รูปแบบรายการ ของ มาสเตอร์คีย์

รูปแบบรายการของมาสเตอร์คีย์จะเป็นรูปแบบรายการเกมโชว์เป็นหลักและถูกเปลี่ยนชื่อแต่ยังคงใช้คำว่า มาสเตอร์คีย์ อยู่เสมอ โดยระยะแรกมาสเตอร์คีย์เป็นรายการเกมโชว์ซึ่งเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันไปหลายรูปแบบเพื่อตามความเหมาะสมของชื่อรายการ ทว่าในมาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากรายการเกมโชว์เป็นรายการประเภทประกวดร้องเพลงซึ่งเป็นครั้งแรกในช่วง 17 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการที่เป็นเกมโชว์

มาสเตอร์คีย์ (พ.ศ. 2537 - 2539)

ในแต่ละสัปดาห์มีผู้เข้าแข่งขัน 4 ท่าน โดยในวันจันทร์ถึงวันพุธ จะต้องแบ่งเป็น 2 ทีม ๆ ละ 2 คน เพื่อที่จะมาเล่นเกมสะสมคะแนนในแต่ละวันให้มากที่สุด คะแนนที่ติดตัวมาของแต่ละท่านในวันดังกล่าวจะมาใช้ในวันพฤหัสบดีเพื่อมาทำการคัดเลือกเหลือผู้แข่งขันเพียง 2 ท่านเข้ารอบไปเล่นในวันศุกร์ และให้เหลือ 1 ท่าน เพื่อไปเล่นเกมในรอบแจ็คพอต เกมที่ทำการแข่งขัน มีหลากหลายรูปแบบ เช่น วาดภาพทายคำ,บอกใบ้ทายคำ,ปิดตาคลำของ,เพลงปริศนา,ใช่หรือไม่,วัดดวง วัดใจ,มากกว่า น้อยกว่า,และประตูกล ส่วนรอบแจ็คพอตจะเป็นการจับคู่แม่กุญแจกับลูกกุญแจให้ครบ 6 คู่ โดยจะมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนหลักทั้งหมด 16 แผ่นป้าย แต่ละคู่ที่จับคู่ได้จะได้เงินรางวัลคู่ละ 5,000 บาท ถ้าผู้แข่งขันสามารถทำได้ครบทั้ง 6 คู่ จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท(ภายหลังเพิ่มเงินรางวัลเป็น 400,000 บาท) แต่ถ้าจับคู่ไม่เหมือนกันจะไม่ได้เงินรางวัล กรณีที่เปิดแผ่นป้ายพบโลโก้รายการมาสเตอร์คีย์จะได้รับสิทธิพิเศษ เพราะป้ายโลโก้สามารถจับคู่กับอะไรก็ได้ ส่วนหากเปิดเจอป้ายล็อกเกมจะจบลงทันที พร้อมกับได้รับเงินรางวัลสะสมที่เหลือกลับบ้านไป อนึ่ง ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันคนไหนกดไฟติดกัน 3 วันติด จะได้รับเงินรางวัลพิเศษ 10,000 บาท จากผู้สนับสนุนหลักทันที(ผู้สนับสนุนหลักในการมอบเงินรางวัลพิเศษ คือ เครื่องสำอางมิสทิน)

นอกจากนี้ยังมีช่วงศูนย์ปริศนา(ผู้สนับสนุนหลักในการชิงโชคคือ ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล) โดยในแต่ละวันจะมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือของทั่วไปอย่างละ 1 ชิ้น มานำเสนอ หลังจากนั้นจะตัดตัว 0 ในหลักสุดท้ายออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโทรศัพท์เข้ามารับสิทธิ์ซื้อสินค้าในราคาพิเศษจากทางรายการในวันที่ออกอากาศเท่านั้น หลังจากนั้นตั้งแต่ปี2538ได้มีการเปลี่ยนแปลงร่วมสนุกโดยการส่งคูปองชิงโชค เพื่อจับ1ผู้โชคดีในแต่ละวัน โดยกติกายังคงเหมือนเดิมทุกประการ

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

[1]

มาสเตอร์คีย์ ฟอร์เอฟเวอร์ (พ.ศ. 2540 - 2543)

ในแต่ละสัปดาห์มีผู้เข้าแข่งขัน 4 ท่าน โดยในวันจันทร์ถึงวันพุธ จะต้องแบ่งเป็น 2 ทีม ๆ ละ 2 คน เพื่อที่จะมาเล่นเกมสะสมคะแนนในแต่ละวันให้มากที่สุด คะแนนที่ติดตัวมาของแต่ละท่านในวันดังกล่าวจะมาใช้ในวันพฤหัสบดีเพื่อมาทำการคัดเลือกเหลือผู้แข่งขันเพียง 2 ท่านเข้ารอบไปเล่นในวันศุกร์ และให้เหลือ 1 ท่าน เพื่อไปเล่นเกมแจ็คพอต เกมที่ทำการแข่งขัน มีหลากหลายรูปแบบ เช่น วาดภาพทายคำ,บอกใบ้ทายคำ,ปั้นหุ่นหรรษา,ปิดตาคลำของ,แฝดใบ้คำ,สกัดดาวรุ่ง,ประตูกล,ทายใจ ใครเจ๋ง,ทีเด็ดมาสเตอร์คีย์และตู้อบสยบโชค ส่วนรอบแจ็คพอตจะเป็นการเรียงตัวเลขที่เป็นรูปกุญแจ 1-4 ดอกในแต่ละแถว โดยจะมีแผ่นป้ายผู้สนับสนุนหลักทั้งหมด 16 แผ่นป้าย ถ้าเรียงถูกในแต่ละแถวจะได้รับเงินรางวัลคู่ละ 20,000 บาท หากผู้แข่งขันสามารถเรียงถูกครบทั้ง 4 แถว จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 400,000 บาท(ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป ได้ปรับเงินรางวัลในรอบแจ็คพอตเหลือเพียง 200,000 บาท) แต่ถ้าเรียงได้ 3,4หรือ1 จะได้รับเงินรางวัลป้ายละ 5,000 บาท นอกจากนี้ถ้าผู้เข้าแข่งขันสามารถเปิดป้ายได้ตัวเลขเท่ากันครบทั้ง 4 แถว จะได้รับเงินรางวัลพิเศษ 5,000 บาท จากผู้สนับสนุนหลักทันที(ผู้สนับสนุนหลักในการมอบเงินรางวัลพิเศษ คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว ควิก) อนึ่ง ถ้าหากผู้เข้าแข่งขันทีมไหนทำคะแนนรวมได้ 30 คะแนนเต็มในเกมของวันจันทร์และอังคาร จะได้รับเงินรางวัลพิเศษ 10,000 บาท จากผู้สนับสนุนหลักเช่นกัน(ผู้สนับสนุนหลักในการมอบเงินรางวัลพิเศษ คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจาเป่า)ถ้ามาถึงช่วงสุดท้ายจะมีแผ่นป้ายอยู่ 8 ป้าย เป็นเกมโชว์อยู่ 1 ป้าย อีก 7 ป้ายเป็นรางวัลปลอบใจ ถ้าเจอเกมโชว์จะได้สร้อยไข่มุก 3 บาท ถ้าเจอรางวัลปลอบใจจะได้รางวัลปลอบใจ

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มช่วงใหม่ "มาสเตอร์เกม" ในเบรก 2 ซึ่งเป็นคำถามความรู้ทั่วไปทั้งหมด 2 ข้อต่อวัน โดยระยะแรกในช่วงนี้จะเป็นคำถามจากVTR และตั้งแต่ปี2541เป็นต้นไป ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเป็นละครสั้นก่อนเข้าคำถาม ซึ่งหลังจากพิธีกรอ่านคำถามจบ จะให้ผู้แข่งขันแย่งกดปุ่มไฟเพื่อตอบคำถาม ถ้าตอบถูกจะได้เปิด 2 แผ่นป้าย หากผู้เข้าแข่งขันเปิดป้ายได้รูปหน้าพิธีกร (นีโน่ , จ๋า , ป๋าเทพ) คนใดคนหนึ่งครบทั้ง 3 แผ่นป้าย จะได้รับทองคำมูลค่า 2,500 บาท แต่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 ได้ปรับกติกาใหม่คือถ้าผู้แข่งขันตอบถูก แล้วเปิดแผ่นป้ายเจอรูปทองคำ ผู้แข่งขันท่านนั้นและผู้โชคดีทางบ้านที่จับชิ้นส่วน จะได้รับทองคำมูลค่า 2,500 บาททันที และในขณะเดียวกัน หากเปิดป้ายเจอรูปหน้าป๋าเทพ จะไม่ได้รับรางวัล(ผู้สนับสนุนหลักในการชิงโชคคือ ผลิตภัณฑ์ชวาร์สคอฟฟ์ และ ผงซักฟอกโอโม)[2] , [3] , [4] , [5] , [6]

มาสเตอร์คีย์ เดอะวินเนอร์ (พ.ศ. 2544 - 2545)

ในแต่ละวันจะมีผู้แข่งขัน 2 ท่าน(จากทางบ้าน) ซึ่งมาจากการสุ่มของพิธีกร ผู้แข่งขันเหล่านั้นจะต้องมาแข่งขันเล่นเกมกันเพื่อหาเดอะวินเนอร์ในแต่ละวัน เช่น ต่อปากต่อคำ,ฉันผิดตรงไหน,ดูท่าที,เชื่อใคร,ใครใหญ่ ใครอยู่,เปิดป้ายทายเพลง,20 คำถาม,แข่งสารพัด,ใครจะอยู่ ใครจะไป เป็นต้น ผู้ที่เป็นเดอะวินเนอร์จะได้รับกุญแจทองในการสะสม และได้สิทธิ์ในการแข่งขันในวันต่อไป โดยจะได้รับเงินรางวัลสมัยละ 10,000 บาท ถ้าสะสมครบ 10 สมัย จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และมีสิทธิเข้าไปเล่นรอบโบนัสมาสเตอร์คีย์เพื่อชิงรถกระบะ 1 คัน(ภายหลังเปลี่ยนเป็นเงินรางวัล 300,000 บาท) ถ้าไขกุญแจในตู้เซฟปริศนาถูกต้อง

ภายหลังในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ได้มีการปรับรูปแบบและกติกาเล็กน้อย โดยในวันจันทร์-พฤหัสจะมีผู้แข่งขัน 2 ท่าน(จากทางบ้าน) ซึ่งมาจากการสุ่มของพิธีกร ผู้แข่งขันเหล่านั้นจะต้องมาแข่งขันเล่นเกมกันเพื่อหาเดอะวินเนอร์ประจำวัน โดยแบ่งเป็น 3 รอบคือ รอบแรกจะเป็นเกมเกี่ยวกับสำนวนหรือประโยคในภาษาไทย รอบ2 "เมเจอร์เกม" จะเป็นคำถามความรู้ทั่วไปทั้งหมด 2 ข้อต่อวัน และรอบ 3 จะเป็นรอบเกมหลักประจำวัน เช่น ดูท่าที,เชื่อใคร,แข่งสารพัด,ต่อปากต่อคำ เมื่อได้แชมป์ประจำวันครบทั้ง 4 ท่านแล้ว ในวันศุกร์ก็จะไปแข่งอีกทีในรอบ "ใครจะอยู่ ใครจะไป" เพื่อหาเดอะวินเนอร์ประจำสัปดาห์ ไปไขกุญแจปริศนาในตู้เซฟ เพื่อชิงเงินรางวัล 300,000 บาท

มาสเตอร์คีย์ สี่ภาค (พ.ศ. 2545 - 2547)

ในแต่ละสัปดาห์จะมีผู้แข่งขัน 3 ท่าน จะต้องแข่งกันตอบคำถามสะสมเงินรางวัล โดยแต่ละคำถามนั้นจะมาจากละครที่พิธีกรทั้ง 4 คนได้เล่นกัน ซึ่งเกี่ยวกับของดีสี่ภาค หรือเคล็ดลับ โดยจะมีดาราหรือนักร้องมารับเชิญร่วมเล่นละครกับพิธีกร บางครั้งอาจจะให้พิธีกรปรัศนี 3 คน (จ๋า, เทพ และ ถนอม สามโทน) มาร้องเพลงแล้วให้ผู้แข่งขันทายว่า ใครร้องเพลงได้ถูกต้องที่สุด หรือบางครั้งจะเป็นการแข่งขันเกมแบบทีมระหว่างผู้เข้าแข่งขันกับทีมพิธีกร ซึ่งเกมจะเปลี่ยนไปในแต่ละสัปดาห์ ผู้ที่มีคะแนนสะสมมากที่สุดตั้งแต่วันจันทร์-พฤหัส จะผ่านเข้ารอบต่อไป 2 คน เพื่อไปหาผู้ชนะในวันศุกร์ ซึ่งเป็นการวัดดวงจากตู้ปริศนา ถ้าผู้แข่งขันเลือกตู้ถูกจะเข้ารอบแจ็คพอตทันที โดยรางวัลในรอบแจ็คพอตมีมูลค่า 200,000 บาท มีผู้ทำแจ็คพอตแตกเพียงคนเดียวคือ บัณฑิต สาวแก้ว

มาสเตอร์คีย์ 10 ปีทอง (พ.ศ. 2547 - 2548)

ในแต่ละวันจะมีผู้แข่งขัน 2 ท่าน แข่งขันกันตอบคำถามสะสมรางวัล โดยรูปแบบจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับมาสเตอร์คีย์สี่ภาค แต่ต่างกันตรงที่ผู้แข่งขันจะต้องสะสมทองให้ได้มากที่สุด และแต่ละคำถามจะเป็นคำถามโดยทั่วๆไป(คล้ายๆกับรอบ "มาสเตอร์เกม" ใน "มาสเตอร์คีย์ ฟอร์เอฟเวอร์") ผู้ที่ตกรอบจะต้องไปเปิดป้ายลุ้นเงินรางวัล 5,000 หรือ 10,000 บาท และถ้าผู้แข่งขันป้องกันแชมป์ครบ 10 สมัยจะได้ทองคำเพิ่มไปอีก 10 บาททันที มีผู้ที่ทำได้เพียงคนเดียวคือ สุพจน์ จันทร์เจริญ

มาสเตอร์คีย์ มหาสนุก (พ.ศ. 2548 - 2550)

ในระยะแรกนั้น แต่ละสัปดาห์จะมีผู้แข่งขัน 1 ท่าน มาร่วมเล่นละครกับพิธีกรทั้ง 4 ซึ่งมีทั้งหมด 3 รอบ แต่ละรอบจะมีคำถาม 1 คำถามในรูปแบบจริงหรือไม่ให้ผู้แข่งขันตอบ และรอบสุดท้ายจะเป็นการร้องเพลงเติมคำในช่องว่าง ถ้าผู้แข่งขันตอบถูกจะได้ไปเปิดแผ่นป้ายลุ้นกุญแจเงินหรือทอง พร้อมทั้งสะสมกุญแจให้มากที่สุดเพื่อไปลุ้นในรอบโบนัสสะสม

ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย นั่นคือ ถ้าผู้แข่งขันตอบถูกจะได้เปิด 2 ป้าย แต่ถ้าตอบผิดจะได้เปิด 1 ป้าย และในแต่ละรอบจะมีรอบโบนัสนั่นหมายความว่า ผู้แข่งขันได้กุญแจอะไรในรอบโบนัสรอบนั้น จะได้ไขแค่นั้น โดยถ้าผู้แข่งขันได้กุญแจทอง กุญแจนั้นจะเพิ่มค่าเป็น 2 เท่าทันที

ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนผู้แข่งขันโดยมีผู้แข่งขัน 3 ท่าน ต่อสัปดาห์ มาแข่งขันตอบคำถามสะสมรางวัลโดยแต่ละคำถามนั้นจะมีตัวเลือกให้ 2 ตัวเลือก ตอบถูกจะได้เลือก 2 ป้าย ตอบผิดจะได้เลือกแค่ 1 ป้าย สะสมคะแนนให้มากที่สุดในแต่ละรอบ ผู้ที่สะสมคะแนนได้มากที่สุดจะมีสิทธิเข้าไปลุ้นโบนัสรับ 5,000 หรือ 10,000 บาท เมื่อรวมคะแนนทั้ง 3 รอบในแต่ละวันแล้ว ใครสะสมคะแนนได้น้อยที่สุด ผู้นั้นจะต้องเตรียมการแสดงมาโชว์ให้พิธีกรดู ถ้าผู้แข่งขันแสดงได้เป็นที่น่าพอใจต่อพิธีกรแล้วจะถือว่าผ่านทันที แต่ถ้าพิธีกรไม่ชอบหรือไม่พอใจ ถือว่าไม่ผ่าน ผู้แข่งขันจะต้องแสดงใหม่ทันที จนกว่าพิธีกรจะชอบหรือพอใจ จึงจะผ่าน

มาสเตอร์คีย์ ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2550 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551)

ในระยะแรก แต่ละสัปดาห์จะมีผู้แข่งขัน 3 ท่าน แข่งขันตอบคำถามเพื่อชิงสิทธิไปเล่นในรอบโบนัสของแต่ละรอบ โดยแต่ละคำถามนั้นมาจากละครที่มีผู้ช่วยพิธีกร 6 ท่าน ร่วมกันเล่นละคร ซึ่งคำถามนั้นจะมีตัวเลือก 4 ตัวเลือก ผู้แข่งขันท่านใดที่ตอบถูกจะได้รับ 25,000 คะแนน และได้กุญแจไปไขสะสมคะแนนในรอบโบนัสเพื่อลุ้น 25,000 หรือ 50,000 คะแนน หรือประตูผี (ไม่ได้คะแนน)

ในระยะต่อมา ทางรายการได้ปรับกติกาเล็กน้อย โดยช่วงแรกคือ การใช้ภาษาไทย (ผู้แข่งเลือก 1 ป้าย และต้องพูดประโยคที่เลือกมาให้ถูกต้องภายใน 22 วินาที ใครเหลือเวลามากที่สุดผู้นั้นจะเป็นผู้ชนะ) ช่วงที่สองคือ ของดีทั่วไทย (ผู้แข่งจะต้องทายว่าสินค้าปริศนาในวันนั้นคืออะไร โดยวิธี การคลำ การดู และทายจากคำใบ้ ถ้าผู้แข่งคนใดตอบถูกจะเป็นผู้ชนะ) และช่วงที่สามคือ เคล็ดลับแม่บ้าน (ทางรายการจะมีละครให้ผู้แข่งขันดู 1 เรื่อง และตอบคำถามจริงหรือไม่ ผู้แข่งขันต้องแย่งกดไฟตอบ ถ้าตอบถูกจะเป็นผู้ชนะ) โดยเงินรางวัลที่จะได้นั้น มาจากคะแนนสะสมหารด้วย 10 ออกมาเป็นเงินสะสมที่ผู้แข่งได้รับในสัปดาห์นั้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า มาสเตอร์คีย์ไทยแลนด์ เป็นเพียงรูปแบบเดียวของมาสเตอร์คีย์ ที่มีผู้ช่วยพิธีกรที่ร่วมดำเนินรายการ

มาสเตอร์คีย์ คู่หูคู่เพลง (3 มีนาคม พ.ศ. 2551 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2554)

รูปแบบที่ 1

ในแต่ละสัปดาห์จะมีผู้แข่งขันทั้งหมด 4 ท่าน โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ทีมละ 2 คน ในรอบแรกแข่งขันโดยการตอบคำถามเรื่องราวเกี่ยวกับเพลง จากการฟังโจทย์ทั้งหมด 3 ข้อ แล้วเขียนลงกระดานไวท์บอร์ด แต่ละโจทย์มีคะแนนอย่างละ 1 คะแนน และคะแนนดังกล่าวจะเป็นคะแนนสะสมในรอบถัดไป

ในรอบที่ 2 จะเป็นการโชว์ร้องเพลง จะมีเพลงให้เลือก 1 เพลง จากทั้งหมด 4 เพลง โดยที่มีเนื้อเพลงพร้อมกับคำที่หายไปมาให้ โดยที่คำที่หายไปจะมีอยู่ 10 คำ ถ้าร้องคำที่หายไปถูก 1 คำ จะได้คะแนน 1 คะแนน แต่ถ้าร้องเนื้อเพลงที่มาให้ผิด จะถูกหัก 1 คะแนน จากนั้นก็จะนำคะแนนของทั้ง 2 รอบมารวมกัน ถ้าทีมใดมีคะแนนมากที่สุดในแต่ละวันจะได้เข้าไปรอบสะสมเงินรางวัลต่อไป ถ้ามีคะแนนเท่ากัน พิธีกรจะมีคำถามตัดสิน โดย เทพ โพธิ์งาม จะออกมาร้องเพลง จากนั้นจะมีคำถามที่ว่า เพลงที่ เทพ โพธิ์งาม ร้องไปนั้นมีชื่อเพลงว่าอะไร ถ้าตอบถูกจะเข้ารอบสะสมเงินรางวัล

โดยที่ในรอบสะสมเงินรางวัล มีรูปแบบคล้ายกันกับในรอบที่ 2 แต่จะให้เลือกเพลง 2 เพลง จากทั้งหมด 4 เพลง โดยที่เนื้อเพลงของท่อนฮุคจะหายไปทั้งหมด ผู้เข้าแข่งขันจะต้องร้องเพลงท่อนฮุคให้ถูกต้องทั้งหมดจึงจะได้เงินรางวัล ถ้าผิดจะไม่ได้เงินรางวัล เพลงแรกมีเงินรางวัล 5,000 บาท และเพลงที่ 2 มีเงินรางวัล 10,000 บาท (ต่อมามีการปรับเปลื่ยนเป็น ถ้าผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงท่อนฮุคผิด 1 คำ ก็จะไม่ได้รับอะไรในท่อนฮุคนั้นและยังต้องเสียเงินรางวัลคำละ 1,000 บาท)

รูปแบบที่ 2

และได้มีการปรับเปลี่ยนกติกา คือ ในรอบแรกจะมีชุดเพลงอยู่ 4 ชุด (4 แนวเพลง) ชุดละ 3 เพลง ให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกมา 1 ชุดจาก 4 ชุด จากนั้น เทพ โพธิ์งาม จะออกมาร้องเพลงทั้งหมด 3 เพลง แล้วเข้าสู่คำถาม ถ้าทีมใดมีคะแนนมากกว่าจะได้ไปสะสมเงินรางวัล 10,000 บาท ส่วนทีมที่มีคะแนนน้อยกว่าจะได้ไปสะสมเงินรางวัล 5,000 บาท ถ้ามีคะแนนเท่ากันพิธีกรจะมีแผ่นป้าย 2 แผ่นป้าย โดยที่ป้ายหนึ่งเป็นป้ายโน้ตกุญแจซอล อีกป้ายหนึ่งเป็นป้ายกุญแจผี ถ้าทีมใดเปิดป้ายได้โน้ตกุญแจซอลจะได้ไปสะสมเงินรางวัล 10,000 บาท ส่วนทีมที่เปิดได้กุญแจผีจะได้ไปสะสมเงินรางวัล 5,000 บาท

รูปแบบที่ 3 (ฉากใหม่)

โดยในตอนหลังได้ปรับรูปแบบใหม่ โดยจะมีผู้แข่งขันทั้งหมด 4 คน เช่นเดิม แต่ในรูปแบบนี้ต้องเล่นแบบแข่งกันเอง โดยกติกาคือทางรายการจะเชิญนักร้องประจำวันมาร่วมร้องเพลง และมาเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับศิลปินในแต่ละวัน วันละ 2 ข้อ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับศิลปินให้ถูกต้อง ถ้าตอบถูกจะได้คะแนนสะสม 1 คะแนนไป โดยคะแนนจะสะสมไปเรื่อย ๆ จนถึงวันศุกร์ (หรือวันสุดท้ายของการแข่งขัน) ผู้แข่งขันคนใดทำคะแนนได้มากที่สุดจะได้ไปเล่นรอบโบนัสในวันศุกร์ (หรือวันสุดท้ายของการแข่งขัน) โดยกติกาคือ ทางรายการจะมีแผ่นป้ายทั้งหมด 4 แผ่นป้าย โดยแบ่งเป็น 5,000 บาท 2 แผ่นป้าย และ 10,000 บาท 2 แผ่นป้าย ผู้แข่งขันที่ผ่านเข้ารอบมาจะต้องเลือกแผ่นป้าย 1 แผ่นป้ายเพื่อรับเงินกลับบ้านไป

มาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด (7 มีนาคม พ.ศ. 2554 - ปัจจุบัน)

ต่อมา มาสเตอร์คีย์ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการใหม่ โดยจะเปลี่ยนเป็นเวทีจัดประกวดนักร้องเพื่อปั้นให้เป็นซูเปอร์สตาร์ จึงเปลี่ยนชื่อรายการเป็น มาสเตอร์คีย์ เวทีแจ้งเกิด ตั้งแต่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

โดยการคัดเลือกซูเปอร์สตาร์ จะมาจากการออดิชั่นผู้สมัครอายุ 15-20 ปี ให้เหลือ 48 คน เข้าสู่รอบดวลไมค์ โดยมีคณะกรรมการคือ ไก่ วรายุฑ มิลินทจินดา, รัดเกล้า อามระดิษ, ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค, แต๋ง ภูษิต ไล้ทอง, อิน บูโดกัน, บอย โกสิยพงษ์ จากนั้นก็จะคัดเหลือ 8 คนสุดท้าย และทั้ง 8 คนจะจับคู่กับเทรนเนอร์ เบน ชลาทิศ (ชลาทิศ ตันติวุฒิ), โจ๊ก โซคูล (กรภพ จันทร์เจริญ), อุ๋ย บุดดาเบลส (นที เอกวิจิตร), พีท THE STAR (พล นพพิชัย), กิ่ง THE STAR (เหมือนแพร พานะบุตร), แชมป์ ศุภวัฒน์ พีรานนท์, พัดชา AF2 (พัดชา เอนกอายุวัฒน์) และ แพรว - คณิตกุล เนตรบุตร ทั้งหมดจะขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมโหวตเพื่อหาผู้ชนะป็อบปูลาร์โหวต รับรางวัล 1 แสนบาท และผู้ชนะจากการตัดสินได้ 1 แสนบาท และถ้วยประทานจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

รายชื่อ 8 คนสุดท้าย มาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด season 1

รหัสชื่อเล่น
M1แพทตี้ ปาลิดา นิ่มพิจารณ์
M2อัญ อัญชิสา มุ่งหาผล
M3กุ๊ก อรสุรางค์ อุดจัง
M4ไหม จิดาภา ศุภนิมิตวงศ์
M5วี วิภาวี เตชะสุรางค์
M6แจ๊กกี้ พิรชัชย์ สุวัฒน์ทวีชัย
M7ลูกตาล ณัฏฐณิชา ชวนประเสริฐ
M8สต็อป ภูริวัชร์ งามทรัพย์มณี

รายชื่อ 10 คนสุดท้าย มาสเตอร์คีย์เวทีแจ้งเกิด season 2

รหัสชื่อเล่น
M1ชีส
M2ฟัง
M3กวาง อริศรา หอมกรุ่น
M4พูม ภูมิสิทธิ์ วงศ์สมบูรณ์
M5พลอย สินีพร จิลลานนท์
M6เกรซ เกวลิน พูลภีไกร
M7ป่าน
M8อาร์ม อรรถพล เหล่าแสงไทย
M9อาร์ติส
M10เพลง

ใกล้เคียง

มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันที่ 3 มาสเตอร์เชฟ ออล สตาร์ส ไทยแลนด์ มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันที่ 6 มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันที่ 5 มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันที่ 2 มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันที่ 1 มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซันที่ 4 มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ (ฤดูกาลที่ 1) มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ (ฤดูกาลที่ 2)

แหล่งที่มา

WikiPedia: มาสเตอร์คีย์ //scholar.google.com/scholar?q=%22%E0%B8%A1%E0%B8%... //www.google.com/search?&q=%22%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E... //www.google.com/search?as_eq=wikipedia&q=%22%E0%B... //www.google.com/search?q=%22%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0... //www.google.com/search?tbs=bks:1&q=%22%E0%B8%A1%E... https://www.youtube.com/watch?v=3D5M0JG9DcI https://www.youtube.com/watch?v=ArrYpA-9tG0&t=734s https://www.youtube.com/watch?v=DkBh2N9tPkg https://www.youtube.com/watch?v=WvTc4NcAh1M https://www.youtube.com/watch?v=hEZIr0IItGo&t=75s