มะเมียะเดินทางกลับ ของ มะเมียะ

เช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน พ.ศ. 2446[2] นับเป็นวันเดินทางกลับเมืองมะละแหม่งของมะเมียะ อันจะกลายเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ ณ ประตูหายยาที่เนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่ใคร่เห็นโฉมหน้าของมะเมียะ ที่ลือกันว่างามนักงามหนา บรรยากาศเต็มไปด้วยความหดหู่และเศร้าหมอง เมื่อเจ้าน้อยฯ พูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ นางผู้มีใจรักมั่นได้ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจ ในอ้อมแขนที่ยากจะแยกจากกันได้ เวลานั้นก็ล่วงเลยไปมากแล้ว เจ้าน้อยฯ ได้รับปากกับมะเมียะว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพุทธรูปวัดใจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่ หากท่านนอกใจมะเมียะโดยสมรสกับหญิงอื่น ขอให้ชีวิตของตนประสบแต่ความทุกข์ทรมานใจ แม้แต่อายุก็จะไม่ยืนยาว เจ้าน้อยฯ ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าภายในเดือนจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยฯ ด้วยความอาลัยหา ก่อนที่เธอจะขึ้นไปบนกูบช้าง

เมื่อกลับไปถึงเมืองมะละแหม่งแล้ว มะเมียะได้มอบเงินทองจำนวนหนึ่งซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีมหาเทวี มอบให้นางก่อนเดินทางกลับเป็นการปลอบขวัญแก่พ่อแม่และน้อง จากนั้นนางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยฯ จนครบกำหนดเดือนที่ท่านได้รับปากไว้ แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะจึงตัดสินใจเข้าพึ่งใต้ร่มพุทธจักร ครองตนเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อสัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อยศุขเกษม

หลังจากที่ทราบข่าวการเข้าพิธีมงคลสมรส ระหว่างร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศลฯ กับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่และขอเข้าพบเจ้าน้อยฯ เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ องค์อดีตสวามีผู้เป็นที่รัก ก่อนที่ตนจะตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีไปตลอดชีวิต แต่เจ้าน้อยศุขเกษมผู้ยึดสุราเป็นที่พึ่งดับความกลัดกลุ้มอันเกิดจากความรักอาลัยในตัวมะเมียะ ชีวิตที่ไม่เคยมีความสุขในชีวิตสมรส ท่านไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้เจ้าบุญสูง พี่เลี้ยงคนสนิท นำเงินจำนวน 80 บาท ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมียะเพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ ให้กับแม่ชีมะเมียะ

เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นทำให้มะเมียะและเจ้าน้อยต่างสะเทือนใจเป็นที่สุด หลังจากเดินทางถึงเมืองมะละแหม่ง มะเมียะได้ครองชีวิตเป็นแม่ชีตามความตั้งใจ จนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2505[2] รวมอายุได้ 75 ปี[3] ต่อมาได้มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีการนำอัฐิของมะเมียะมาบรรจุไว้ที่กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ ที่วัดสวนดอก แต่ได้รับการยืนยันจากเจ้านายฝ่ายเหนือว่าไม่เป็นความจริง[4]