ยมก

ยมก หรือยมกปกรณ์ หรือมูลยมก เป็นหนึ่งในคัมภีร์ของพระอภิธรรมปิฎก คำว่า ยมก แปลว่า "คู่" ดังในอรรถกถายกตัวอย่างคำว่า ยมกปาฏิหาริย์ หมายถึง ปาฏิหาริย์คู่ หรือคำว่า ยมกสาลา หมายถึง ไม้สาละคู่ เป็นต้น [1] ยมกเป็นคัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และมีการทดสอบความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, กรือคำถามที่ว่ารูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ (ทั้งหมด) เป็นรูป, หรือคำถามที่ว่าทุกข์ (ทั้งหมด) เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ ดังนี้ [2]หลักธรรมหลักที่นำมาอธิบายแจกแจงในคัมภีร์ยมกมีทั้งสิ้น 10 หลักธรรม ซึ่งในพระไตรปิฎกที่แบ่งคัมภีร์ยมกออกเป็น 2 ส่วน หรือ 2 เล่ม เช่นฉบับภาษาไทย จะแบ่งหลักธรรมเป็น 2 ส่วน [3] ในเล่มแรกหลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มแรกมี 7 ข้อ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น ส่วนในเล่ม 2 แบ่งออกเป็น 3 หลักธรรม คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก รวมเป็น10 ยมก [4]