มาตราตวงของไทยโบราณ ของ มาตราตวง

มีการใช้ ทะนาน ถัง ตวงสิ่งของ ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับเรื่องการตวงของแข็งมากกว่า เช่น เราคงทราบเรื่องการละเล่นของเด็กไทยอย่างหนึ่งที่มีเนื้อร้องตอนเล่น ว่า

 “รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก
 เลือกท้องใบลาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน
 คดข้าวใส่จาน พานเอาคนข้างหลังไว้” [1]

ทะนาน เป็นเครื่องตวงอย่างหนึ่ง ทำด้วยกะลามะพร้าว [2] โดยที่ 20 ทะนานเป็น 1 ถัง แล้วยังมี ทะนานหลวง ซึ่งเท่ากับ 1 ลิตรในระบบเมตริก ด้วย

นอกจาก ถัง แล้ว ยังมีอีกคำคือ สัด ซึ่ง สัด ก็เป็นภาชนะสานที่ใช้ตวงข้าว ส่วนถังนั้นสมัยโบราณทำด้วยไม้ คงมีการใช้ ถัง กับ สัด ปน ๆ กัน แต่ถัง กับ สัด มีขนาดไม่เท่ากัน ไม่ควรใช้แทนกัน ดังมีคำกลอนจากนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ [3] ตอนหนึ่ง ซึ่งนำคำ ถัง กับ สัด ไปเปรียบเทียบกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ว่า

“ จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง

จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาคร”

มีข้อมูล พระราชบัญญัติ มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2466 (รัชกาลที่ 6)
มาตรา 13 ข้อ 2 วิธีประเพณี โดยระบุว่า นาม, อัตรา และ อักษรย่อ ตามลำดับ
  • เกวียนหลวง ให้เท่ากับ สองพันลิตร (กว.)
  • บั้นหลวง ให้เท่ากับ พันลิตร (บ.)
  • สัดหลวง ให้เท่ากับ ยี่สิบลิตร (ส.)
  • ทะนานหลวง ให้เท่ากับ หนึ่งลิตร (ท.)

(ทนาน เขียนตามที่ปรากฏใช้ในพระราชบัญญัตินี้ ปัจจุบัน พจนานุกรมใช้ ทะนาน)

ไม่มีระบุเกี่ยวกับถังว่าเป็นเท่าไร

ยังมีหน่วยโบราณอื่น ๆ ที่มีขนาดน้อยกว่า ทะนาน เป็นการวัดโดยประมาณ เช่น

  • 4 กำมือ (มุฏฐิ) = 1 ฟายมือ (กุฑวะ)
  • 2 ฟายมือ = 1 กอบมือ (ปัตถะ)
  • 2 กอบ = 1 ทะนาน (นาฬี หรือ นาลี) เป็นต้น[4]

ขนาด “ฟายมือ” คือ เต็มอุ้งมือ หรือ เต็มฝ่ามือที่ห่อเข้าไป

จะเห็นว่า หน่วยสำหรับการตวงก็มีมากพอสมควร ขึ้นอยู่กับความนิยม วัสดุรอบตัว ถัง กระบุง กะลา อวัยวะต่างๆ มือ แขน ซึ่งบางครั้งมีขนาดไม่แน่นอน อาจเกิดความไม่แน่ใจจนเกิดเป็นอุปสรรคในการวัดที่ดีพอสำหรับใช้งาน ควรเลือกใช้มาตราตวงที่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือได้เพียงพอสำหรับการใช้งานนั้นๆ

หากจะหาปริมาตรตามหน่วยโบราณ เทียบกับหน่วยหลวง อาจคิดย้อนจาก

  • 1 หยิบมือ = 150 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 หยิบมือ = 1 กำมือ = 600 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 กำมือ = 1 ฟายมือ = 2,400 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 2 ฟายมือ = 1 กอบมือ = 4,800 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 4 กอบมือ = 1 ทะนาน = 19,200 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 20 ทะนาน = 1 สัด = 384,000 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 50 สัด = 1 บั้น = 19,200,000 เมล็ดข้าวเปลือก
  • 2 บั้น = 1 เกวียน หรือ 100 ถัง = 38,400,000 เมล็ดข้าวเปลือก

โดยเอาปริมาตรเมล็ดข้าวเปลือกเป็นเกณฑ์ (ไม่ทราบว่าเมล็ดข้าวเปลือกพันธุ์ใดที่โบราณใช้)