ประวัติศาสตร์ ของ ยุคเซ็งโงกุ

สงครามปีโอนิง

ในสมัยของอาชิกางะ โยชิมาซะ (ญี่ปุ่น: 足利 義政 โรมาจิAshikaga Yoshimasa) เกิดความขัดแย้งในเรื่องการสืบทอดตำแหน่งโชกุน โฮโซกาวะ คัตสึโมโตะ (ญี่ปุ่น: 細川 勝元 โรมาจิHosokawa Katsumoto) ให้การสนับสนุนแก่อาชิกางะ โยชิมิ (ญี่ปุ่น: 足利 義視 โรมาจิAshikaga Yoshimi) ซึ่งเป็นน้องชายของโชกุนโยชิมาซะ ในขณะที่ยามานะ โซเซ็ง (ญี่ปุ่น: 山名 宗全 โรมาจิYamana Sōzen) ให้การสนับสนุนแก่อาชิกางะ โยชิฮิซะ (ญี่ปุ่น: 足利 義尚 โรมาจิAshikaga Yoshihisa) บุตรชายของโชกุนโยชิมาซะ ความขัดแย้งระว่าขุนศึกทั้งสองนำไปสู่สงครามปีโอนิง (ญี่ปุ่น: 応仁の乱 โรมาจิŌnin no Ran) ในค.ศ. 1467 สงครามยืดเยื้อเป็นเวลาร่วมสิบปีโดยมีนครหลวงเกียวโตอันเป็นที่ตั้งของรัฐบาลโชกุนอาชิกางะเป็นสนามรบ ทำให้รัฐบาลโชกุนซึ่งได้รับความเสียหายอย่างมากจากสงครามสูญเสียอำนาจในการปกครองประเทศ ระบบการปกครองท้องถิ่นของรัฐบาลโชกุนจึงล่มสลายลง

ในยุคมูโรมาจิรัฐบาลโชกุนแต่งตั้งเจ้าผู้ครองแคว้นเรียกว่าชูโงะ (ญี่ปุ่น: 守護 โรมาจิShugo) ในการปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อรัฐบาลโชกุนเสื่อมอำนาจลงอำนาจของชูโงะในแต่ละท้องถิ่นจึงเสื่อมลงไปด้วย ชูโงะของบางแคว้นตั้งตนเป็นอิสระ ในขณะที่บ้างแคว้นชูโงได (ญี่ปุ่น: 守護代 โรมาจิShugo-dai ) หรือผู้แทนของชูโงะขึ้นมามีอำนาจ และบางแคว้นมีซามูไรระดับล่างหรือแม้แต่ชาวบ้านตั้งตนขึ้นมามีอำนาจ เป็นยุค "บ่าวล้างนาย"

ยุคเซงโงกุในภูมิภาคต่างๆ

ภูมิภาคคันโต

ในยุคมูโรมาจิภูมิภาคคันโตอยู่ภายใต้การปกครองของคันโตกูโบ (ญี่ปุ่น: 関東公方 โรมาจิKantō kubō) หรือ "โชกุนแห่งภูมิภาคคันโต" และคันโตกันเร (ญี่ปุ่น: 関東管領 โรมาจิKantō kanrei) หรือผู้แทนโชกุนแห่งภูมิภาคคันโต ตำแหน่งคันโตกันเรสืบทอดภายในสายเลือดของตระกูลอูเอซูงิ ความขัดแย้งระหว่างคันโตกูโบและคันโตกันเรนำไปสู่สงครามปีเอเงียวในค.ศ. 1433 ตระกูลอูเอซูงิซึ่งดำรงตำแหน่งคันโตกันเรมีชัยชนะเหนือตระกูลอาชิกางะซึ่งดำรงตำแหน่งคันโตกูโบ ทำให้ตระกูลอูเอซูงิขึ้นมามีอำนาจในภูมิภาคคันโต ตระกูลอูเอซูงิมีสองสาขาย่อยได้แก่

อิเซะ นางาอูจิ (ญี่ปุ่น: 伊勢長氏 โรมาจิIse Nagauji) ตั้งตนขึ้นปกครองแคว้นอิซุ (คาบสมุทรอิซุในปัจจุบัน) ครอบครองเมืองคามากูระและยึดปราสาทโอดาวาระไว้เป็นฐานที่มั่นในค.ศ. 1495[1] บุตรชายของอิเซะ นางาอูจิ ชื่อว่า อิเซะ อูจิตสึนะ เปลี่ยนชื่อตระกูลเป็น "โฮโจ" เพื่ออ้างการสืบทอดจากตระกูลโฮโจเดิมซึ่งเคยเรืองอำนาจในยุคคามากูระ อิเซะ อูจิตสึนะ เปลี่ยนชื่อเป็น โฮโจ อูจิตสึนะ (ญี่ปุ่น: 北条氏綱 โรมาจิHōjō Ujitsuna) และมอบชื่อให้แก่บิดาของตนเองคืออิเซะ นางาอูจิ ผู้ล่วงลับไปแล้วว่า โฮโจ โซอุน (ญี่ปุ่น: 北条早雲 โรมาจิHōjō Sōun) ในค.ศ. 1524 โฮโจ อูจิตสึนะ ยกทัพเจ้ายึดปราสาทเอโดะจากตระกูลอูเอซูงิสาขาโองิงายัตสึได้สำเร็จ และในค.ศ. 1535 ยึดปราสาทคาวาโงเอะฐานที่มั่นของสาขาโองิงายัตสึ นำไปสู่สงครามระหว่างตระกูลโฮโจและตระกูลอูเอซูงิ ฝ่ายอูเอซูงิยกทัพเข้าเผาทำลายเมืองคามากูระในค.ศ. 1526 นอกจากนี้โฮโจ อูจิตสึนะยังแผ่ขยายอำนาจไปยังแคว้นอาวะ (จังหวัดชิบะในปัจจุบัน) บนคาบสมุทรโบโซซึ่งปกครองโดยตระกูลซาโตมิ (ญี่ปุ่น: 里見 โรมาจิSatomi)

ปราสาทโอดาวาระ เป็นฐานที่มั่นของตระกูลโฮโจ

เมื่อโฮโจ อูจิตสึนะเสียชีวิตบุตรชายของอูจิตสึนะคือโฮโจ อูจิยาซุ (ญี่ปุ่น: 北条氏康 โรมาจิHōjō Ujiyasu) ขึ้นมาเป็นผู้นำของตระกูลโฮโจแทนที่ ในสมัยของโฮโจ อูจิยาซุ ตระกูลโฮโจเรืองอำนาจถึงขีดสุด ในค.ศ. 1545 ตระกูลอูเอซูงิทั้งสองสาขารวมกำลังพลเข้าล้อมปราสาทคาวาโงเอะเพื่อยึดปราสาทคืนกลับจากตระกูลโฮโจ ผลปรากฎว่าโฮโจ อูจิยาซุ สามารถขับไล่ทัพของอูเอซูงิทั้งสองสาขาออกไปได้ ทำให้ตระกูลอูเอซูงิสูญสิ้นอำนาจไปจากภูมิภาคคันโต อย่างไรก็ตามอูเอซูงิ โนริมาซะ (ญี่ปุ่น: 上杉憲政 โรมาจิUesugi Norimasa) ผู้นำตระกูลอูเอซูงิสาขายามาโนอูจิ ขอความช่วยเหลือจากนางาโอะ คาเงโตระ (ญี่ปุ่น: 長尾景虎 โรมาจิNagao Kagetora) ให้เข้ามาช่วยสู้รบกับตระกูลโฮโจ นางาโอะ คาเงโตระ ยินยอมช่วยเหลือตระกูลอูเอซูงิภายใต้เงื่อนไขว่าอูเอซูงิ โนริมาซะ ต้องยกตำแหน่งคันโตกันเรให้แก่ตนเอง อูเอซูงิ โนริมาซะจึงรับนางาโอะ คาเงโตระ เป็นบุตรบุญธรรม จากนั้นนางาโอะ คาเงโตระ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอูเอซูงิ เค็นชิง ขึ้นเป็นผู้นำตระกูลอูเอซูงิ อูเอซูงิ เค็นชิง ยกทัพเข้าล้อมปราสาทโอดาวาระในค.ศ. 1561 ฝ่ายโฮโจสามารถรักษาปราสาทไว้ได้

ในค.ศ. 1564 โฮโจ อูจิยาซุมีชัยชนะเหนือตระกูลซาโตมิในยุทธการที่โคโนได (Battle of Kōnodai) ตระกูลโฮโจเข้าครองแคว้นชิโมซะ (จังหวัดชิบะในปัจจุบัน) ของตระกูลซาโตมิ ตระกูลโฮโจขยายอำนาจสูงสุดปกครองดินแดนห้าแคว้นแห่งภูมิภาคคันโตได้แก่ แคว้นซางามิ แคว้นอิซุ แคว้นมูซาชิ แคว้นอาวะ และแคว้นชิโมซะ เมื่อตระกูลโฮโจเข้ารุกรานแคว้นซูรูงะของตระกูลอิมางาวะ ทาเกดะ ชิงเง็ง ซึ่งเป็นพันธมิตรของตระกูลอิมางาวะจึงยกทัพเข้าล้อมปราสาทโอดาวาระในค.ศ. 1569 แม้ว่าฝ่ายทาเกดะจะทำลายเมืองโอดาวาระจนเสียหายมากแต่ไม่สามารถเข้ายึดปราสาทได้ ทำให้ปราสาทโอดาวาระมีชื่อเสียงว่าเป็นปราสาทซึ่งไม่เสียให้แก่ศัตรู

เมื่อโฮโจ อูจิยาซุเสียชีวิต อำนาจของตระกูลโฮโจเสื่อมลง ในค.ศ. 1590 โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และโทกูงาวะ อิเอยาซุ ยกทัพเข้ารุกรานตระกูลโฮโจและล้อมปราสาทโอดาวาระ ฝ่ายโทโยโตมิสามารถเข้ายึดปราสาทได้ในที่สุด ไดเมียวโฮโจ อูจิมาซะ (ญี่ปุ่น: 北条氏政 โรมาจิHōjō Ujimasa) และบุตรชายทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต ตระกูลโฮโจจึงสิ้นสุดลง โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ถ่ายโอนดินแดนห้าแคว้นทั้งหมดของตระกูลโฮโจให้แก่โทกูงาวะ อิเอยาซุ ไปปกครอง โทกูงาวะ อิเอยาซุ ใช้ปราสาทเอโดะเป็นฐานที่มั่น หลังยุทธการที่เซกิงาฮาระโทกูงาวะ อิเอยาซุ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเซอิไทโชงุง ยุคเซงโงกุในภูมิภาคคันโตจึงสิ้นสุดลง

ภูมิภาคชูโงกุ

ในช่วงต้นของยุคเซงโงกุภูมิภาคชูโงกุอยู่ภายใต้อำนาจของตระกูลโออูจิ (ญี่ปุ่น: 大内 โรมาจิŌuchi) ซึ่งดำรงตำแหน่งชูโงะแห่งแคว้นซูโอ (จังหวัดยามางูจิในปัจจบัน) และมีฐานอยู่ที่เมืองยามางูจิ ตระกูลโออูจิมีอำนาจและมีบทบาทสำคัญในการเมืองและการปกครองของรัฐบาลโชกุนที่เมืองเกียวโต ในขณะที่ตระกูลอามาโงะ (ญี่ปุ่น: 尼子 โรมาจิAmago) แห่งแคว้นอิซูโมะ (จังหวัดชิมาเนะในปัจจุบัน) ฝั่งติดทะเลญี่ปุ่น ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ที่ปราสาทกัสซันโตดะ (ญี่ปุ่น: 月山富田城 โรมาจิGassantoda-jō ตั้งอยู่ที่เมืองยาซูงิ จังหวัดชิมาเนะ) สะสมอำนาจขึ้นมา ภูมิภาคชูโงกุประกอบไปด้วยสองขั้วอำนาจได้แก่ ฝ่ายของตระกูลโออูจิ และฝ่ายตระกูลอามาโงะ

หลังจากเหตุการณ์การวิวาทที่เมืองหนิงปัว (Ningbo incident) ในค.ศ. 1523 ทำให้ตระกูลโออูจิเป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในฐานะตัวแทนรัฐบาลโชกุนในการค้าบรรณาการกับจีนราชวงศ์หมิง เมืองท่ายามางูจิรุ่งเรื่องจากการค้าขายกับต่างชาติ ในสมัยของโออูจิ โยชิตากะ (ญี่ปุ่น: 大内義隆 โรมาจิŌuchi Yoshitaka) อำนาจของตระกูลโออูจิรุ่งเรืองสูงสุด ในค.ศ. 1542 โออูจิ โยชิตากะ และทหารเอกคนสนิทชื่อว่าซูเอะ ฮารูตากะ (ญี่ปุ่น: 陶 晴賢 โรมาจิSue Harukata) ยกทัพเข้าไปยังแคว้นอิซูโมะเพื่อรุกรานตระกูลอามาโงะ แต่ถูกฝ่ายอามาโงะตีแตกพ่ายแพ้ ทำให้โออูจิ โยชิตากะ หันไปสนใจการเมืองในรัฐบาลโชกุนที่เกียวโตแทน และให้ซูเอะ ฮารูตากะ เป็นผู้รักษาการแทนที่แคว้นซูโอ ในค.ศ. 1550 นักบุญฟรันซิส เซเวียร์ (Francis Xavier) พำนักอยู่ที่เมืองยามางูจิเป็นเวลาสองเดือน ในค.ศ. 1551 โออูจิ โยชิตากะ เสนอให้มีการย้ายราชสำนักญี่ปุ่นของพระจักรพรรดิจากเมืองเกียวโตมาอยู่ที่เมืองยามางูจิ ซูเอะ ฮารูตากะ ไม่พอใจที่โออูจิ โยชิตากะผู้เป็นเจ้านายของตนละทิ้งศึกทางทหารในภูมิภาคชูโงกุและหันไปสนใจการเมืองที่เกียวโตแทน จึงก่อกบฎนำกำลังเข้าจับกุมโออูจิ โยชิตากะ ที่วัดไทเน เรียกว่า เหตุการณ์วัดไทเน (Tainei-ji Incident ญี่ปุ่น: 大寧寺の変 โรมาจิTaineiji no hen) ซูเอะ ฮารูตากะ บังคับให้โออูจิ โยชิตากะ นายของตนทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต และเข้ายึดอำนาจครอบครองตระกูลโออูจิ

ยุทธนาวีที่มิยาจิมะ (Battle of Miyajima) ค.ศ. 1555 โมริ โมโตนาริ สามารถเอาชนะซูเอะ ฮารูตากะ ทำให้อำนาจของตระกูลโออูจิจบสิ้นลงและตระกูลโมริขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจในภูมิภาคชูโงกุแทน

ในค.ศ. 1554 โมริ โมโตนาริ (ญี่ปุ่น: 毛利元就 โรมาจิMōri Motonari)ไดเมียวแห่งแคว้นอากิ (จังหวัดฮิโรชิมะในปัจจุบัน) ยกทัพเข้ารุกรานตระกูลโออูจิเพื่อแก้แค้นให้แก่โออูจิ โยชิตากะ ซึ่งถูกซูเอะ ฮารูตากะ ยึดอำนาจไป โมริ โมโตนาริ มีชัยชนะในยุทธนาวีที่มิยาจิมะ (Battle of Miyajima) ในค.ศ. 1555 ซูเอะ ฮารูตากะทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิต ตระกูลโออูจิจึงสูญสิ้นไปและตระกูลโมริเข้าครอบครองดินแดนของตระกูลโออูจิทั้งหมดซึ่งประกอบไปด้วยทั้งสองฝั่งของช่องแคบคัมมง นอกจากนี้โมริ โมโตนาริ ยังยกทัพเข้ารุกรานตระกูลอามาโงะในแคว้นอิซูโมะ เมื่อโมโตนาริเข้ายึดปราสาทกัสซันโตดะได้สำเร็จในค.ศ. 1566 ตระกูลอามาโงะจึงสูญสิ้นไปดินแดนของอามาโงะกลายเป็นของตระกูลโมริ เมื่อโมริ โมโตนาริเสียชีวิต ตระกูลโมริเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคชูโงกุ ครอบครองดินแดนทั้งฝั่งทะเลเซโตะในและฝั่งทะเลญี่ปุ่น โมริ เทรูโมโตะ หลานชายของโมริ โมโตนาริ ขึ้นเป็นไดเมียวแห่งตระกูลโมริคนต่อมา

โอดะ โนบูนางะ ส่งฮาชิบะ ฮิเดโยชิ ยกทัพเข้ารุกรานภูมิภาคชูโงกุในค.ศ. 1578 โมริ เทรูโมโตะ รวมสรรพกำลังพลของไดเมียวแคว้นต่างๆในภูมิภาคชูโงกุเพื่อต้านทานการรุกรานของฮาชิบะ ฮิเดโยชิ การสู้รบกินเวลายืดเยื้อจนกระทั่งในค.ศ. 1582 เกิดเหตุการณ์ที่วัดฮนโน โอดะ โนบูนางะถูกลอบสังหาร เมื่อฮาชิบะ ฮิเดโยชิ กลายเป็นโทโยโตมิ ฮิเดโยชิผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่นในทางพฤตินัยแล้ว โมริ เทรูโมโตะ จึงนำตระกูลโมริเข้าสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลโทโยโตมิ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ แต่งตั้งให้อูกิตะ ฮิเดอิเอะ (ญี่ปุ่น: 宇喜多 秀家 โรมาจิUkita Hideie) เป็นไดเมียวแห่งแคว้นบิเซ็ง (จังหวัดโอกายามะ) เพื่อคานอำนาจกับตระกูลโมริ ในค.ศ. 1589 โมริ เทรูโมโตะ สร้างปราสาทฮิโรชิมะเป็นฐานแห่งใหม่ของตระกูลโมริ ในยุทธการที่เซกิงาฮาระ โมริ เทรูโมโตะ และตระกูลโมริอยู่ฝ่ายตะวันตกของอิชิดะ มิตสึนาริ ซึ่งเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทำให้ตระกูลโมริถูกยึดดินแดนอันกว้างใหญ่ในภูมิภาคชูโงกุไปเกือบทั้งหมด เหลือเพียงแคว้นนางาโตะหรือแคว้นโชชู (ญี่ปุ่น: 長州 โรมาจิChōshū) ตระกูลโมริมีฐานใหม่ที่เมืองปราสาทฮางิ

ภูมิภาคชูบุ

กลุ่มขบวนการอิกโก-อิกกิ (ญี่ปุ่น: 一向一揆 โรมาจิIkkō-ikki) เป็นขบวนการซึ่งประกอบด้วยชาวบ้านสามัญชน ชาวนา พระสงฆ์ และซามูไรระดับล่าง มีพุทธศาสนานิกายโจโด-ชินชู (ญี่ปุ่น: 浄土真宗 โรมาจิJōdo Shinshū) หรือนิกายสุขาวดีใหม่ ซึ่งมีผู้นำคือพระภิกษุเรนเนียว (ญี่ปุ่น: 蓮如 โรมาจิRennyo) ในค.ศ. 1487 กลุ่มชาวบ้านอิกโก-อิกกิก่อการกบฎขึ้นในแคว้นคางะ (จังหวัดอิชิกาวะ) เรียกว่าการกบฎคางะ (Kaga Rebellion) กบฎอิกโก-อิกกิสามารถยึดอำนาจจัดตั้งการปกครองนำไปสูการกำเนิด "คางะ อิกกิ" ขึ้นที่แคว้นคางะในค.ศ. 1488 รัฐบาลของคางะอิกกิประกอบด้วยสามัญชนและพระสงฆ์เป็นหลัก ทำให้แคว้นคางะกลายเป็นอาณาจักรของชาวบ้าน (Peasant's Kingdom) ในค.ศ. 1531 เกิดสงครามกลางเมืองคางะ (Kaga Civil War) ภิกษุเรนเนียวจัดตั้งศูนย์บัญชาการของอิกโก-อิกกิขึ้นที่วัดอิชิยามะ ฮงอัน (ญี่ปุ่น: 石山本願寺 โรมาจิIshiyama Hongan-ji ปราสาทโอซากะในปัจจุบัน) มีการจัดตั้งคานาซาวะ มิโด (ญี่ปุ่น: 金沢御堂 โรมาจิKanazawa Midō) ขึ้นเป็นรัฐบาลในการปกครองคางะอิกกิตั้งอยู่ที่โอยามะ โคโบ (ญี่ปุ่น: 尾山御坊 โรมาจิOyama Gōbō) ซึ่งต่อมาพัฒนากลายเป็นเมืองคานาซาวะ

ภาพการดวลยุทธตัวต่อตัวระหว่างทาเกดะ ชิงเง็ง และอูเอซูงิ เค็นชิง (โพกศีรษะ) ในยุทธการที่คาวานางาจิมะ

ในค.ศ. 1542 ทาเกดะ ชิงเง็ง ไดเมียวแห่งแคว้าคาอิ (จังหวัดยามานาชิ) แผ่ขยายอำนาจเข้าไปในแคว้นชินาโนะ (จังหวัดนางาโนะ) ซึ่งมีไดเมียวต่างๆปกครองอยู่ บรรดาไดเมียวแห่งแคว้นชินาโนะจึงไปขอความช่วยเหลือจากไดเมียวอูเอซูงิ เค็นชิง แห่งแคว้นเอจิโงะ (จังหวัดนีงาตะ) ไดเมียวผู้ทรงอำนาจทั้งสองสู้รบกันในยุทธการคาวานางาจิมะ (ญี่ปุ่น: 川中島の戦い โรมาจิKawanagajima-no-tatakai) ใกล้กับเมืองนางาโนะในปัจจุบัน จำนวนห้าครั้ง ในค.ศ. 1554, ค.ศ. 1555, ค.ศ. 1557, ค.ศ. 1561 และค.ศ. 1564 ยุทธการคาวานางาจิมะครั้งที่สี่ในค.ศ. 1561 เป็นครั้งที่สำคัญที่สุดซึ่งทาเกดะ ชิงเง็น พ่ายแพ้ให้แก่อูเอซูงิ เค็นชิง แต่ท้ายที่สุดไม่มีฝ่ายใดชนะอย่างเด็ดขาด ทะเกดะ ชิงเง็น เสียชีวิตในค.ศ. 1573 ทาเกดะ คัตสึโยริ (ญี่ปุ่น: 武田勝頼 โรมาจิTakeda Katsuyori) ผู้เป็นบุตรชายขึ้นเป็นผู้นำของตระกูลทาเกดะต่อมา โทกูงาวะ อิเอยาซุ ไดเมียวแห่งแคว้นมิกาวะยกทัพเข้ารุกรานแคว้นคาอิ ฝ่ายตระกูลทาเกดะเสียปราสาทนางาชิโนะ (ญี่ปุ่น: 長篠城 โรมาจิNagashino-jō) ให้แก่โทกูงาวะในค.ศ. 1572 ทั้งโอดะ โนบูนางะ และโทกูงาวะ อิเอยาซุ ร่วมมือกันสามารถเอาชนะตระกูลทาเกดะได้ในยุทธการเทมโมกูซัง (Battle of Temmokuzan) ในค.ศ. 1582 ทาเกดะ คัตสึโยริ ทำการเซ็ปปุกุเสียชีวิตทำให้ตระกูลทาเกดะจบสิ้นลง

โอดะ โนบูนางะ พร้อมทั้งฮาชิบะ ฮิเดโยชิ และอาเกจิ มิตสึฮิเดะ ยกท้พเข้ารุกรานแคว้นคางะในค.ศ. 1570 ฝ่ายคางะอิกกิสามารถต้านการรุกรานของฝ่ายโอดะได้ ในค.ศ. 1576 โนบูนางะแต่งตั้งให้ชิบาตะ คัตสึอิเอะ เป็นไดเมียวแห่งแคว้นเอจิเซ็ง (จังหวัดฟูกูอิ) เพื่อทำสงครามกับอิกโก-อิกกิ นอกจากนี้ตระกูลโอดะยังแผ่ขยายอำนาจเข้าไปยังแคว้นโนโตะ อูเอซูงิ เค็นชิง แห่งแคว่นเอจิโงะ เห็นว่าตระกูลโอดะกำลังแผ่ขยายอำนาจมายังฝั่งทะเลญี่ปุ่นเป็นภัยต่ออูเอซูงิ จึงเข้าแทรกแซงการเมืองในแคว้นโนโตะเพื่อป้องกันการขยายอำนาจของโอดะ นำไปสู่สงครามระหว่างฝ่ายโอดะและฝ่ายอูเอซูงิ อูเอซูงิ เค็นชิง มีชัยชนะเหนือชิบาตะ คัตสึอิเอะ ในค.ศ. 1577 ที่ยุทธการเทโดริงาวะ (Battle of Tedorigawa) หลังจากศึกสงครามยาวนาน คานาซาวะ มิโด และขบวนการอิกโก-อิกกิจึงถูกทำลายลงโดยฝ่ายโอดะในค.ศ. 1580 อาณาจักรชาวบ้านของคางะอิกกิจึงสิ้นสุดลง

ภูมิภาคคีวชู

ในยุคมูโรมาจิ ตระกูลโชนิ (ญี่ปุ่น: 少弐 โรมาจิShōni) ซึ่งมีบทบาทในการต้านทานการรุกรานญี่ปุ่นของมองโกลครองอำนาจอยู่ในเกาะคีวชูภาคเหนือ ในขณะที่ตระกูลชิมาซุ (ญี่ปุ่น: 島津 โรมาจิShimazu) ครองอำนาจในภาคใต้ของเกาะคีวชู ทั้งสองตระกูลนี้ครองอำนาจในพื้นที่มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคคามากูระ ตระกูลโชนิทำสงครามขับเขี่ยวกับตระกูลโออูจิแห่งแคว้นซูโอในภูมิภาคชูโงกุ ตระกูลรีวโซจิ (ญี่ปุ่น: 龍造寺 โรมาจิRyūzōji) แห่งแคว้นฮิเซ็ง (จังหวัดซางะ) ซึ่่งเป็นข้ารับใช้ของตระกูลโชนิ แปรพักตร์จากตระกูลโชนิไปเข้าฝ่ายตระกูลโออูจิ โออูจิ โยชิตากะ ผู้นำของตระกูลโออูจิ ร่วมกับตระกูลรีวโซจิเข้าทำลายตระกูลโชนิทำให้ตระกูลโชนิสูญสิ้นไปในค.ศ. 1533ต่อมาเมื่อตระกูลโมริแห่งแคว้นอากิในชูโงกุเข้ายึดอำนาจตระกูลโออูจิแล้ว ตระกูลโมริจึงเข้ามาปกครองคีวชูภาคเหนือแทน

ในค.ศ. 1543 เรือโปรตุเกสมาที่เกาะทาเนงาชิมะ (ญี่ปุ่น: 種子島 โรมาจิTanegashima) ทางตอนใต้ของแคว้นซัตสึมะ นำไปสู่การติดต่อระหว่างญี่ปุ่นและชาวตะวันตกครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการค้านัมบัง (Nanban trade ญี่ปุ่น: 南蛮貿易 โรมาจิNanban bōeki) การเข้ามาของชาวโปรตุเกสทำให้ซามูไรในเกาะคีวชูได้รับวิทยาการปืนจากโปรตุเกสซึ่งมีผลต่อการสงครามและวิทยาการปืนถูกเผยแพร่ไปยังส่วนอื่นๆของญี่ปุ่นต่อไป ในค.ศ. 1549 นักบุญฟรันซิส เซเวียร์ เดินทางมาถึงเมืองคาโงชิมะซึ่งเป็นฐานของตระกูลชิมาซุ คณะเยซูอิตนำโดยบาทหลวงอเลสซานโดร วาลิญยาโน (Alessandro Valignano) เผยแพร่ศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกให้แก่ชาวญี่ปุ่นในเกาะคีวชูทุกระดับตั้งแต่ซามูไรจนถึงชาวบ้าน ในค.ศ. 1563 ไดเมียวโอมูระ ซูมิตาดะ (ญี่ปุ่น: 大村純忠 โรมาจิŌmura Sumitada) เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ เป็นไดเมียวชาวคริสเตียนคนแรกในประวัติศาสตร์ ในค.ศ. 1570 โอมูระ ซูมิตาดะ ยกดินแดนบริเวณคาบสมุทรนิชิโซโนงิ (ญี่ปุ่น: 西彼杵 โรมาจิNishi-sonogi จังหวัดนางาซากิ) ให้แก่โปรตุเกสใช้เป็นท่าเรือ กลายเป็นเมืองนางาซากิซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าของโปรตุเกส

คณะฑูตปีเท็นโช (Tenshō embassy) ของโอโตโมะ โซริง นำโดยนายอิโต มันซิโอ (Mancio Itō) เข้าเฝ้าพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13ที่กรุงโรม

ค.ศ. 1551 โอโตโมะ โซริง (ญี่ปุ่น: 大友宗麟 โรมาจิŌtomo Sōrin) ไดเมี่ยวแห่งแคว้นบูงโงะ (จังหวัดโออิตะ) รวบรวมอำนาจตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ในคีวชูภาคเหนือสามารถยึดแคว้นฮิโงะ (จังหวัดคูมาโมโตะ) และชิกูเซ็ง (จังหวัดฟูกูโอกะ) และรุกรานดินแดนของตระกูลโมริในคีวชูภาคเหนือ ในค.ศ. 1561 โอโตโมะ โซริง เข้าล้อมปราสาทโมจิ (คิตากีวชูในปัจจุบัน) ของตระกูลโมริด้วยความช่วยเหลือจากกองกำลังปืนของโปรตุเกส และเอาชนะทัพของตระกูลโมริได้ในยุทธการที่ทาตาราฮามะ (Battle of Tatarahama) ในค.ศ. 1569 ทำให้ตระกูลโมริสูญเสียอิทธิพลในคีวชูภาคเหนือไป และโอโตโมะ โซริง ได้รับฉายาว่า "ไดเมียวผู้ครองเจ็ดแคว้น" ในคีวชูภาคเหนือ โอโตโมะ โซริง เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์ในค.ศ. 1578 อย่างไรก็ตามโอโตโมะ โซริง ต้องเผชิญกับการรุกรานของตระกูลชิมาซุแห่งคีวชูภาคใต้ ชิมาซุ โยชิฮิซะ (ญี่ปุ่น: 島津義久 โรมาจิShimazu Yoshihisa) เอาชนะทัพของตระกูลโอโตโมะในยุทธการที่มิมิกาวะ (Battle of Mimigawa) ในค.ศ. 1578 ในค.ศ. 1582 โอโตโมะ โซริง ส่งคณะฑูตนำโดยนายอิโต มันซิโอ (Mancio Itō ญี่ปุ่น: 伊東 マンショ โรมาจิItō Mansho) ไปเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาที่กรุงโรม เรียกว่า คณะฑูตปีเท็นโช (Tenshō embassy) เป็นคณะฑูตของญี่ปุ่นคณะแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรียังทวีปยุโรป

ความขัดแย้งระหว่างตระกูลโอโตโมะแห่คีวชูเหนือและตระกูลชิมาซุแห่งคีวชูใต้นำไปสู่การรุกรานของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ โอโตโมะ โซริง ร้องขอความช่วยเหลือจากโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ในการทำสงครามกับตระกูลชิมาซุ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ออกคำสั่งในฐานะคัมปากุให้ชิมาซุ โยชิฮิซะ หยุดยั้งการรุกรานตระกูลโอโตโมะ แต่ชิมาซุ โยชิฮิซะ ไม่เชื่อฟัง โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ และโทโยโตมิ ฮิเดนางะ ผู้เป็นน้องชายจึงยกทัพเข้ารุกรานเกาะคีวชูในค.ศ. 1586 เรียกว่า การรุกรานคีวชู ฝ่ายโทโยโตมิมีชัยชนะเหนือตระกูลชิมาซุและเข้าครอบครองเกาะคีวชู ทำให้ตระกูลโอโตโมะสูญเสียอำนาจไปและชิมาซุ โยชิฮิซะ จำต้องโกนศีรษะบวชเป็นภิกษุและสละตำแหน่งไดเมียวเพื่อรักษาตระกูลชิมาซุและแคว้นซัตสึมะไว้ คาโต คิโยมาซะ ได้ตำแหน่งไดเมียวแห่งปราสาทคูมาโมโตะ ในช่วงการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่นไดเมียวบนเกาะคีวชูต่างได้รับมอบหมายให้ยกทัพญี่ปุ่นเข้ารุกรานอาณาจักรโชซ็อน ในยุทธการเซกิงาฮาระไดเมียวบนเกาะคีวชูส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายตะวันตกของอิชิดะ มิตสึนาริ ยกเว้นคาโต คิโยมาซะ ซึ่งอยู่ฝ่ายของโทกูงาวะ อิเอยาซุ หลังจากยุทธการเซกิงาฮาระตระกูลชิมาซุแม้ว่าอยู่ฝ่ายของอิชิดะ มิตสึนาริ ยังสามารถรักษาอำนาจและดินแดนแคว้นซัตสึมะไว้ได้ดังเดิม

ภูมิภาคชิโกกุ