การค้นพบและการสืบสวนทางโบราณคดี ของ มนุษย์พรุพีต

ตั้งแต่ยุคเหล็กเป็นต้นมา พรุใช้เป็นสถานที่สำหรับการขุดพีตที่ใช้ในการเป็นเชื้อเพลิง และนานๆ ครั้งตลอดมาในประวัติศาสตร์ผู้ขุดพีตก็จะพบร่างที่ฝังอยู่ในพรุ บันทึกการพบดังกล่าวมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 และในปี ค.ศ. 1640 ก็ได้มีการพบมนุษย์พรุพีตที่ชายเลนชาลค์โฮลซ์ที่ฮ็อลชไตน์ในเยอรมนี ซึ่งอาจจะเป็นร่างของมนุษย์พรุพีตร่างแรกที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่บันทึกการพบที่มีรายละเอียดมากกว่าเป็นร่างที่พบบนภูเขา Drumkeragh ในเคานตี้ดาวน์ในไอร์แลนด์ ที่ได้รับการบันทึกไว้โดยเลดี้ม็อยรา ภรรยาของเจ้าของที่ดินในท้องถิ่น[14] รายงานประเภทเดียวกันนี้ทำต่อมาจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เช่นรายงานของร่างที่พบที่เกาะฟินในปี ค.ศ. 1773[15] หรือร่างของมนุษย์คิบเบิลการ์นที่พบในเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1791 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการพบมนุษย์พรุพีตก็จะถูกย้ายจากพรุและนำมาฝังตามพิธีคริสต์ศาสนาตามประเพณีของคริสต์ศาสนิกชนของประชาคมที่เป็นที่ตั้งของพรุ[16]

จนกระทั่งเมื่อลัทธิโบราณวิทยาเริ่มแพร่หลายขึ้น ผู้คนบางคนก็เริ่มจะสันนิษฐานว่าร่างของมนุษย์พรุพีตเหล่านี้ไม่ใช่ร่างของผู้ที่ถูกฆาตกรรมเมื่อไม่นานมานี้แต่เป็นร่างของมนุษย์โบราณ ในปี ค.ศ. 1843 ก็มีการพบร่างมนุษย์พรุพีตที่คอร์เซลิทซ์ที่เกาะฟอลสเตอร์ในเดนมาร์กที่ฝังพร้อมกับเครื่องตกแต่งที่แปลกออกไป (ลูกปัดแก้วเจ็ดลูกและเข็มกลัดสำริด) ที่ได้รับการฝังตามประเพณีของคริสต์ศาสนา แต่กลับถูกขุดขึ้นมาอีกตามโองการของเจ้าชายรัชทายาทเฟรเดอริคผู้ทรงเป็นนักโบราณวิทยาให้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แทนที่ นักโบราณคดีปีเตอร์ กลอบมีความเห็นว่า “พระองค์, มากกว่าผู้ใด, ผู้เป็นผู้กระตุ้นให้โบราณวิทยาของเดนมาร์กเป็นที่สนใจกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น”[17] ในบางกรณีการพบก็ถูกบดบังโดยจินตนการนิยมอันเกินเลยโดยไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ทางด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ เช่นเมื่อมีการพบมนุษย์ฮาราลดสแคร์ในเดนมาร์ก เธอก็ถูกนำไปแสดงในฐานะที่เป็นพระราชินีกุนฮิลด์ผู้เป็นสตรีในตำนานอันเลื่องลือของยุคกลางตอนต้น ซึ่งเป็นที่คัดค้านโดยนักโบราณคดี เจ.เจ.เอ. วอร์แซผู้โต้ว่ามนุษย์ฮาราลดสแคร์เป็นร่างที่มาจากยุคหินเช่นเดียวกับมนุษย์พรุพีตร่างอื่นๆ ที่พบมา[18] มนุษย์พรุพีตร่างแรกที่ได้รับการถ่ายภาพคือมนุษย์เร็นด์สวือเรินที่พบในปี ค.ศ. 1871 ที่พรุไฮด์มัวร์ใกล้เมืองคีลในเยอรมนี ต่อมามนุษย์เร็นด์สวือเรินก็ถูกนำมารมควันโดยเป็นความพยายามที่มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์เพื่อที่จะนำไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์[19]

เมื่อการศึกษาทางโบราณคดีพัฒนาขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มนุษย์พรุพีตก็เริ่มได้รับการขุดขึ้นมาและสืบสวนกันอย่างระมัดระวังและละเอียดละออมากขึ้น

กรรมวิธีทางโบราณคดี

มาจนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มาของมนุษย์พรุพีตก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าเป็นร่างที่ถูกฝังมาเป็นปีๆ, เป็นสิบๆ ปี หรือ เป็นร้อยๆ ปี แต่จากการสืบสวนโดยใช้กรรมวิธีทางนิติเวชและทางการแพทย์สมัยใหม่เช่นการใช้การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) ที่พัฒนาขึ้นมาทำให้นักค้นคว้าสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์พรุพีตได้อย่างแน่นอนขึ้น เช่นอายุเมื่อเสียชีวิต, อายุการฝัง และรายละเอียดอื่นๆ นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาผิวหนัง, จำลองรูปลักษณ์ และ แม้แต่ระบุอาหารมื้อสุดท้ายที่รับประทานจากสิ่งที่พบในท้อง นอกจากนั้นฟันก็เป็นเครื่องบอกอายุผู้ตาย และประเภทของอาหารที่บริโภคในขณะที่ดำรงชีวิตอยู่[ต้องการอ้างอิง]

การฉายรังสีเอกซ์เป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจมนุษย์พรุพีต เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่อยู่ในพีต ที่ทำให้สามารถนำออกมาจากพีตได้โดยไม่ได้รับความเสียหายเมื่อเทียบการพยายามดึงร่างออกมาโดยไม่ทราบรายละเอียดของตำแหน่งรายละเอียดของร่าง การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันมากในการวัดอายุได้อย่างเที่ยงตรง ซึ่งทำให้ทราบว่าส่วนใหญ่แล้วมาจากยุคหิน ในด้านการระบุสาเหตุของการเสียชีวิต ทำให้ทราบได้ว่ามีร่างเป็นจำนวนมากที่มีร่องรอยของการเสียชีวิตอย่างทารุณและถูกฆาตกรรม เช่นร่างของมนุษย์โทลลุนด์ที่มีเชือกแขวนอยู่รอบคอ หรือ มนุษย์วิเดอบีย์ที่หนึ่งที่ถูกทับด้วยขอนไม้และกิ่งไม้คาอยู่ใต้น้ำ[ต้องการอ้างอิง]

จากการที่บริเวณที่เป็นเลนพีตช่วยอนุรักษ์เนื้อเยื่ออ่อน ทำให้การวิจัยเนื้อหาของสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในท้องเป็นไปได้ และทำให้ทราบถึงธรรมเนียมด้านการโภชนาการของบุคคลเหล่านี้ การสร้างใบหน้าใหม่ทางนิติเวชเป็นกรรมวิธีอันน่าทึ่งที่ใช้ในการศึกษาร่างกายของมนุษย์พรุพีต กรรมวิธีนี้เดิมพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการสืบสวนอาชญากรรมได้รับการนำมาใช้ในการระบุหน้าตาของมนุษย์พรุพีตจากกะโหลกที่พบ ใบหน้าของมนุษย์พรุพีตคนหนึ่งมนุษย์ยเดได้รับการจำลองขึ้นในปี ค.ศ. 1993 โดยริชาร์ด นีฟแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์โดยการถ่ายภาพส่วนตัดด้วยคอมพิวเตอร์ของส่วนศีรษะ การจำลองใบหน้าด้วยวิธีนี้ก็ได้นำมาใช้ในการจำลองใบหน้าของมนุษย์พรุพีตอีกหลายคนต่อมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: มนุษย์พรุพีต http://74.125.155.132/scholar?q=cache:VkSJiQQ_v8wJ... http://archaeology.about.com/od/kterms/g/kayhausen... http://books.google.com/books?id=5e0tkA6gGT8C&pg=P... http://books.google.com/books?id=DppwAMTs5skC&pg=P... http://www.mummytombs.com/bog/datgen.htm http://www.mummytombs.com/bog/gallagh.htm http://www.mummytombs.com/bog/husbake.htm http://www.mummytombs.com/bog/osterby.htm http://www.mummytombs.com/museums/nl.assen.drents.... http://ngm.nationalgeographic.com/2007/09/bog-bodi...