ภาพวาด ของ ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา

รายละเอียด

ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชาประกอบด้วยภาพวาดจำนวน 2 ชิ้น คือ[8]

  1. ภาพลายเส้น วาดด้วยหมึกดำ บนกระดาษชนิดบางยาวต่อกัน 10 แผ่น ผนึกบนผ้าลินิน มีความยาวประมาณ 3.7 เมตร กว้าง 0.50–0.52 เมตร มีเพียงสองส่วนเล็ก ๆ ของสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่งที่ลากพระราชยานเท่านั้นที่ทาสีทอง ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นขาวดำ มีการเขียนคำอธิบายจำนวนหนึ่งเป็นภาษาดัตช์ รวมทั้งคำภาษาไทยบางคำที่ถอดเป็นอักษรโรมัน
  2. ภาพสี วาดบนกระดาษแข็งต่อกัน 4 แผ่น ผนึกบนผ้า มีความยาว 2.15 เมตร กว้าง 0.42 เมตร เขียนร่างด้วยดินสอ จากนั้นจึงลงด้วยหมึก และทาสีเขียว แดง เหลือง ส้ม และน้ำเงินหลายเฉดสีด้วยสีน้ำ เฉพาะพระโกศที่ทาสีทอง มีการเขียนตัวอักษร ตัวเลขและสัญลักษณ์ทั่วภาพ

ทั้งสองภาพมีลักษณะที่สอดคล้องกันที่เป็นจิตรกรรมแนวเหนือจริงแบบไทยประเพณีแสดงพระเมรุและริ้วกระบวน และเป็นฉากเดียวกัน กล่าวคือ มีภาพพระเมรุเก้ายอดอยู่ทางซ้ายสุดของภาพ มีภาพบุรุษแต่งกายสวมลอมพอกที่รับบทเป็นพระยมและพระเจตคุปต์ยืนรอรับพระบรมศพอยู่นอกรั้วราชวัติพระเมรุ กระบวนรูปสัตว์ ราชรถน้อย 3 คันเทียมด้วยราชสีห์ และพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพเทียมด้วยราชสีห์[7][2]

อนึ่ง วัตถุอีกชิ้นที่พบพร้อมกับภาพสองภาพคือ บันทึกภาษาดัตช์จำนวนสามหน้า 85 บรรทัด เพื่ออธิบายตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ดังกล่าว[8] โดยมีข้อความเริ่มต้นว่า "หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์แห่งสยาม, พระปรมาภิไธยว่า พระทรงธรรม์ อันหมายถึง เทพเจ้าแห่งปัญญา, และสวรรคตเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ และถวายพระเพลิงในวันที่ 26 ธันวาคม 1704"[9][1][10]

แรงจูงใจของภาพวาด

ศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับแรงจูงใจที่สำคัญประการหนึ่งที่อาร์เนาต์ เกลอร์ ได้ให้จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพขึ้น คือ อาจจะอันเนื่องมาจากการที่เกลอร์ได้เห็นความสำเร็จของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) พ่อค้าของเฟโอเซที่ได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยา ที่ภายหลังได้เดินทางกลับเนเธอร์แลนด์และอาศัยอยู่อย่างเศรษฐีผู้มีเกียรติกระทั่งสิ้นอายุขัย สำหรับผู้สืบทอดเฟโอเซอย่างเกลอร์ ดูเหมือนฟาน ฟลีต จะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่พ่อค้าเฟโอเซสามารถบรรลุได้ จากการที่ชีวิตของฟาน ฟลีต ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นจากงานเขียนของเขาเองเกี่ยวกับอยุธยา อาจส่งผลให้เกลอร์มีแรงบันดาลใจที่จะเลียนแบบฟาน ฟลีต ด้วยการเขียนรายงานเกี่ยวกับการผลัดแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา จัดส่งไปยังเมืองปัตตาเวียในช่วงต้น ค.ศ. 1704 ที่แม้ว่าเขาจะค่อนข้างเขียนอย่างละเอียด แต่น่าเสียดายที่ไม่มากเท่าที่ฟาน ฟลีต เขียน[11]

ครั้งถึงการพระบรมศพของสมเด็จพระเพทราชาในอีกแปดเดือนต่อมา อาจจะด้วยความปรารถนาที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้บังคับบัญชาของตน หรือความต้องการที่จะจัดทำหนังสือเล่มเล็กหรืออย่างน้อยก็แผ่นพับให้ประชาชนทั่วไปในเนเธอร์แลนด์ได้เห็น (หากนำเรื่องราวกรณีการผลัดแผ่นดินมารวมเป็นเล่ม) น่าจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับพ่อค้าชาวดัตช์ที่จะบรรยายพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่และแปลกตาเป็นร้อยแก้วหรือวาดเป็นรูปภาพด้วยตนเอง และนี่คงเป็นจังหวะที่เกลอร์ตัดสินใจขอให้ (หรือว่าจ้างให้) จิตรกรชาวกรุงศรีอยุธยาวาดภาพขบวนเชิญพระบรมศพให้กับเขา[11]

ผลที่ได้ในขั้นนี้ คือ ภาพลายเส้น ซึ่งสันนิษฐานว่าเมื่อถึงมือเกลอร์แล้ว จิตรกรอาจได้อธิบายองค์ประกอบบนภาพ และเกลอร์ได้เขียนข้อความนั้นลงบนภาพทับด้วยลายมือของตนเป็นภาษาดัตช์[12] รวม 15 ข้อความ อย่างไรก็ตาม ต่อมาเกลอร์อาจจะได้ข้อสรุปว่า ภาพลายเส้น นี้ไม่เหมาะกับการเป็นจุดนำเสนอเพื่อกระตุ้นผู้อ่านชาวยุโรป เพราะมันมีขนาดที่ใหญ่เกินไป เนื้อหาซับซ้อน ยากแก่การเข้าใจ และใช้วัสดุที่ไม่ทนทาน[11]

ด้วยเหตุนี้ เกลอร์จึงอาจขอให้จิตรกรวาด ภาพสี ในขนาดที่เล็กลง บนกระดาษที่แข็งกว่า อย่างเรียบง่ายกว่าและมีสีสันมากขึ้นกว่า ภาพลายเส้น เกลอร์อาจได้ติดต่อผู้รู้เพื่อให้อธิบายรายละเอียดทั้งหมดของภาพสีนี้ พร้อมกับเขียนคำอธิบายลงบนภาพและบันทึกสามหน้าของเขา[11]

คุณค่า

ศาสตราจารย์บาเรินด์ ยัน แตร์วีล ในฐานะผู้ค้นพบภาพ[2] ระบุว่าภาพวาดทั้งสองทำขึ้นโดยศิลปินชาวสยามผู้เชี่ยวชาญอย่างแน่นอน และเป็นงานร่วมสมัยกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างไม่มีข้อกังขา เพราะหอสะสมงานศิลปะแห่งรัฐเดรสเดินเองชี้ว่าได้รับเอกสารเหล่านี้มาเมื่อ ค.ศ. 1716 (พ.ศ. 2259) ในขณะที่ไม่มีต้นฉบับภาพวาดในยุคนี้ที่มีที่มาและวันที่ที่ชัดเจนเหลือรอดมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นโบราณวัตถุอันมีเอกลักษณ์ (unique)[1]

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชญา สุ่มจินดา จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า ภาพวาดทั้งสองแสดงลักษณะทางสถาปัตยกรรมและรูปแบบริ้วกระบวน ที่ดูคล้ายงานพระเมรุใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ปรากฏในสมุดภาพและภาพถ่ายโบราณ แม้จะไม่ได้รายงานข้อเท็จจริงมากนัก แต่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไปของงานพระบรมศพในสมัยอยุธยาที่เหลือเพียงหลักฐานลายลักษณ์อักษรไม่กี่ฉบับ[2]

มีผู้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รูปแบบศิลปะในภาพวาดสามารถกำหนดอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยน่าจะเก่ากว่าตัวอย่างที่มีในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เช่น จิตรกรรมที่วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี) และมีความสอดคล้องกับข้อมูลที่เกี่ยวกับการพระเมรุและกระบวนแห่พระศพสมัยอยุธยาใน จดหมายเหตุการพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ และ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม[13]

ใกล้เคียง

ภาพกระบวนเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเพทราชา ภาพกราฟิกส์แรสเตอร์ ภาพกราฟิกส์เวกเตอร์ ภาพกระจกเงา ภากร ธนศรีวนิชชัย ภาพตราแผ่นดินของประเทศต่าง ๆ ภาสกร บุญญลักษม์ ภาสกร บุญวรเมธี ภาพประกอบ ภาพการ์ตูน