เนื้อหา ของ มธุรัตถวิลาสินี

พระพุทธทัตตะ ระบุไว้ในนิคมนกถา ว่า การแต่งคัมภีร์นี้อิงกับอรรถกถาเดิม โดยมีการตัดทอนส่วนที่เยิ่นเย้อออกไป แล้วเรียบเรียงเนื้อความให้มีความไพเราะขึ้น (ข้าพเจ้ายึดทางแห่งอรรถกถาเก่า อันประกาศ ความแห่งบาลี เป็นหลักอย่างเดียวแต่งอรรถกถาพุทธวงศ์ เพราะละเว้นความที่เยิ่นเย่อ ประกาศแต่ความ อันไพเราะทุกประการ ฉะนั้น จึงชื่อว่า มธุรัตถวิลาสินี) [10]

ในตอนท้ายสุดของคัมภีร์ ท่านผู้รจนาระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า "คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี กล่าวโดยภาณวารมี 26 ภาณวาร (หมวด) โดยคันถะมี 6,500 คันถะ (ผูก) โดยอักษร มี 23,000 อักษร" [11]

เนื้อหาของมธุรัตถวิลาสินีพรรณาความแห่งพระคัมภีร์พุทธวงศ์ตั้งแต่ต้นจนจบ วิธีการประพันธ์ใช้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เล่าเรื่องก่อนแล้วสรุปเรื่องเข้าหาคาถาที่ตั้งเป็นนิกเขปบทไว้เป็นตอน ๆ แล้วอธิบายคาถาให้แจ่มแจ้งทั้งอรรถะและพยัญชนะ ทั้งไวยากรณ์ ซึ่งเป็วรรณนาที่ทำให้เข้าใจความในพระคัมภีร์พุทธวงศ์ได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น [12]

การอธิบายความในคัมภีร์นี้ มีทั้งการให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพุทธประวัติและลักษณะของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบันรวม 25 องค์ และมีการพยากรณ์ถึงพระอนาคตพุทธเจ้าอีก 1 พระองค์ นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายในทำนองถามตอบ ว่าด้วยนัยแห่งศัพท์และหลักธรรมต่างๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์นี้

อาทิเช่นการอธิบายความหมายโดยพิสดารของคำว่า "ตถาคต" [13] การอธิบายคำว่า "สัตถา" หรือ "ศาสดา" ว่าเพราะพระพุทธเจ้าทรงพร่ำสอนสัตว์ทั้งหลายตามความเหมาะสม ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า [14]เป็นต้น

การอธิบายทศพลญาณหรือกำลังญาณทั้ง 10 ประการของพระพุทธเจ้า [15] การแจกแจงลักษณะของการสร้างบารในการเป็นพระพุทธเจ้ามี ว่า แบ่งออกเป็น การบริจาคสิ่งของภายนอกเรียกว่า "บารมี" การบริจาคอวัยวะเรียกว่า "อุปบารมี" การบริจาคชีวิต เรียกว่า "ปรมัตถบารมี" [16] เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่ปรากฏในพุทธประวัติ อาทิ การอธิบายว่า พรหมที่มาทูลอาราธนาให้พระศาสดาแสดงธรรม เคยเป็นพระเถระชื่อ สหกะ ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าทำปฐมฌานให้เกิด จบชีวิตแล้ว ก็บังเกิดเป็นมหาพรหมในปฐมฌานภูมิมีอายุ 1 กัป เรียกกันว่า ท้าวสหัมบดีพรหม [17] เป็นต้น