ประวัติ ของ ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา

จุดกำเนิด

ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้วาดภาพดังกล่าว แต่พบหลักฐานว่าใน ค.ศ. 1702 (พ.ศ. 2246) ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระเพทราชาสวรรคต อาร์เนาต์ เกลอร์ (Aernout Cleur) พ่อค้าชาวดัตช์ซึ่งประจำอยู่ที่สถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฟโอเซ) ในกรุงศรีอยุธยาหลายปี ได้เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสำนักงานการค้า (opperhoofd/director) ของเฟโอเซแทนคีเดโอน ตันต์ (Gideon Tant)[3] และมีความเป็นไปได้สูงมากที่เกลอร์เป็นผู้ขอให้จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพดังกล่าวขึ้น แม้จะไม่ทราบเหตุผลที่ชี้ชัดว่าด้วยจุดประสงค์ประการใด อย่างไรก็ดี เมื่อสืบค้นข้อมูลจากเอกสารร่วมสมัยอื่นที่พบที่หอจดหมายเหตุดัตช์ในเดอะเฮก[4] พบว่าในช่วงต้น ค.ศ. 1704 (พ.ศ. 2247) เกลอร์ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับปัญหาการสืบราชสมบัติที่เพิ่งเกิดขึ้นในกรุงศรีอยุธยาอย่างละเอียด โดยส่งรายงานถึงปัตตาเวียในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1704 และสำเนาชิ้นหนึ่งได้ถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่เฟโอเซที่เนเธอร์แลนด์[5]

เกลอร์ถึงแก่กรรมที่กรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1712 ทรัพย์สินส่วนตัวของเขาถูกส่งไปยังอัมสเตอร์ดัมที่ซึ่งเอคีดียึส ฟัน เดิน แบ็มป์เดิน (Egidius van den Bempden) หนึ่งในกรรมการของเฟโอเซได้รับม้วนภาพวาดและบันทึกสามหน้า ต่อมาใน ค.ศ. 1716 ฟัน เดิน แบ็มป์เดิน ได้ขายเอกสารทั้งสามให้แก่ผู้แทนของพระเจ้าออกัสตัส เฟรเดอริก (หรือ "พระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่ง") เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งซัคเซินและกษัตริย์แห่งโปแลนด์ ผู้ทรงเป็นนักสะสมสิ่งประดิษฐ์และศิลปะวัตถุจากทั่วทุกมุมโลก โดยบรรจุในกระบอกบรรจุภาพ ระบุเป็น "ภาพวาดจีน" จัดเก็บอย่างปลอดภัยจากแสงแดด ความชื้น และแมลงเป็นเวลาสามศตวรรษ ก่อนที่จะค้นพบอีกครั้งในศตวรรษที่ 21[6]

ใน ค.ศ. 1918 ของสะสมของพระเจ้าออกัสตัสผู้แข็งแกร่งและกษัตริย์องค์อื่น ๆ แห่งซัคเซินได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของของสะสมประจำหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐ ณ นครเดรสเดิน[6]

การค้นพบ

ภาพวาดพร้อมด้วยบันทึกสามหน้าปรากฏสู่สาธารณชนในรอบสามศตวรรษ เมื่อหอสะสมงานศิลปะฯ ได้ดำเนินโครงการจัดทำรายการสิ่งประดิษฐ์จากตะวันออก โดยตรวจสอบ "ภาพวาดจีน" ที่บรรจุในกระบอก พบว่ามีเนื้อหาที่ค่อนข้างแตกต่างจากวัตถุชิ้นอื่น ๆ จึงได้มีการเชิญบาเรินด์ ยัน แตร์วีล (Barend J. Terwiel) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาชาวดัตช์ ไปตรวจสอบเนื้อหาของเอกสาร[6] กระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เอกสารสามฉบับในกระบอกนั้นได้รับการระบุว่ามีต้นกำเนิดมาจากสยาม

การตีพิมพ์ภาพวาดสู่สาธารณชนชาวไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกดำเนินการเช่นกันโดยศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ในวารสาร สยามสมาคม เมื่อ พ.ศ. 2559 (Journal of the Siam Society Volume 104: 2016)[1][2] นับเป็นการค้นพบที่เรียกความตื่นตาตื่นใจให้กับแวดวงประวัติศาสตร์ไทยเป็นอย่างมาก[7]

ใกล้เคียง

ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ภาพกราฟิกส์แรสเตอร์ ภาพกราฟิกส์เวกเตอร์ ภาพกระจกเงา ภากร ธนศรีวนิชชัย ภาพตราแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ ภาสกร บุญญลักษม์ ภาสกร บุญวรเมธี ภาพประกอบ ภาพการ์ตูน