มาร์ดุก
มาร์ดุก

มาร์ดุก

มาร์ดุก (อักษรรูปลิ่ม: 𒀭𒀫𒌓 dAMAR.UTU; ภาษาซูเมอร์: amar utu.k "บุตรแห่งพระอาทิตย์"; ภาษากรีก Μαρδοχαῖος,[1] Mardochaios; ภาษาฮีบรู: מְרֹדַךְ, marōḏaḵ) เป็นเทพเมโสโปเตเมียในยุคหลัง มาร์ดุกเป็นเทพประจำเมืองบาบิโลน และเป็นเทพแห่งน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์ พระองค์เป็นโอรสของเทพอีอา (เองกีในซูเมอร์)[2] กับดัมกัลนูนา[3] มีพระชายาคือซาปาร์นิต และมีโอรสคือเนโบ เทพแห่งปัญญาและการรู้หนังสือ มีอาวุธประจำกายคืออาวุธแห่งสายลมอิมฮุลลู และพาหนะเป็นมังกรมุชคุชชู ในช่วงที่บาบิโลนปกครองโดยพระเจ้าฮัมมูราบี มาร์ดุกมีความเกี่ยวข้องในทางโหราศาสตร์กับดาวพฤหัสบดี[4]ที่มาของพระนามมาร์ดุกมาจาก amar-Utu ("บุตรผู้เป็นอมตะของอูตู" หรือ "บุตรเยาว์วัยของสุริยเทพอูตู")[5] สะท้อนถึงที่มาหรือความเกี่ยวข้องกับเมืองซิปปาร์ซึ่งมีอูตูเป็นเทพประจำเมือง[6] สถานภาพเดิมของมาร์ดุกยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ภายหลังพระองค์ถูกเชื่อมโยงเข้ากับน้ำ พืชพันธุ์ การพิพากษา และเวทมนตร์[7] ตามเอนูมาเอลิช ตำนานการถือกำเนิดของบาบิโลเนียกล่าวว่า มาร์ดุกซึ่งเป็นเทพที่แข็งแกร่งที่สุดในหมู่เทพรุ่นหลังได้ทำสงครามกับเทพยุคแรกเริ่มติอามัตเป็นเวลา 12 วันจึงปราบติอามัตลงได้ จากนั้นมาร์ดุกทรงสร้างสวรรค์และโลกจากร่างติอามัต และปรึกษากับเทพอีอาก่อนจะสร้างมนุษย์คนแรกชื่อลัลลูจากชิ้นส่วนเทพที่สนับสนุนติอามัตเพื่อให้เป็นบริวาร[8] ชาวบาบิโลเนียมีการเฉลิมฉลองชัยชนะของมาร์ดุกเหนือติอามัตในเทศกาลแซกมัก หรือวันขึ้นปีใหม่ช่วงเดือนธันวาคมเป็นเวลา 12 วัน[9] โดยกษัตริย์บาบิโลนจะเป็นตัวแทนมาร์ดุก ประกอบพิธีเฮียรอสกามอสและต่อสู้ในการรบแบบจำลอง[10]มาร์ดุกเป็นเทพประจำเมืองบาบิโลน เมื่อบาบิโลนกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจในหุบเขายูเฟรตีสในรัชสมัยพระเจ้าฮัมมูราบีราวศตวรรษที่ 18 ก่อนคริสตกาล มาร์ดุกค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นเทพสูงสุดของปวงเทพบาบิโลเนีย และแทนที่เทพเอนลิลในฐานะเทพสูงสุดอย่างสมบูรณ์หลังรัชสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ที่ 1 ช่วงศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล[11] ต่อมาในสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล มาร์ดุกได้รับการบูชาในพระนามเบล อันเป็นการผสานเทพมาร์ดุก เทพเอนลิล และเทพดูมูซิด[12][13] มีการประดิษฐานรูปเคารพมาร์ดุกไว้ที่วิหารอีซากิลาและซิกกุรัตอีเทเมนันกี[14] ซึ่งภายหลังเฮโรโดตัสบันทึกว่าถูกเซิร์กซีสที่ 1 แห่งจักรวรรดิอะคีเมนิดขนย้ายออกไปตอนพระองค์ปราบกบฏในบาบิโลนเมื่อ 482 ปีก่อนคริสตกาล[15] หลังจากนั้นวิหารก็ถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นซากปรักหักพังช่วงบาบิโลนตกอยู่ใต้อำนาจจักรวรรดิพาร์เธียราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล[16]