ประวัติ ของ ยามะซะตอ

ยามะซะตอเป็นมุขปาฐะที่สืบมาแต่รัชสมัยพระเจ้าอโนรธา กษัตริย์แห่งพุกาม เพราะที่วัดนะเลาน์ (နတ်လှောင်ကျောင်း Nathlaung Temple) เทวสถานที่สร้างเพื่อบูชาพระวิษณุในกำแพงเมืองพุกามนั้นมีประติมากรรมหินรูปพระรามชื่อว่า "รามจันทระ" (Ramachandra) แต่มิทราบว่ามีความเกี่ยวข้องอันใดกับรามายณะฉบับวาลมีกิ แต่อย่างน้อยหนุมานเป็นที่รู้จักในพม่าก่อนปี พ.ศ. 2070 เพราะพบรูปพระรามประทับบนหลังหนุมาน แต่หลังจากนั้นอีกหกศตวรรษก็ไม่ปรากฏรามายณะเป็นลายลักษณ์อักษรอีกเลย[1]

กระทั่งถึงยุคราชวงศ์คองบอง กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้กวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเชลย ชนเหล่านี้มีทั้งเจ้านาย ช่างฝีมือ นักแสดง และนักดนตรีรวมอยู่ด้วย หลังจากนั้นเป็นต้นมารามายณะฉบับพม่าจึงรับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ของอาณาจักรอยุธยาค่อนข้างสูงผ่านเชลยเหล่านี้[1] เหล่าเชลยจึงก่อตั้งคณะละครที่ยังแต่งกายตามประเพณีและการร่ายรำแบบอยุธยาดั้งเดิม เกิดโขนรามเกียรติ์ภาษาพม่าในราชสำนักอังวะจนได้รับความนิยม[1]

รามายณะฉบับพม่าพัฒนาผ่านงานศิลปะแขนงต่าง ๆ จนกลายเป็นยุคทองของยามะซะตอ เช่น รามายณะฉบับอู ออง พโย (U Aung Phyo) เริ่มแต่พลกัณฑ์จนถึงยุทธกัณฑ์ ปี พ.ศ. 2318, บทกวีรามายณะของอูโท (U Toe) มีสองบทคือ บทร้องพระราม (ရာမရကန် Yama yakan) และบทร้องนางสีดา (သီတာရကန် Thida yakan) ปี พ.ศ. 2327, การแสดงพระราม (ရာမပြဇာတ် Yama pyazat) ปี พ.ศ. 2332 และเรื่องราวของพระรามขณะทรงพระเยาว์ (ကလေးရာမဝတ္ထ Kalay Yama wuthtu) ปี พ.ศ. 2343[2] นอกจากนี้พระนางตะเคง (Thakin) พระมเหสีในพระเจ้าจิงกูจา ทรงริเริ่มนำทำนองดนตรีและเพลงพม่าเข้าแทนที่เพลงอยุธยาดั้งเดิม ทั้งทรงพระราชนิพนธ์เพลงใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนักแสดงใหม่ เพราะมองว่าผ้านุ่งของไทยดูไม่เป็นผู้หญิงเท่าที่ควร[3]

ในยุคพระเจ้ามินดง ถือเป็นยุคเสื่อมของยามะซะตอ เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงเคร่งครัดในพุทธศาสนา ทรงมองว่าละครเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ แต่ก็มีการแสดงยามะซะตอนี้ในรัชกาลอยู่บ้าง[4] ในเวลาต่อมามีครูละครคนหนึ่งตัดสินใจไปตั้งคณะละครในพม่าส่วนที่ตกเป็นของสหราชอาณาจักรเพราะมิอาจทนสภาวะการเมืองที่ไม่ปรกติในราชสำนัก และแสดงกันเองกลางพื้นดินเพราะไม่มีเวทีและฉากสวยงามดังก่อน[5]

นอกจากนี้ยังมีรามายณะฉบับมอญที่ชื่อว่า "Loik Samoing Ram" รจนาโดยพระอุตตมะเมื่อปี พ.ศ. พ.ศ. 2377 ซึ่งใกล้เคียงกับฉบับพม่า ผู้เขียนอธิบายว่าเพราะเมืองหลวงนิยมรามายะฉบับพม่า อย่างไรก็ตามรามายณะฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับฉบับภาษาไทย ชวา และมลายู และมีตอนพิเศษที่ต่างออกไปจากฉบับภาษาไทย พม่า และมลายู[6]