การบวชเป็นภิกษุเถรวาท ของ ภิกษุ

ประเภทของการบวชเป็นภิกษุ

เอหิภิกขุอุปสัมปทา

เป็นชื่อเรียกวิธีอุปสมบทเป็นภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้นๆ โดยพระพุทธเจ้าประทานให้ด้วยพระองค์เอง ด้วยการตรัสว่า "เอหิภิกขุ...." ซึ่งแปลว่า "จงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่ดีที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"

ตรัสเท่านี้ ก็เป็นภิกษุแล้ว เพราะคำตรัสขึ้นต้นว่า เอหิ ภิกขุ จึงเรียกการอุปสมบทแบบนี้ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา เรียกผู้ได้รับการอุปสมบทว่า เอหิภิกขุ

การอุปสมบทแบบนี้ทรงประทานแก่พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นท่านแรก จึงถือว่าท่านเป็นปฐมสาวกหรือเป็นปฐมภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อมีผู้มาขอบวชมากขึ้นได้ทรงเลิกวิธีอุปสมบทแบบนี้ ทรงเปลี่ยนเป็นวิธีติสรณคมนูปสัมปทา และเป็นวิธีญัตติจตุตถกรรมวาจาซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ติสรณคมนูปสัมปทา

พระอุปัชฌาย์ให้ ติสรณคมนูปสัมปทา แก่ผู้บวชเป็นสามเณร

แปลว่า การอุปสมบทด้วยการเข้าถึงไตรสรณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุโดยการรับไตรสรณคมน์ หมายถึงการอุปสมบทเป็นภิกษุแบบหนึ่งในพระพุทธศาสนา กล่าวคือในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทเองที่เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรให้เป็นภิกษุได้โดยวิธีให้กุลบุตรนั้นรับไตรสรณคมน์เท่านั้น ซึ่งการบวชแบบนี้สำเร็จได้โดยบุคคล คือพระสาวกรูปใดรูปหนึ่งก็สามารถบวชกุลบุตรได้ ต่อมาภายหลังทรงอนุญาตวิธีการอุปสมบทโดยสงฆ์คือให้ทำเป็นสังฆกรรมที่เรียกว่าแบบญัตติจตุตถกรรมวาจา จึงเลิกวิธีบวชพระแบบ ติสรณคมนูปสัมปทา แต่ทรงอนุญาตให้ใช้วิธีนี้บวชสามเณร ซึ่งถือปฏิบัติกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

ญัตติจตุตถกรรมวาจา

เป็นสังฆกรรม 1 ใน 4 อย่างของภิกษุสงฆ์ที่ทำร่วมกัน จัดเป็นสังฆกรรมที่มีน้ำหนักมาที่สุด หนักแน่นที่สุด ใช้ทำกรรมที่สำคัญมาก เช่น การให้อุปสมบท การให้ปริวาส ให้อัพภาน การสวดสมนุภาสน์ เป็นต้น

วิธีการ คือ จะมีการสวดญัตติขึ้นก่อน 1 ครั้ง และ สวดอนุสาวนา 3 ครั้ง เมื่อรวมกันจึงเรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม แปลว่า กรรมมีญัตติเป็นที่ 4, หมายความว่า กิจกรรมของสงฆ์ที่ทำร่วมกันโดยต้องทำการสวดญัตติขึ้นก่อน แล้วตามด้วยอนุสาวนาอีก 3 ครั้ง

ส่วนสาเหตุที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรม (กรรมมีญัตติเป็นที่ 4) ไม่เรียกว่า ญัตตฺยาทิกรรม (กรรมมีญัตติเป็นเบื้องต้น) เป็นต้น มีเพราะตรัสเป็นโวหารแบบปฏิโลม (นับย้อนศร) เหมือนคำว่า ผสฺสปญฺจมํ (ธรรมมีผัสสะเป็นที่ 5) ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมนั่นเอง