ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ ภาระรับผิดชอบ

ในทางปฏิบัติของไทยพบว่า หลักภาระรับผิดชอบได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังหลังการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 โดยสามารถพบในตัวบทกฎหมายว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ในมาตรา 3/1 วรรคหนึ่งและสามที่ว่า

...การบริหารราชการตามพระราชบัญญัตินี้ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน...

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ...— [6]

อย่างไรก็ดี การปฏิบัติของระบบราชการไทยยังคงมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

  1. ปัญหาเชิงโครงสร้างการเมือง: ภาระรับผิดชอบเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบรัฐสภาในประเทศไทย ที่รัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภา ส่งผลให้ไม่เกิดการตรวจสอบระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
  2. ปัญหาการนำกฎหมายไปใช้: เป็นปัญหาของระบบราชการที่ยึดติดกับตัวบทกฎหมาย มากกว่าการบริการประชาชน หรือเรียกว่าการบรรลุผิดเป้าหมาย (goal displacement) ทำให้ภาระรับผิดชอบเป็นเพียงสิ่งที่ต้องทำไปเพื่อให้ครบขั้นตอน ไม่ได้มุ่งหวังให้ประชาชนตรวจสอบจริงๆ
  3. ปัญหาในทัศนคติ: การทำงานของระบบการเมืองและระบบราชการไทย ไม่ส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบ เพราะไปคิดว่าเป็นการมุ่งจับผิดและมุ่งหวังทำร้ายฝ่ายตรงข้าม มากกว่าที่จะมองการตรวจสอบเป็นเรื่องของการทำให้ภารกิจมีประสิทธิภาพและความประหยัดสูงสุด รวมถึงทัศนคติที่มองว่าประชาชนไม่มีความรู้เพียงพอที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ทำให้ภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูลหรือตัวเลขในการดำเนินนโยบายต่างๆ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องภาระรับผิดชอบจึงต้องนำหลักการดังกล่าวมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่จำกัดอยู่เพียงภาครัฐ แต่ต้องขยายขอบเขตไปถึงภาคเอกชนและภาคสังคมต่างๆ ซึ่งการเจริญเติบโตของเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต ก็จะส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบได้ เมื่อประชาชนตื่นตัวและพร้อมที่จะติดตามภาครัฐ ภาครัฐจึงไม่อาจปฏิเสธที่จะต้องนำหลักภาระรับผิดชอบที่มีอยู่ในตัวบทกฎหมายลงมาสู่การปฏิบัติจริง[7]