การใช้ประโยชน์ ของ พูโรมัยซิน

การเพาะเลี้ยงเซลล์

ในการศึกษาด้านชีววิทยาของเซลล์ได้มีการนำเอาพูโรมัยซินมาใช้ในระบบการเพาะเลี้ยงเซลล์ เนื่องด้วยคุณสมบัติที่เป็นพิษต่อทั้งเซลล์โพรคาริโอตและยูคาริโอต โดยเซลล์ตัวอย่างจะถูกทำให้ทนต่อพูโรมัยซินด้วยการตกแต่งพันธุกรรมด้วยยีนดื้อยาที่มีชื่อว่า pac gene ที่ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ N-acetyl-transferase ที่ได้จากแบคทีเรียสกุลสเตรปโตมัยซิส จากนั้นเซลล์ตัวอย่างจะถูกนำไปเพาะเลี้ยงในอาหารจำเพาะที่มีพูโรมัยซินละลายอยู่ที่ความเข้มข้น 1-10 μg/ml (ถึงแม้ว่าความเป็นพิษต่อยูคาริโอตของพูโรมัยซินนั้นจะเกิดขึ้นได้ที่ความเข้มข้นน้อยกว่า 1 μg/ml ก็ตาม) พูโรมัยซินจะออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์ที่ไม่ได้รับการตกแต่งพันธุกรรมด้วยยีนดื้อยาได้มากถึงร้อยละ 99 ภายในระยะเวลา 2 วัน

การคัดเลือก Escherichia coli

พูโรมัยซินออกฤทธิ์ต้าน E. coli ได้น้อยมาก โดยจะทำการเพาะเลี้ยงหาสายพันธุ์ที่ทนต่อพูโรมัยซินในอาหารเลี้ยงเชื้อ LB agar ที่มีความเข้มข้นของพูโรมัยซิน 125 µg/ml แต่การใช้พูโรมัยซินในการคัดเลือกสายพันธุ์ E. coli นี้ต้องการการปรับ pH ของสารละลายที่แม่นยำ ณ ค่าที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ต้องการคัดเลือก จานเพาะเชื้อที่ผสมพูโรมัยซินแล้วมีความคงตัวประมาณ 1 เดือนเมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 4 °C.[7]

การคัดเลือกยีสต์

การดื้อต่อพูโรมัยซินในยีสต์พบว่าเกิดจากการแสดงออกของยีน puromycin N-acetyl-transferase (pac)[8] ความเข้มข้นของพูโรมัยซินที่ใช้ในการคัดเลือกยีสต์อย่างบริเวอร์ยีสต์นั้นจะสูงกว่าที่ใช้ในการคัดเลือกเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งนี้ การกำจัดยีนที่ก่อให้เกิดการดื้อต่อยาหลายขนานผ่านกลไกการขับยาออกอย่าง ยีน Pdr5 จะทำให้เซลล์มีความไวต่อพูโรมัยซินเพิ่มขึ้นได้