กลไกการออกฤทธิ์ ของ พูโรมัยซิน

พูโรมัยซินเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มย่อยอะมิโนนิวคลีโอไซด์ ที่สกัดได้จากแบคทีเรีย Streptomyces alboniger[1] ซึ่งยานี้จะออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์โปรตีนของแบคทีเรียก่อโรค โดยทำให้การสังเคราะห์โปรตีนนั้นๆสิ้นสุดกระบวนการเร็วกว่าปกติในช่วงที่มีการการแปรรหัสพันธุกรรมในไรโบโซมของเซลล์แบคทีเรีย โดยพูโรมัยซินมีส่วนของโครงสร้างที่คล้ายคลึงกับปลายสาย 3' ของอะมิโนอะซิทิเลทเตด ทีอาร์เอ็นเอ (aminoacylated tRNA) ซึ่งส่วนนี้จะเข้าจับตำแหน่ง A site บนไรโบโซมของแบคทีเรียแทนทีอาร์เอ็นเอ จนเกิดเป็นสายพูโรมิซิเลท (puromycylated nascent chain) ขึ้น และทำให้สายพอลีเพพไทด์ที่กำลังสังเคราะห์ในไรโบโซมนั้นสิ้นสุดและถูกปล่อยออกไปเร็วกว่าปกติ ซึ่งสายพอลีเพพไทด์ที่ได้นี้จะไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้เซลล์แบคทีเรียนั้นไม่สามารถดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ได้ จนตายไปในที่สุด[2] ทั้งนี้ กลไกการออกฤทธิ์โดยละเอียดของพูโรมัยซินนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดเท่าใดนัก แต่การที่ตำแหน่ง 3' ของพูโรมัยซินมีหมู่แทนที่เอไมด์แทนที่จะเป็นเอสเทอร์เหมือนที่พบในทีอาร์เอ็นเอนั้น ทำให้ยานี้มีความคงทนต่อการเกิดปฏิกิริยาไฮโดรไลสิส และส่งผลยับยั้งการทำงานของไรโบโซมได้ดี อย่างไรก็ตาม พูโรมัยซินนั้นไม่ได้ออกฤทธิ์อย่างจำเพาะ โดยจะส่งผลต่อทั้งเซลล์โพรคาริโอตและยูคาริโอต[3] [4]

นอกจากนี้ พูโรมัยซินยังออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ dipeptidyl-peptidase II (serine peptidase) และเอนไซม์ cytosol alanyl aminopeptidase (metallopeptidase) แบบผันกลับได้[5][6] โดยกลไกการยับยั้งนี้ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ยิ่งไปกว่า พูโรมัยซินยังถูกนำมาใช้เพื่อแยกเอนไซม์สองชนิดออกจากกัน คือ เอนไซม์ aminopeptidase M ที่ถูกกระตุ้นได้โดยพูโรมัยซิน และเอนไซม์ cytosol alanyl aminopeptidase ที่ถูกยับยั้งได้โดยพูโรมัยซิน