ประวัติความเป็นมาในประเทศไทย ของ ยิวยิตสู

จูจุสึในประเทศไทย ได้เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2464 เช่นกันแต่ภายหลังเนื่องจากกีฬายูโดเริ่มแพร่หลายทั่วโลก จูจุสึถูกมองว่ามีความรุนแรงจนเกินไป จึงได้เกิดการปรับเปลี่ยนการฝึกโดยทั่วไปเป็นการฝึกกีฬายูโด

ถึงแม้ปัจจุบันจะหาหลักฐานถึงการสอนจูจุสึในไทยได้ค่อนข้างน้อย แต่ก็ยังมีบันทึกถึงเรื่องการฝึกจูจุสึในช่วงแรก เช่น


ในหนังสืออนุสรณ์งานศพของครูทิม อติเปรมานนท์ [1]บิดาแห่งยูโดของประเทศไทยสายดำ (โชดัน) เกียรตินิยมคนแรกของประเทศไทย จากสถาบันโกโดกวัน กรุงโตเกียวได้มีการกล่าวถึงประวัติญูญิตสูไว้หลายส่วน รวมถึงในคำไว้อาลัยด้วย ซึ่งพอจะนำมาบางส่วน เช่น

คุณสิทธิผล ผลาชีวิน เขียนคำอาลัยไว้ว่าถ้าพูดถึง “ยูโด”แล้วเมื่อใด ก็ย่อมระลึกถึง “คุณครูทิม อติเปรมานนท์” เมื่อนั้น คุณครูทิมได้ทุ่มเทจิตใจของท่านตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ จนวันสุดท้ายของชีวิตเพื่อสั่งสอน อบรม เผยแพร่ “ยูโด” ให้แก่เยาวชนไทยจนเจริญแพร่หลายทั่วประเทศ ด้งที่ได้รู้ได้เห็นอยู่ ณ บัดนี้ ไม่เป็นการล่วงล้ำก้ำเกินเลยถ้าข้าพเจ้าจะกล่าวสรรเสริญท่านด้วยน้ำใสใจจริงว่า คุณครูทิม คือท่านจิโกโร คาโน เมืองไทยนั่นเองท่านเริ่มชีวิตยูโด ซึ่งสมัยนั้นกระทรวงศึกษาธิการยังเรียกว่า “ญูญิตสู” ตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี ด้วยร่างกายอันกำยำล่ำสันมะขามข้อเดียว อกผายไหล่ผึ่งยิ่งกว่าหนุ่มๆนักเรียนพลศึกษาด้วยกัน หน้าตาท่าทางเอาจริงเอาจังเกินกว่าใครๆทั้งโรงเรียน ทำให้ท่านกลายเป็นศิษย์เอกของพระอาจารย์หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล ซึ่งทรงศึกษาวิขา “ญูญิตสู” มาจากประเทศฝรั่งเศส ด้วยที่ท่านรับราชการอยู่ในกระทรวงต่างประเทศจึงไม่มีเวลาว่างพอที่จะสอนได้สม่ำเสมอ เมื่อได้ทรงถ่ายทอด “ญูญิตสู” ให้แก่บรรดาครูและนักเรียนพลศึกษาหลายท่าน รวมทั้งศิษย์เอก ทิม อติเปรมานนท์ ท่านทรงแจ้งไปยังกระทรวงศึกษาธิการในสมัย ๕๐ กว่าปีนั้นว่า ควรรับวิชานี้เข้าหลักสูตรพลศึกษาสอนเด็กไทยให้เป็นไว้ และทรงเขียนตำราญูญิตสูเล่มแรกของเมือไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ ตั้งชื่อว่า “ตำรากายบริหารวิชาญูญิตสู” มีภาพครูทิม อติเปรมานนท์และครูเตี่ยน เหมะสกุล ครูพลศึกษาคนที่ ๑ ของเมืองไทย เป็นผู้แสดงแบบ กระทรวงศึกษารับเข้าหลักสูตรสอนนักเรียนไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ และสั่งให้ครูทิม อติเปรมานนท์ไปสอนวิชาญูญิตสูให้แก่นักเรียนสวนกุหลาบ บวรนิเวศ และปทุมคงคา เป็น ๓ โรงเรียนแรก ต่อมาโรงเรียนต่างๆได้เริ่มฝึกบ้าง เช่น เทพศิรินทร์ บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เบญจมบพิตร ต่อมากระทรวงส่งเสริมด้วยการจัดการแข่งขัน เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๘ ข้าพเจ้ายังเรียนอยู่ชั้น ม.๔ เมื่อโรงเรียนเลิกแล้วก็มาดูผู้ใหญ่เขาเล่นญูญิตสูกันที่อาคารไม้ของพลศึกษากลางในโรงเรียนสวนกุหลาบทุกวัน ผู้ได้รับเกียรติเป็นผู้สอนวิชาญูญิตสูคนแรกของโรงเรียนพลศึกษากลางคือ ครูทิม อติเปรมานนท์ และ ได้ทำการสอนติดต่อกันมาประมาณ ๔๐ ปีเศษคุณครูทิมจะแต่งตัวด้วยเสื้อกางเกงแบบญูญิตสู คาดสายรัดเอวสีขาวยืนเด่นเป็นสง่าบนเบาะญูญิตสูต่อหน้าพวกเรานักเรียนฝึกหัดครูพลศึกษากลาง ซึ่งตั้งอยู่ในโรงเรียนสวนกุหลาบผู้ใดภูมิใจว่าเป็นนักญูญิตสู ผู้นั้นย่อมเป็นลูกศิษย์ของคุณครูทิม อติเปรมานนท์ ทั้งประเทศ

ขึ้นชื่อว่าเป็น “โชดัน” ของยูโด สายดำเป็นเสมือนของศักดิ์สิทธิ์ของวิชายูโด สำนักโกโดกวันจะไม่ยอมให้สายดำแก่บุคคลใด ถ้าหากบุคคลนั้นไม่มีความรู้ในวิชายูโดอย่างจริงจัง เฉพาะชาวต่างประเทศก็ยิ่งถูกกวดขันเป็นพิเศษขึ้นอีก สายสามารถเข็มขัดดำแบ่งออกเป็นชั้นๆ ๙ ชั้น เริ่มด้วยชั้นที่ ๑ หรือ โชดัน จนถึงชั้นที่ ๙ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด ชั้น ๑-๕ เข็มขัดดำล้วน, ชั้น ๖-๘ มีสิทธิที่จะใช้ผ้าคาดเองสีแดงสลับขาวแทนสีดำ เรียก “ศาสตราจารย์ยูโด”, ชั้น ๙ ใช้สีแดงล้วนแทนสีดำและมีคนเดียวในพิภพคือ จิโกโร คาโนในประเทศไทย เกียรติคุณของครูทิม อติเปรมานนท์ แพร่หลายทั่วประเทศ บรรดาครูพลศึกษาที่สอบอยู่ตามโรงเรียนทั่วราชอาณาจักรล้วนเป็นลูกศิษย์ครูทิมทั้งสิ้น ต่อมาชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอยุ่ในเมืองไทยได้เชิญศิษย์ครูไปแข่งขันในโรงยิมของชาวญี่ปุ่น ก็แปลกใจว่า เห็นพวกเราคาดเข็มขัดขาว แต่สามารถเอาชนะเขาซึ่งคาดสายสูงกว่าได้ แม้แต่ครูของเราก็คาดสีขาวเหมือนกัน เป็นข่าวไปถึงสำนักโกโดกวัน ณ กรุงโตเกียว ท่านจิโกโร คาโน ปลาบปลื้มใจที่วิชาของท่านแพร่หลายมาถึงเมืองไทย ได้ส่งศาสตราจารย์ยูโด ฟูมิมาโร คุโรยามะ มาพร้อมกับศิษย์สายดำอีก ๒ ท่าน มาเป็นทางการผ่านสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทยติดต่อกระทรวงศึกษาธิการขอชมการเล่นญูญิตสูของบรรดาศิษย์ครูทิม โดยเล่นกันที่ตึกสามัคยาจารย์สมาคม ศาสตราจารย์ ฟูมิมาโร คุโรยามะแปลกใจมาก ที่เห็นพวกเราเล่นได้ดีเกินคาดสมคำเล่าลืม เพื่อสัมพันธไมตรีอันดีต่อไปภายหน้า สำนักโกโดกวันของท่านศาสตราจารย์จิโกโร คาโน ได้มอบสายดำ(โชดัน) เกียรตินิยมมาพร้อมกับท่านเพื่อมอบให้แก่ คุณครูทิม อติเปรมานนท์ เป็นคนแรกของไทยหรือของโลกทีเดียว เพราะไมมีชาวต่างประเทศคนใดที่ท่านจิโกโร คาโนจะส่งสายดำนี้ไปให้เลย

คุณกอง วิสุทธารมณ์ เขียนคำอาลัยไว้ว่าคุณทิม อติเปรมานนท์ เป็นนักพลศึกษา มาตั้งแต่เข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๖๖ ณ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี เศษ ในสมัยที่ยังหนุ่มแน่นแข็งแรง คุณทิม อติเปรมานนท์ ได้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองและโรงเรียนเป็นอันมาก เคยชกมวยไทยคาดเชือกไม่สวมนวม หน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ ๖ ประสบชัยชนะอย่างงดงาม เป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชายูโด จนสถาบันโกโดกวันแหน่งประเทศญี่ปุ่นให้ได้รับสายดำเป็นเกียรติพิเศษ เป็นที่นิยมรักใคร่ของศิษยานุศิษย์ทั้งปวง เป็นคนอารมเยือกเย็น สุขุม มองทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ดีทั้งสิ้น มีความซื่อสัตย์ กตัญญู และความมานะอดทนเป็นสำคัญ

หลวงพิพัฒพลกายทิม เขียนคำอาลัยไว้ว่าเป็นศิษย์ประจำชั้น ม.๑ ที่ข้าพเจ้าเคยสอนมาในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นเด็กล่ำสัน แข็งแรง มีน้ำใจ กล้าหาญบึกบึนดีมาก ข้าพเจ้าชักชวนให้เรียนวิชา “ญูญิตสู” (ยูโด) เขาก็พอใจเรียน ระหว่างที่กำลังเรียนแกร่งกล้าในวิชานี้นั้น เขาอยู่กับคุณลุงของเขาที่ตึกแถวหน้าวัดเลียบ ก่อนย้ายมาอยู่บ้านข้าพเจ้าที่สี่แยกคอกวัวหลังที่ลุงของเขาถึงแก่กรรม ซึ่งเวลานั้น นิยม ทองชิตร์ ก็อยู่กับข้าพเจ้าด้วย เด็กคู่นี้อยู่ ร.ร.สวนกุหลาบด้วยกัน เป็นนักเรียนญูญิตสูด้วยกัน เป็นคู่เล่นกันทุกเวลาที่ข้าพเจ้าสอน ทิมเก่งวิธียาว ในการต่อสู้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่เสมอ ในเชิงมวย ทิมเก่งไม้สั้น นิยมเก่งไม้ยาว ซึ่งข้าพเจ้าพอใจเด็กคู่นี้มาก ที่น่าขันคือ เวลาหยุดเทอมปลาย ทั้งคู่จะต้องออกไปเที่ยวชมภูมิประเทศบ้นเมืองของเราเสมอ ก่อนไปก็เห็นปรึกษาหารือกันถูกอกถูกใจ พอไปถึงปลายทางแล้วเป็นต้องขัดใจเกิดทะเลาะกันทุกครั้ง เวลากลับบ้านก็ไม่มาพร้อมกัน ครั้นสิ้นเทอมปลายใหมก็ไปด้วยกันอีกทุกปี แต่ไม่เคยชกต่อยกัน ทิมมีความรู้ภาษาอังกฤษพอใช้ เขาประจำอยู่ห้องอาจารย์ซัตตันทุกวัน เว้นแตเวลาพลศึกาา เขาต้องไปสอนแทนข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าย้ายไปอยู่ ร.ร.นายเรือ ธนบุรี

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ แต่ไม่ปรากฏการอ้างอิงที่แน่ชัด ได้ระบุถึงประวัติญูญิตสูในไทยุคแรกว่ายังมีที่โรงฝึกแรกที่ชื่อเรนบูกัน และ ห้องยิมของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีการสอนจูจุสึและมีชื่อเสียงจากการแข่งขันกับโรงเรียนอื่น ๆ โดยมีนักจูจุสึที่โด่งดังจากการแข่งขัน เช่น ฉลวย อัศวนนท์, ประจันต์ วัชรปาน, จำรัส ศุภวงศ์ , แถม สุดกังวาล, ปิ่น วิจารณ์บุตร, เชษฐ์ วิลิตกุล, สำราญ สุขุม ซึ่งบางคนได้เป็นผู้ที่ได้ไปรับวิชายูโดเข้ามาในประเทศไทยต่อมา

นักจูจุสึ 5 คน ที่ได้รับเลือกไปศึกษายูโดที่โคโดกันประเทศญี่ปุ่นเป็นชุดแรกของไทยได้แก่1. อ.จำรัส ศุภวงศ์2. อ.ประจันต์ วัชรปาน3. อ.สมศักดิ์ กิตติสาธร 4. อ.ทนง ชุมสาย 5. อ.นาคา โมโต

ซึ่งในภายหลังโรงฝึกจูจุสึในประเทศไทยได้เปลี่ยนเป็นยูโดเกือบทั้งหมดพบวิชาจูจุสึจำนวนน้อยที่ยังหลงเหลือโดยเป็นวิชาจูจุสึที่ถูกพัฒนามาใหม่จากอดีตผู้ฝึกจูจุสึในอดีตเช่น วัชระจูจุสึ และ อิทเท็นจูจุสึ