พระราชประวัติ ของ มังกยอชวา

วัยเยาว์

มังสามเกลียด หรือ มีนจีซวา เสด็จพระราชสมภพที่หงสาวดี พระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์มีปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า กับ คำให้การขุนหลวงหาวัด ว่าเดิมทรงมีความสนิทสนมกับพระนเรศวรดี ต่อมาได้มีการชนไก่ระหว่างพระนเรศวรและมังกะยอชวา ไก่ของพระนเรศวรชนะไก่ของมังกะยอชวา มังกะยอชวาจึงกล่าววาจาเหยียดหยามพระนเรศวรทำให้พระนเรศวรรู้สึกเจ็บช้ำพระทัย

การเป็นพระมหาอุปราชา

เมื่อ พ.ศ. 2124 ภายหลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ มังสามเกลียดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชา

ศึกเมืองคัง

ในปีที่พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าเมืองคังแข็งเมืองต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนเรศวร พระสังขทัต และพระมหาอุปราชา ไปปราบเมืองคัง หลังจากการตกลงกันมังกะยอชวาจึงยกขึ้นไปตีเมืองคังเป็นพระองค์แรกในเดือน 5 ขึ้น 7 ค่ำ ตั้งแต่สี่ทุ่มแต่ไม่สำเร็จ จนรุ่งสางจึงต้องถอยทัพกลับ หลังจากนั้นสองวันพระนเรศวรทรงสามารถตีเมืองคังได้

กบฏพระเจ้าอังวะและการประกาศอิสรภาพของอยุธยา

ใน พ.ศ. 2127 พระเจ้าอังวะตะโดเมงสอเป็นกบฏ กล่าวกันว่าเพราะพระมหาอุปราชาวิวาทพระชายาซึ่งเป็นธิดาของตะโดเมงสอถึงขั้นทำร้ายตบตีกันจนเลือดตกยางออก ทำให้นางเอาผ้าซับเลือดแล้วใส่ผอบส่งไปให้พระบิดา ทำให้พระเจ้าอังวะแยกตัวออกจากหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงจึงยกทัพไปปราบด้วยพระองค์เอง ส่วนพระมหาอุปราชาได้อยู่รักษาพระนคร

พระนเรศวรได้ยกทัพตามไปช่วยปราบกบฏอังวะด้วยโดยยกไปช้า ๆ ความตอนนี้ต่างกันในพงศาวดารไทยกับพม่า

  • พงศาวดารไทย กล่าวว่าพระมหาอุปราชาวางแผนประทุษร้ายพระนเรศวร ทำให้พระนเรศวรประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนผู้คนก่อนจะหนีกลับกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาจึงจัดทัพตามไป ให้สุรกำมาเป็นกองหน้า เมื่อสุรกำมาถูกพระนเรศวรยิงตายพระมหาอุปราชาจึงยกทัพกลับ
  • พงศาวดารพม่า กล่าวว่าพระนเรศวรยกทัพมาถึงเมืองหงสาวดี พระมหาอุปราชาจึงมีรับสั่งให้พระนเรศวรเสด็จไปอังวะ แต่พระนเรศวรไม่ฟังและยกเข้ามาตีหงสาวดีและตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ พระมหาอุปราชาจึงให้ทหารขึ้นประจำเชิงเทินกำแพงเมือง แต่เมืองรู้ข่าวว่าพระเจ้านันทบุเรงกำลังเสด็จกลับมา พระนเรศวรจึงกวาดต้อนผู้คนหนีกลับกรุงศรีอยุธยา

ศึกนันทบุเรง

พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรงยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชาทรงยกทัพมาด้วยแล้วตั้งค่ายที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตะวันออกของพระนคร ได้ทรงให้กองทัพม้าตีทัพพระยากำแพงเพชรที่มาป้องกันผู้คนที่ออกไปเกี่ยวข้าวแตกพ่าย การรบติดพันมาถึง พ.ศ. 2130 พระเจ้านันทบุเรงจึงทรงยกทัพกลับ พระมหาอุปราชาก็ยกทัพกลับด้วย

พระมหาอุปราชาตีกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. 2133 สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ พระเจ้านันทบุเรงจึงให้พระมหาอุปราชายกไปตีกรุงศรีอยุธยา แต่ก็เสียทีจนกองทัพแตกพ่ายจนพระองค์เกือบถูกจับได้ พระมหาอุปราชาเสด็จกลับถึงหงสาวดีเมื่อเดือน 5 พ.ศ. 2134 ทรงถูกพระราชบิดาภาคทัณฑ์ให้ทำการแก้ตัวใหม่

สงครามยุทธหัตถี

ตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน แสดงถึงสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา

พระเจ้านันทบุเรงจึงมีรับสั่งให้พระมหาอุปราชมังกะยอชวาไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง พระองค์เสด็จจากหงสาวดีเมื่อ วันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น 7 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2135

เช้าของวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงช้างที่กำลังตกมัน ในระหว่างการรบจึงวิ่งไล่ตามพม่าหลงเข้าไปในแดนพม่า มีเพียงทหารรักษาพระองค์และจาตุรงค์บาทเท่านั้นที่ติดตามไปทันสมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าเท้าพระยา จึงทราบได้ว่าช้างทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพ และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้เป็นเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสช้างนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้นเจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวรทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

แต่ในมหาราชวงศ์ระบุว่า การยุทธหัตถีครั้งนี้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรบุกเข้าไปในวงล้อมของฝ่ายพม่า ฝ่ายพม่าก็มีการยืนช้างเรียงเป็นหน้ากระดาน มีทั้งช้างของพระมหาอุปราชา ช้างของเจ้าเมืองชามะโรง ทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ระดมยิงปืนใส่ฝ่ายพม่า เจ้าเมืองชามะโรงสั่งเปิดผ้าหน้าราหูช้างของตน เพื่อไสช้างเข้ากระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรเพื่อป้องกันพระมหาอุปราชา แต่ปรากฏว่าช้างของเจ้าเมืองชามะโรงเกิดวิ่งเข้าใส่ช้างของพระมหาอุปราชาเกิดชุลมุนวุ่นวาย กระสุนปืนลูกหนึ่งของทหารฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรก็ยิงถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์[3]

ใกล้เคียง

มังกยอชวา มังกยอชวา (แก้ความกำกวม) มังกะยอชวาที่ 2 แห่งอังวะ มังกะยอชวาแห่งแปร มังรายกะยอชวา มังรายกะยอชวาที่ 1 แห่งอังวะ มังรายกะยอชวา (แก้ความกำกวม) มังรายกะยอชวาที่ 2 แห่งแปร