อรรถาธิบาย ของ ภาระรับผิดชอบ

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย การสร้างภาระรับผิดชอบมีหลายกลไกด้วยกัน ประกอบด้วย “การเลือกตั้ง” เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องมีความผูกพันกับสาธารณะซึ่งก็คือประชาชนที่เป็นผู้เลือกตั้งให้บุคคลนั้นได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง “กระบวนการรัฐธรรมนูญและนิติบัญญัติ” เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยใช้กลไกเชิงสถาบันอย่างเป็นทางการ “การควบคุมการคอร์รัปชั่นของข้าราชการ” เป็นการดูแลในด้านการนำนโยบายไปปฏิบัติ “พื้นที่ประชาสังคม” ในการให้ตัวแสดงทางสังคมอื่นๆ เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐ และ “การกระจายอำนาจ” ในการแบ่งภาระความรับผิดชอบสาธารณะให้กับท้องถิ่นและกระจายอำนาจในการจัดการเพื่อให้เหมาะสมกับความแตกต่างเชิงภูมิศาสตร์ รวมถึงการทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นด้วย (Tsai, 2011: 7-8)[4]

คำว่า ภาระรับผิดชอบ (accountability) แตกต่างจากคำว่า ความรับผิดชอบ (responsibility) ซึ่งคำว่า ความรับผิดชอบ คือการรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ตามตำแหน่งงานที่ได้รับมา ทั้งในการปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าหมายและการรักษากฎระเบียบ แต่ ภาระรับผิดชอบ คือการรับผิดชอบที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องถูกควบคุม ตรวจสอบ ชี้แจง ต่อสาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ภายนอก ผู้ปฏิบัติหน้าที่จึงต้องมีความโปร่งใส ยึดหลักความประหยัด และสามารถถูกตรวจสอบจากประชาชนทั่วไปได้ ดังนั้น ภาระรับผิดชอบ จึงมีขอบข่ายกว้างกว่า ความรับผิดชอบ

ภาระรับผิดชอบสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ

  1. ภาระรับผิดชอบตามแนวยืน (vertical accountability) เป็นหลักความรับผิดชอบที่ภาครัฐในฐานะองค์กรที่ “เหนือกว่า” ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในฐานะที่ “อยู่ใต้การปกครอง” เนื่องจากประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้ปกครองขึ้นไปมีอำนาจ ทำให้ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบผู้ปกครองได้ หรือกล่าวได้ว่าประชาชนต้องสามารถตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่เรื่องทำผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ต้องรวมถึงความคุ้มค่าและจริยธรรม ในที่นี้รวมถึงสื่อมวลชนด้วย
  2. ภาระรับผิดชอบตามแนวนอน (horizontal accountability) เป็นหลักความรับผิดชอบที่หน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งจะต้องมีต่ออีกหน่วยงานหนึ่ง ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเป็นการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานของรัฐในฐานะที่เสมอกัน เช่น นิติบัญญัติตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หรือองค์กรอิสระตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ เป็นต้น[5]