ประวัติ ของ มาดอนนาแห่งเคียฟ

ในวันแรกของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย พ.ศ. 2565 ภาพของแตจานา บลิซญัก (Тетяна Блізняк) หญิงวัย 27 ปี กำลังให้นมแก่มาริชกา (Марічка) บุตรสาววัย 3 เดือนของเธอ ขณะเข้าไปหลบในอุโมงค์ของสถานีรถไฟใต้ดินอูนีแวร์ซือแตต (Університет) ของสายสเวียตอชึนสกอ-บรอวาร์สกา (Святошинсько-Броварська) ในกรุงเคียฟ เพื่อป้องกันตัวเองจากกองกำลังของสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธร่อนใส่กรุงเคียฟ ดึงดูดความสนใจของอ็อนดราช เฟิลแด็ช นักข่าวชาวฮังการีของสำนักข่าว Telex.hu โดยสัญชาตญาณเขาได้ถ่ายภาพดังกล่าว ผู้หญิงคนนี้หลบภัยในรถไฟใต้ดินพร้อมกับสามีและลูกตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 แม้ว่าพวกเขาควรจะต้องอพยพในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากการสู้รบพวกเขาจึงไม่สามารถออกจากอุโมงค์ที่ใช้เป็นที่กำบังอยู่ได้[3][4] ภาพถ่ายดังกล่าวกลายเป็นไวรัลและได้รับการแชร์โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสำนักเลขาธิการวาติกัน[5] มารือนา ซอลอแมนนือกอวา (Марина Соломенникова) ศิลปินชาวยูเครนจากดนีปรอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้เห็นภาพ เธอใช้ภาพสัญลักษณ์ของหญิงคนนี้เป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ภาพวาดพระแม่มารีย์และพระบุตร โดยในภาพแสดงผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงยูเครนแทนผ้าคลุมพระพักตร์ของพระแม่มารีย์ และด้านบนพระเศียรปรากฏรัศมีเป็นภาพของแผนที่รถไฟใต้ดิน ในวันที่ 5 มีนาคม ศิลปินได้โพสต์ภาพเหมือนที่เธอสร้างขึ้นในอินเทอร์เน็ต[6]

ตามคำร้องขอของวิยาแชสเลา ออกุญ (В'ячеслав Окунь) บาทหลวงในคณะเยสุอิตยูเครนซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่กรุงโรม ได้มีการส่งสำเนาของภาพวาด มาดอนนัซแมตรอ (Мадонна з метро) ไปยังประเทศอิตาลีโดยเก็บไว้ในสถานที่ซึ่งคณะบาทหลวงเป็นผู้ดูแล[2] ในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ อัครมุขนายกแห่งนาโปลีได้ถวายภาพวาดเพื่อเป็นวัตถุบูชา[4] ไอคอนนี้จัดแสดงในโบสถ์พระหฤทัยของพระเยซู โดยภาพมีชื่ออย่างลำลองว่า มาดอนนาแห่งเคียฟ โบสถ์ตั้งอยู่ในชุมชนมุญญาโนดีนาโปลีของเมืองนาโปลี ซึ่งมีผู้ลี้ภัยจากยูเครนประมาณ 40 คน[7] ต่อมามีพิธีถวายภาพนี้เป็นวัตถุบูชาโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2565[8]

แตจานา บลิซญัก มาจากแคว้นลวิว เธอจบการศึกษาด้านการบูรณะงานศิลปะจากสถาบันศิลปะแห่งชาติลวิว (Львівська Національна академія мистецтв) ต่อมาเธอได้แต่งงานและย้ายไปเคียฟโดยทำงานในสตูดิโอศิลปะ แตจานือ บลิซญัก ได้ลี้ภัยไปยังลวิวหลังจากการโจมตีของรัสเซีย[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: มาดอนนาแห่งเคียฟ https://www.bfmtv.com/international/tatiana-la-mad... https://agnionline.bu.edu/blog/with-madonna-in-kyi... https://index.hu/kulfold/2022/04/20/haboru-ukrajna... https://telex.hu/kulfold/2022/03/14/ukrajna-kijev-... https://news.robadadonne.it/madonna-di-kiev-ucrain... https://aleteia.org/2022/03/28/ukrainian-mother-br... https://www.libertatea.ro/stiri/tania-blizniak-mad... https://www.puterea.ro/madona-del-metro-la-napoli/ https://www.arte.tv/fr/videos/107710-115-A/le-rega... https://risu.ua/en/icon-of-the-madonna-of-kyiv-dep...