การแต่งกายของนักมวย ของ มวยไชยา

  • การพันหมัด ที่เรียกว่าหมัดถักนั้นเมื่อผู้ใดได้คู่ชก ทางฝ่ายจัดรายการ จะแจกด้ายขนาดโตคนละม้วน เมื่อได้ด้ายดิบแล้วนักมวยก็จะนำด้ายดิบนั้นเข้าพุ่มไปให้พรรคพวกช่วยกันจับเป็นจับ ๆ (หนึ่งจับเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย) แล้วตัดออกเป็นท่อนๆยาวประมาณ 4-5 เมตร ชั้นแรกที่จะพันมือจะใช้ผ้าเรียบพันมือก่อน ชั้นที่สองซึ่งจะพันด้วยด้ายดิบซึ่งพรรคพวกจะขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดเป็นปมอยู่ทั่วไป แล้วพันด้วยผ้าเรียบ แล้วพันด้วยด้ายที่ถูขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดปม พันสลับกันเช่นนี้หลายชั้น การพันมือจะพันจนถึงข้อมือเท่านั้นส่วนปลายนิ้วมือจะพันขึ้นไปพอถึงข้อนิ้วแรก ให้กำหมัดได้สะดวก และขณะที่พันมืออยู่นั้น จะต้องใช้ปลายนิ้วมือคอยแหย่ไว้ตามช่องนิ้วมือระวังไม่ให้แน่นจนเกินไป เพราะถ้าแน่นจะทำให้กำหมัดไม่แน่นเวลาชก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงนิ้วมือหักในขณะต่อสู้เมื่อชกโดนคู่ต่อสู้จัง ๆ โดยนักมวยไชยาจะคาดเชือกแค่บริเวณข้อมือ ส่วนนักมวยสายอื่น ๆ เช่น นักมวยโคราช จะคาดเชือกถึงบริเวณข้อศอกเพื่อใช้รับอวัยวุธต่างๆของคู่ต่อสู้ และ นักมวยสายลพบุรีหรือนักมวยภาคกลางอื่นๆเช่น มวยพระนคร จะคาดเชือกถึงบริเวณกลางแขน
  • การพันลูกโปะ (กระจับ) ในการพันลูกโปะจะใช้ผ้าสองผืน ผืนแรกจะใช้ผ้าขาวม้าก็ได้ หรือผ้าชนิดอื่นที่ยาวพอสมควร ผืนที่สองจะใช้ผ้าอะไรก็ได้ วิธีพันจะใช้ผ้าผืนแรกต่างเข็มขัด ปล่อยชายข้างหนึ่งยาวปลายข้างหนึ่งจะผูกเป็นปมหมดชายผ้า ปล่อยข้างยาวลงไปข้างล่าง ส่วนผืนที่สองจะม้วนเป็นก้อนกลม (คล้ายม้วนทูนหรือผ้าที่ม้วนรองบนศีรษะขณะทูนของที่ก้นไม่เรียบ) ใช้ผ้าผืนนี้วางลงทับแทนกระจับ ใช้ชายผ้าที่ปล่อยให้ห้อยลงของผืนแรกคาดทับลงไป แล้วเต้าชายผ้าส่วนนั้นเข้าระหว่างขาดึงให้ตึงไปผูกชายที่เหลือเข้ากับส่วนที่ผูกแทนเข็มขัดที่ด้านหลัง
  • ประเจียด เป็นเครื่องสวมศีรษะลักษณะเฉพาะของนักมวยไชยา ส่วนนักมวยภาคอื่นจะสวม"มงคล"แทน ประเจียดนั้นจะทำเป็นลักษณะแบนๆมากกว่าทำให้กลมมีการลงคาถาอาคม ลงเครื่องป้องกันต่าง ๆ ขณะชกถ้าประเจียดหลุดก็ยกมือขอเก็บมาสวมเสียใหม่ได้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการป้องกันมิให้เส้นผมลงปิดหน้าในขณะที่กำลังทำการต่อสู้