การสวด ของ ภาณวาร

ในลังกา หลังจากเข้าพรรษาแล้ว ทุกวัดจะจัดให้มีการสวดจตุภารณวาร เพื่ออำนวยอวยชัยและความมั่งมีศรีสุขให้บังเกิดขึ้นกับพระอารามและโดยชุมชน ในบางครั้งจะมีการเลือกบทสวด หรือ ปาฐะ หรือพระสูตรที่เหมาะสมมาสธยายเพื่ออำนวยพรแก่สษธุชนที่มาทำบุญที่วัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามบ้านเมืองเกิดเรื่องร้ายแรง จะมีการสวดสาธยายเพื่อให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยช่วยปกปักคุ้มครองให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากโรคาพยาธิหรือภยันตราย เนื่องจากในจตุภารณวารฯ นั้นมีการรวมบทสวดพระปริตรไว้ด้วยนั่นเอง

ส่วนในไทย สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาของไทยได้อธิบายไว้ว่า

"ในสมัยที่นิยมใช้บทสวดมนต์หลาย ๆ เรื่อง หลาย ๆ บท และมีงานสวดติดต่อกันหลาย ๆ วัน ก็จะต้องเพิ่มบทสวดให้มากขึ้น ข้อกำหนดในการสวดจึงเกิดขึ้น เรียกว่า ภาณวาร แปลว่า “วาระแห่งการสวด” ซึ่งมี 4 ภาณวาร คือ สวดแต่ละวาระประมาณ 2 ชั่วโมงจบ เมื่อพักพอสมควรแล้ว จึงเริ่มสวดชุดที่ 2 พักแล้วสวดชุดที่ 3 พักแล้วสวดชุดที่ 4 เป็นจบจตุภาณวาร หรือครบ 4 ชุด ถ้าสวดคืนเดียวอาจต้องใช้เวลาตลอดถึงจนรุ่งสว่าง แต่ถ้าแบ่งงานเป็นหลายวัน ก็อาจแบ่งสวดวันละชุด ข้อกำหนดว่าในแต่ละภาณวาร มีอะไรบ้าง และรวม 4 ภาณวารมี 22 บทหรือรายการนั้น มีบอกไว้ชัดแล้วในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง ซึ่งมีข้อความตรงกับคำชี้แจงในหนังสือสารัตถสมุจจัย ภาษาบาลี"

นอกจากนี้ เฉพาะการสวดอาฏานาฏิยสูตร หรืออาฏานาฏิยสุตตปาฐะ ในภาณวารที่ 4 นั้น มีรูปแบบเฉพาะที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากการสวดบทอื่นๆ ในภาณวาร โดยในหนังสือสวดมนต์ของไทยจะแบ่งเป็น 2ภาค คือ ปุพพภาค และปัจฉิมภา ภามคแรกเรียกว่า “ยกฺขภาควาร” หรือ ภาณยักษ์ส่วนภาคหลังเรียกว่า “พุทฺธภาควาร” หรือภาณพระ นิยมสวดกันด้วยความเชื่อว่า จะสามารถปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ จนผู้คนทั่วไปเรียกกันว่าการสวดภาณยักษ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วการสวดภาณยักษ์ เป็นการเรียกโดยสะดวก เพราะในการสวดภาณยักษ์นั้นมีทั้งภาณยักษ์ และภาณพระ รวมกันเป็นอาฏานาฏิยสูตรนั่นเอง