การวิเคราะห์ผลงาน ของ มัคส์_แอ็นสท์

Pieta or Revolution by Night, 1923. Oil on canvas, 89 × 116 cm. London, Tate Gallery

Pieta or Revolution by Night

ภาพนี้เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของแอ็นสท์ เป็นภาพลึกลับที่ดูเหมือนเกี่ยวข้องกับพื้นฐานความคิดของฟร็อยท์ในความซับซ้อนแบบอีดิปัส ซึ่งผู้เป็นบุตรชายได้แข่งขันกับพ่อเพื่อที่จะแย่งความรับจากแม่ รวมถึงความกลัวจากการถูกทำหมันโดยพ่อของตน ภาพของพ่อที่คุกเข่าอุ้มบุตรชายไว้ในท่าที่เป็นได้ทั้งการบวงสรวงและแบบประเพณีอย่างปีเอตะ มีฝักบัวสีขาวหัวสีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์ของลึงค์ ด้านหลังภาพเป็นฉากเบลอ ๆ ดูเหมือนเงา ไม่เน้นให้มีความชัดเจน ภาพนี้อาจแสดงถึงตัวแอ็นสท์กับพ่อของเขา (คนถูกอุ้มคือแอ็นสท์) และงานทั้งหมดเกี่ยวกับชีวิตลำเค็ญในวัยเยาว์ที่ผูกพันกับพ่อ การใช้รูปโบสถ์ทางศาสนาในภาพนี้ ตามหลักจิตวิทยาของฟร็อยท์เป็นลักษณะเหนือความจริงที่มุ่งต่อต้านศาสนากรณีนี้อาจชี้ให้เห็นเป็นพิเศษจากรูปของแอ็นสท์ซึ่งพ่อของเขาเป็นผู้เลื่อมใสในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกและยังเป็นผู้อุทิศตนต่อสังคมในด้านอื่น ๆ เช่น เป็นครูสอนคนพิการผู้เป็นใบ้ เป็นผู้คัดลอกผลงานศิลปะในศาสนาคริสต์ แอ็นสท์วาดภาพนี้ต่อต้านบิดาผู้เคร่งศาสนาซึ่งกลายเป็นคู่ปรปักษ์ของเขา โดยนำเสนอภาพบิดาที่กำลังโอบอุ้มตัวเขาซึ่งแข็งเป็นหิน เป็นการเลียนแบบภาพพระแม่อุ้มศพพระเยซูหลังจากถูกนำลงมาจากไม้กางเขน ปมเรื่องอีดิปัสที่ฟร็อยท์นำมาตีความโดยใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เป็นที่สนใจของจิตรกรเซอร์เรียลลิสม์ เช่น แอ็นสท์และดาลี มาก เนื่องขากในวัยเด็ก ทั้งคู่มีความขัดแย้งกับบิดาที่ถึงเป็นคู่แข่งในการรักความรักจากแม่ ทั้งยังมีความกลัวว่าบิดาจะตัดอวัยวะเพศของตนอีกด้วย

La Foresta Imbalsamata, 1933. Oil on canvas, 162 × 253 cm. Praivate Collection, New York

La Foresta Imbalsamata

ภาพนี้เป็นผลงานชิ้นหนึ่งในชุดเกี่ยวกับป่า ที่ทำขึ้นในราวช่วง ค.ศ. 1933 เป็นรูปช่วงหลังที่เขาทำขึ้นในลักษณะนี้ ซึ่งจะเห็นว่าผลงานมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่ทำมาก่อนหน้า ภาพที่เกี่ยวกับป่าลักษณะนี้ สร้างชื่อให้กับแอ็นสท์ในด้านเทคนิคการวาดภาพแบบใหม่ เกิดเป็นงานระดับสูงสุดด้านจิตรกรรม สะท้อนการครุ่นคิดคำนึงถึงความทรงจำในวัยเด็ก ณ บ้านเกิดของเขาที่อยู่ใกล้กับป่าแห่งหนึ่ง เขาบันทึกไว้ว่า พ่อของเขาได้พาเขาเข้าป่าครั้งแรกตอนอายุ 3 ขวบ เขาไม่เคยลืมความประทับใจ และความน่ากลัวที่ได้รับเลย ซึ่งความรู้สึกนี้มักสะท้อนออกมาในภาพเกี่ยวกับป่า ทัศนะมุมมองดวงอาทิตย์และราตรีกาล ในภาพนกพิราบที่บริสุทธิ์ต้องออกมาเผชิญกับความรู้สึกที่มีทั้งความกลัว ความอ้างว้าง

Spring in Paris, 1950. Oil on canvas, 116 × 89 cm. Wallraf-Richartz

Spring in Paris

ภาพนี้ใช้เทคนิคเฉพาะตัวของเขาคือการระบายปาดเกลี่ยสีจากรอยแปรง และการใช้เทคนิคแบบผสมผสานให้เกิดเป็นรูปร่าง ภาพฤดูใบไม้ผลิในปารีส ดูเหมือนเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความเป็นจริงต่อรูปแบบนามธรรม และการทำให้ผิดรูปผิดส่วน ซึ่งพบว่าเป็นลักษณะเฉพาะที่มีในงานของแอ็นสท์ แต่ตรงข้ามกับงานของปิคาสโซ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันมากมาย แต่ทั้งศิลปินทั้ง 2 ก็มีความหมายเหมือนกัน คือ ทั้งคู่ยังคงอยู่ในความเฉียบคมของเมืองป่าคอนกรีต

รูปร่างของคนมีความอ่อนโยนนุ่มนวลด้วยการใช้เส้นโค้ง มีรูปแบบค่อนไปทางแนวนามธรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งความเข้าใจที่สื่อถึงรูปคน ใบหน้าคนถูกซ่อนอยู่ช่วงกลางลำตัวคน และขนาดที่เล็กลงช่วงกรอบพื้นสีฟ้า ด้านบนซ้ายมือของภาพมีการโยงเส้นสีดำหลายเส้นระหว่างรูแหน้ากากและส่วนหัวของรูปคนอาจมองดูเหมือนคนยืนอยู่ในห้องตรงช่องกรอบของหน้าต่าง มองออกไปเห็นท้องฟ้า เป็นการขัดแย้งกันระหว่างรูปร่างรูปทรงของคนที่ประกอบกันขึ้นมาด้วยเส้นโค้งและตารางกรอบสี่เหลี่ยมของพื้นภาพ สามารถเกิดคำถามขึ้นในใจของผู้ชมว่ารูปนั้นเป็นรูปคนหรือไม่ เพราะรูปทรงนั้นเหมือนมีชีวิต การใช้หลักการลด การตัดทอน ให้คงเหลือเฉพาะส่วนที่จำเป็น เพื่อเน้นความรู้สึกและความหมายของภาพ เป็นการใช้สื่อจากธรรมชาติแล้วพัฒนารูปร่างรูปทรงให้เป็นแบบนามธรรม