อนุสรณ์ ของ พุ่มพวง_ดวงจันทร์

อัลบั้มเพลง

เดือนมิถุนายน 2535 หลังจากที่พุ่มพวงเสียชีวิต ค่ายท็อปไลน์และค่ายอโซน่า ก็นำเอาเพลงชุดต่างๆ ของพุ่มพวงออกวางจำหน่ายอีกครั้ง ท็อปไลน์ได้มีการทำปกขึ้นมาใหม่อีก คือ คิดถึงพุ่มพวง, ส้มตำ, คอนเสิร์ต โลกดนตรี โดยชุด ส้มตำ จัดสร้างขึ้นโดยคณะกรรมการจัดงานพระราชทาน เพลิงศพฯ มีคำบรรยายเกียรติประวัติพุ่มพวง และเพลงอย่าง ส้มตำ, กล่อม, ฉลองวันเศร้า, รักคุด, แล้วจะทนเพื่ออะไร, ของขวัญที่ฉันคืนเธอ, หัวใจทศกัณฐ์, เขานอนบ้านใน, หนูไม่รู้, แฟนพุ่มพวง เป็นต้น[3]

ผลงานอัลบั้มเพลงที่วางจำหน่ายเพื่อระลึกถึงพุ่มพวงเช่น คิดถึงพุ่มพวงและโลกของผึ้ง และยังมีเทปที่ทำเพื่อระลึกถึงการเสียชีวิตอย่างเช่น แหล่ประวัติพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยไวพจน์ เพชรสุพรรณ หนึ่งในดวงใจผลงานของยุ้ย โดยยุ้ย ญาติเยอะ (จริยา ปรีดากูล) เหลือแต่ดวงจันทร์ ที่ครูลพ บุรีรัตน์แต่งให้พุ่มพวง

งานเพลงของศิลปินที่นำเพลงของพุ่มพวงมาขับร้องใหม่โดยเฉพาะนักร้องปัจจุบัน มีความแตกต่างกันด้วยจังหวะและระยะเวลาที่ต่างกันไป แกรมมีโกลด์นำผลงานของพุ่มพวงโดยเฉพาะทีประพันธ์โดยลพ บุรีรัตน์ ออกมาอยู่เรื่อยๆ มียอดขายประสบความสำเร็จอย่างดี มีผลงานออกมาอย่าง ดแค้นแ พุ่มพวง ในดวงใจ ชุดที่ 1 – 4 โดย ใหม่ เจริญปุระ , อัลบั้ม เพชร สรภพ - เพลงของแม่ ชุดที่ 1 (ชุดเดียว) กับเพลงเปิดตัว "โลกของ ผึ้ง" โดยดัดแปลงเนื้อร้องบางส่วนให้เหมาะสมกับการถ่ายทอดบทเพลง[9] อัลบั้ม ดวงจันทร์ ... กลางดวงใจ พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยมีศิลปินนักร้องลูกทุ่งสาวนำเพลงมาทำใหม่ ได้แก่ สุนารี ราชสีมา (เขานอนบ้านใน, นอนฟังเครื่องไฟ, ฉันเปล่านา เขามาเอง), คัฑลียา มารศรี (สาวนาสั่งแฟน, อายแสงนีออน, หัวใจทศกัณฐ์), ฝน ธนสุนทร (สุสนรัก, คิดถีงบ้างเน้อ, ขอให้โสดทีเถอะ), แมงปอ ชลธิชา (รักคุด, เงินน่ะมีไหม, อื้อฮือหล่อจัง) , หลิว อาจารียา (กระแซะ, หนูไม่รู้, ผู้ชายในฝัน), เอิร์น เดอะสตาร์ (พี่ไปดู หนูไปด้วย, นัดพบหน้าอำเภอ, โลกของผึ้ง), ต่าย อรทัย (แก้วรอพี่, นักร้องบ้านนอก, คืนนี้เมื่อปีกลาย) และตั๊กแตน ชลดา (ดาวเรืองดาวโรย, ตั๊กแตนผูกโบว์, อนิจจาทิงเจอร์) นอกจากนี้ทรูแฟนเทเชีย มีผลงานชุด 7 สาวสะบัดโชว์ ก็มีเพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ คือ ผู้ชายในฝัน, อื้อฮือหล่อจัง อยู่ในอัลบั้มนี้

ภาพยนตร์และละคร

ในปี พ.ศ. 2535 มีภาพยนตร์รำลึกถึงพุ่มพวง ดวงจันทร์กับเรื่อง บันทึกรักพุ่มพวง กำกับโดยดอกฟ้า ได้พุ่มพวง แจ่มจันทร์ แสดงเป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยเป็นภาพยนตร์ที่เล่าชีวิตส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ[10] ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 บริษัท เจเอสแอลจำกัดได้ทำละครโทรทัศน์เรื่อง ราชินีลูกทุ่งพุ่มพวง ดวงจันทร์ ออกอากาศทางช่อง 7 ดัดแปลงจากชีวิตจริง ของพุ่มพวง ดวงจันทร์นำแสดงโดย รชนีกร พันธุ์มณี วรวุฒิ นิยมทรัพย์ ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ [11] โดยต้อม รัชนีกรได้รับการเข้าชื่อเพื่อชิงรางวัลโทรทัศน์ทองคำในฐานะดารานำฝ่ายหญิงดีเด่น

ในปี พ.ศ. 2554 สหมงคลฟิล์ม ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง พุ่มพวง[12] โดยนำเค้าโครงจากชีวิตจริงของพุ่มพวง ดวงจันทร์และหนังสือเรื่อง ดวงจันทร์ที่จากไป ของ บินหลา สันกาลาคีรี กำกับโดย บัณฑิต ทองดี นำแสดงโดย เปาวลี พรพิมล[13] แสดงเป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์ ร่วมด้วย ณัฐวุฒิ สกิดใจ, วิทยา เจตะภัย, บุญโทน คนหนุ่ม

สื่อสิงพิมพ์

ส่วนสื่อสิงพิมพ์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ เคยนำเสนอแฟชั่นหน้าคู่กลาง ราวปี 2538 เดือนมิถุนายน กับแนวความคิด “ชีวิตพุ่มพวง ดวงจันทร์” ใช้ “งานรำลึกพุ่มพวง ดวงจันทร์” มาเป็นฉากหลังของแฟชั่น มีนางแบบคือ ยุ้ย ญาติเยอะ ที่มีหน้าตาละม้ายพุ่มพวงและยังถือเป็นเงาเสียงของพุ่มพวงในสมัยประกวดคอนเสิร์ตคอนเทสต์ โดยจำลองชีวิตของพุ่มพวงตั้งแต่การออกจากโรงเรียนเพื่อทำงาน การเป็นสาวไร่อ้อย จนถึงนักร้อง โดยมีการใช้ภาพจริงประกอบ[14]

หุ่นพุ่มพวง

สำหรับหุ่นเหมือนพุ่มพวง ดวงจันทร์ ปัจจุบันมีอยู่ 7 หุ่น อยู่ที่วัดทับกระดาน 6 หุ่น ได้แก่ หุ่นที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณสระกลางน้ำ แต่งกายชุดสีดำ เป็นหุ่นอภินิหาริย์ที่สร้างขึ้นหลังพระราชทานเพลิงศพ หุ่นที่ 2 อยู่ในตู้กระจก ยุ้ย ญาติเยอะ เป็นผู้สร้างไว้บูชาครูเพลงพุ่มพวง หุ่นที่ 3 สร้างโดยนายณรงค์ รอดเจริญ อดีตบรรณาธิการ เป็นหุ่นแก้บน ทำด้วยขี้ผึ้งแข็ง หุ่นที่ 4 เป็นสีชมพู สร้างขึ้นจากแฟนเพลง ที่เป็นหุ่นปลดนี้ รุ่นนางพญาเสือดาว หุ่นที่ 5 อยู่ในชุดเสวนาธรรม สร้างโดยญาติและกรรมการวัด หุ่นที่ 6 เป็นหุ่นสีทอง สร้างขึ้นโดยใหม่ เจริญปุระ สร้างขึ้นเพื่อบูชาครูเพลง[15] หุ่นพุ่มพวงที่วัดทับกระดานนั้น ยังมีชื่อเสียงเรื่องมีผู้นิยมมาขอหวยอย่างมากมาย[16] ส่วนหุ่นเหมือนพุ่มพวงตัวที่เจ็ดนั้น เป็นหุ่นชุดเสือดาว สร้างโดยพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุซโซต์ เพื่อจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์สาขากรุงเทพ ชั้น 6 และ 7 สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ โดยพิพิธภัณฑ์มีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคม 2553 หุ่นเหมือนพุ่มพวงตัวนี้เป็นตัวแรกที่ผู้สร้างส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ และเป็นหุ่นตัวแรกที่ไม่ได้ตั้ง ณ วัดทับกระดาน

การเชิดชูเกียรติ

วันที่ 15 สิงหาคม 2552 กระทรวงวัฒนธรรม โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกปริยศิลปิน และปรมศิลปิน มีมติประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุรพล สมบัติเจริญ และ พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือรำพึง จิตรหาญ เป็น "ปริยศิลปิน"[8] ศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชน โดยวันที่16 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของนายสุรพล สวช.จะมีพิธีมอบรางวัลยกย่องอย่างเป็นทางการให้แก่ครอบครัวสมบัติเจริญ ที่ศูนย์การค้าอินเดีย เอ็มโพเรียม กรุงเทพฯ หรือ ATM พาหุรัดเดิม ส่วนครอบครัวของพุ่มพวง ดวงจันทร์นั้น สวช.จะจัดพิธีมอบรางวัลยกย่องอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ส.ค.2552

แหล่งที่มา

WikiPedia: พุ่มพวง_ดวงจันทร์ http://www.isnhotnews.com/2011/06/%E0%B9%80%E0%B8%... http://www.luktungfm.com/krupeng/pumpwong.html http://women.mthai.com/views_Amazing-Women_11_88_9... http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstoc... http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstoc... http://poompuang.com/ http://www.poompuang.com/subindex.php?page=sub&cat... http://video.sanook.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B... http://www.siamdara.com/Variety/00011918.html http://www.siamzone.com/movie/news/?id=5766