ภูมิหลัง ของ ยุครัฐในอารักขา

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1649 มีการพิจารณาคดีและปลงพระชนม์พระเจ้าชาลส์ที่ 1 ต่อมา วันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1649 มีการตรา "พระราชบัญญัติประกาศให้อังกฤษเป็นเครือจักรภพ" (An Act declaring England to be a Commonwealth) ซึ่งกำหนดให้อังกฤษและเมืองขึ้นทั้งหมดมีสถานะเป็นสาธารณรัฐ มีผู้ปกครอง คือ รัฐสภารัมป์เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และสภาแห่งรัฐเป็นฝ่ายบริหาร

ภายหลังจากที่ตระกูลครอมเวลล์พิชิตไอร์แลนด์เป็นผลสำเร็จ ไอร์แลนด์ก็ตกอยู่ในการปกครองรูปแบบเดียวกัน โดยมีผู้ว่าการฝ่ายทหาร (military governor) เป็นผู้นำสูงสุด แต่งตั้งขึ้น ณ กรุงดับลิน ต่อมามีการรุกรานและยึดครองสกอตแลนด์ได้ ทำให้สกอตแลนด์ต้องอยู่ในการปกครองของผู้ว่าการ (governor) เช่นกัน ซึ่งแต่งตั้งครั้งแรกใน ค.ศ. 1651

แต่ไม่นานหลังจากที่กลุ่มนิยมราชวงศ์และพระเจ้าชาลส์ที่ 2 ถูกปราบราบคาบในยุทธการที่วุร์สเตอร์เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1651 ก็มีการริเริ่มให้ผู้ว่าการสกอตแลนด์มีวาระยาวขึ้น โดยในวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1651 รัฐสภารัมป์ออกประกาศให้รวมรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภาสกอตแลนด์เข้าด้วยกัน แต่กระบวนการมาลุล่วงเอาเมื่อมีการตรารัฐบัญญัติสหภาพ (Act of Union) ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1657

ระหว่างนั้น ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1653 ตระกูลครอมเวลล์ ซึ่งได้การสนับสนุนจากกลุ่มแกรนดี (Grandee) ในสภาทัพบก (Army Council) นำกำลังบุกเข้าห้องประชุมรัฐสภารัมป์และสั่งเลิกประชุม หลังจากได้ทราบมาว่า รัฐสภารัมป์พยายามจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้ตกลงกันแล้วว่า จะยุบรัฐสภา

ภายในหนึ่งเดือนหลังจากยุบเลิกรัฐสภารัมป์ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ซึ่งได้คำแนะนำจากทอมัส แฮร์ริสัน (Thomas Harrison) และเสียงสนับสนุนจากนายทหารคนอื่น ๆ ในกองทัพบก ก็ส่งคำร้องขอไปยังชุมนุมศาสนจักร (congregational church) ในทุกเทศมณฑล เพื่อให้เสนอชื่อบุคคลที่ศาสนจักรเห็นว่า สมควรเข้าเป็นผู้บริหารการแผ่นดินคณะใหม่ ครั้นวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1653 มีการนำรายชื่อดังกล่าวมาจัดตั้งรัฐสภา เรียกว่า "รัฐสภาแบร์โบน" แต่กลุ่มแกรนดีเห็นว่า ควบคุมยาก ทั้งยังตกเป็นเป้าการล้อเลียนอยู่เสมอ สมาชิกรัฐสภาแบร์โบนที่สนับสนุนโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ จึงจัดการให้รัฐสภาถูกยุบ โดยยื่นญัตติขอยุบเลิกรัฐสภาในเวลาที่มีสมาชิกไม่กี่คนมาประชุม สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวก็ถูกทหารขับออกจากห้องประชุม ในที่สุด กลุ่มแกรนดีก็ออกตราสารการปกครองเพื่อปูทางให้เกิดการปกครองแบบรัฐในอารักขา

ใกล้เคียง

ยุครัฐในอารักขา ยุครัฐในอารักขาของไทยและเวียดนาม ยุครณรัฐ ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ยุวรัตน์ กมลเวชช ยุคราชสำนักเหนือ-ใต้ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคราชวงศ์คองบอง ยุคระเบียบใหม่ (อินโดนีเซีย) ยุคร่วมสมัย