพันรายการจากคณะศรัทธาพ่อค้าประชาชนและพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศ เพื่อบรรจุในองค์หลวงพ่อใหญ่พระสัมพุทธมุนี คิดเป็นมูลค่านับกว่า 9 ล้านบาท[24]

การก่อสร้างพุทธมณฑลได้ดำเนินการมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2563 เมื่อสร้างองค์ "พระสัมพุทธมุนีสิริอุตรดิตถ์มหาปฏิมากร" สำเร็จ โดยหลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมถาวรวัตถุต่าง ๆ ในพุทธมณฑลมาโดยตลอด เช่น เขตอภัยทาน สวนนกยูง สวนกวางมฤคทายวัน ศาลาปฏิบัติธรรมสองชั้น กุฎิกรรมฐาน รวมถึงในบริเวณริมแม่น้ำน่านของพุทธมณฑลอุตรดิตถ์ ยังได้รับประกาศให้เป็นเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำในการดูแลของคณะกรรมการประมงประจําจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2563 อีกด้วย[2]

แหล่งที่มา

WikiPedia: พุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ http://maps.google.com/maps?ll=17.656827367376618,... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6568... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=17.656827367376618&... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65682736737661... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/CCF0109... http://www.mahathera.onab.go.th/files/mati_doc/c_1... http://region4.prd.go.th/pubnews/detail.asp?ID=146... http://www.cabinet.soc.go.th/doc_image/2547/991972...