เหตุการณ์หลังการรบ ของ ยุทธนาวีเกาะช้าง

เรือหลวงธนบุรีจมเกยตื้น

ทหารเรือช่วยกันดับไฟที่กำลังไหม้บนเรือหลวงธนบุรี (ภาพถ่ายจากเรือหลวงช้าง)เรือหลวงธนบุรี ขณะไฟที่ไหม้ได้สงบลงชั่วขณะ

เมื่อเรือรบฝรั่งเศสล่าถอยไปจากบริเวณเกาะช้างแล้ว ป้อมปืนต่าง ๆ ในเรือหลวงธนบุรีจึงหยุดยิงเมื่อเวลา 8.20 น. ทหารประจำป้อมปืนต่างพากันเปล่งเสียงไชโยขึ้นพร้อม ๆ กัน ด้วยความดีใจที่สามารถขับไล่ข้าศึกไปได้ จากนั้นทั้งหมดก็ได้ช่วยกันดับไฟที่ไหม้เรืออยู่อย่างหนัก แต่ไฟก็ไม่สงบลง เรือเอกทองอยู่ สว่างเนตร์ ต้นเรือซึ่งทำหน้าที่แทนผู้บังคับการเรือ จึงตัดสินใจไขน้ำเข้าคลังกระสุนและดินปืน เพื่อป้องกันดินปืนและกระสุนต่างๆ ระเบิดเมื่อไฟลุกลามไปถึง ทำให้น้ำไหลเข้าเรือเร็วขึ้นและเอียงไปทางกราบขวา แต่เรือก็ยังใช้จักรเดินต่อไปด้วยความสามารถของพรรคกลิน ต่อมาเมื่อไฟไหม้ลุกลามไปถึงหลังห้องเครื่องจักร ควันไฟและควันระเบิดได้กระจายไปถึงห้องเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และห้องไฟฟ้า ทำให้ทหารพรรคกลินในห้องไฟฟ้า 8 นายขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ผู้ที่อยู่ข้างนอกจะพยายามเข้าไปช่วยเหลือนายทหารดังกล่าวก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีไฟไหม้สก้ดอยู่ที่ปากทางช่องขึ้นลงไปยังห้องเครื่องของเรือ

เวลา 9.50 น. เรือหลวงช้าง ภายใต้การบังคับบัญชาของเรือเอกสนิท อังกินันท์ ได้นำเรือเข้าช่วยดับไฟที่ไหม้อยู่อย่างหนักบนเรือหลวงธนบุรี แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะสายสูบน้ำผ้าใบยาวไม่พอที่จะลากหัวสูบไปฉีดให้ถึงห้องต่างๆ ภายใต้ดาดฟ้าเรือได้ เรือหลวงช้างจึงเปลี่ยนวิธีเป็นทำการลากจูงเรือหลวงธนบุรีไปพลางพร้อมทั้งทำการดับไฟในเรือไปด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ผลอีก เมื่อเห็นหมดทางที่จะแก้ไขได้แล้ว ผู้บังคับการเรือหลวงช้างจึงตัดสินใจจูงเรือหลวงธนบุรีให้ไปเกยตื้นที่บริเวณแหลมงอบ

เวลา 11.30 น. เรือหลวงธนบุรีถูกจูงมาถึงเขตน้ำตื้นและไม่สามารถลากจูงต่อไปได้ ต้นเรือเรือหลวงธนบุรีจึงสั่งให้ลำเลียงทหารบาดเจ็บลงเรือหลวงช้าง แล้วให้สละเรือใหญ่ ชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงและทหารเรือส่วนหนึ่งยังคงพยายามดับไฟในเรือหลวงธนบุรีต่อไปแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดเรือหลวงธนบุรีก็จมลงเมื่อเวลา 16.40 น. โดยจมไปทางกราบเรือทางขวา เสาทั้งสองเอนจมลงไป กราบซ้ายและกระดูกงูกันโคลงโผล่อยู่พ้นน้ำ

ผลการรบ

ทหารผ่านศึกจากเรือหลวงธนบุรี

ฝ่ายไทยเสียเรือรบไป 3 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี ทหารเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 36 นาย แบ่งเป็นทหารประจำเรือหลวงธนบุรี 20 นาย (รวมนาวาเอก หลวงพร้อมวีระพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรีด้วย) เรือหลวงสงขลา 14 นาย และเรือหลวงชลบุรี 2 นาย เฉพาะเรือหลวงธนบุรีนั้น ต่อมากองทัพเรือไทยได้กู้ขึ้นมาเพื่อทำการซ่อมใหญ่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่เนื่องจากเรือเสียหายหนักมาจึงได้ปลดระวางจากการเป็นเรือรบและใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนกระทั่งปลดประจำการในปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี ภายในโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

สำหรับฝ่ายฝรั่งเศส แม้จะไม่เสียเรือรบลำใดเลยก็ตาม แต่เรือธงลาม็อต-ปีเกนั้นก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน ส่วนจำนวนทหารที่เสียชีวิต และบาดเจ็บนั้น การข่าวของฝ่ายไทยไม่ทราบจำนวนแน่นอน แต่มีรายงานว่าเมื่อเรือข้าศึกกลับถึงไซ่ง่อน ได้มีการขนศพทหารที่เสียชีวิต และทหารที่ได้รับบาดเจ็บขึ้นบกกันตลอดคืน ขณะที่ฝ่ายฝรั่งเศสอ้างว่าไม่มีความสูญเสียแต่อย่างใดเลย แต่ฝ่ายไทยกลับยืนยันว่าเรือลาม็อต-ปีเกถูกเรือหลวงธนบุรียิงเข้าอย่างจัง จนสังเกตได้ว่ามีไฟลุกอยู่ตอนท้ายเรือ และลำเรือตอนท้ายนั้นแปล้น้ำมากกว่าปกติ โดยอ้างตามคำให้การของทหารเรือที่รอดชีวิตและชาวประมงที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่การรบนี้ ได้มีบันทึกต่อมาว่า ภายหลังกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดจีนจากฝรั่งเศส เรือลาม็อต-ปีเกได้เดินทางไปยังนครโอซะกะ จักรวรรดิญี่ปุ่น เพื่อซ่อมบำรุงเรือในเดือนกันยายน พ.ศ. 2484 หลังจากนั้นจึงได้ปลดเป็นเรือฝึกเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน และถูกจมโดยเครื่องบินสังกัดกองเรือเฉพาะกิจที่ 38 ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2488

บำเหน็จหลังการรบ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ทำพิธีประดับแพรแถบเหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานประจำเรือหลวงธนบุรี

หลังสิ้นสุดการรบในกรณีพิพาทอินโดจีนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานเหรียญกล้าหาญเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ทหารเรือที่เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้ทั้งสิ้น 18 คน (ส่วนใหญ่คือผู้ที่เสียชีวิตจากการยุทธนาวีที่เกาะช้าง) และเรือรบอีก 1 ลำ คือ เรือหลวงธนบุรี[2] โดยรัฐบาลได้จัดพิธีประดับเหรียญกล้าหาญแก่ธงฉานเรือหลวงธนบุรี ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหารต่างๆ ตลอดจนทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจสนามที่ปฏิบัติการรบดีเด่นในสงครามครั้งนี้เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2484ลานพระบรมรูปทรงม้า

นอกจากนี้ ทหารที่เข้าร่วมปฏิบัติการรบในกรณีพิพาทไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสทุกคน ยังได้รับพระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ และได้สิทธิพิเศษตามที่ทางราชการกำหนดไว้ ผู้ที่กระทำการจนได้รับคำชมเชยจากทางราชการจะได้รับพระราชทานเครื่องหมายเปลวระเบิดประดับบนแพรแถบด้วย

ใกล้เคียง

ยุทธนาวีเกาะช้าง ยุทธนา เปื้องกลาง ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ ยุทธนา บุญอ้อม ยุทธนาวีที่อ่าวเลย์เต ยุทธนาวีที่มิดเวย์ ยุทธนาวีที่ซาลามิส ยุทธนาวีที่ทะเลชวา ยุทธนา มุกดาสนิท ยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมะ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ยุทธนาวีเกาะช้าง http://www.alabordache.com/marine/espacemarine/des... http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=skyman&mon... http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=hummel&gr... http://www.ekohchang.com/mapkohchang-google.html http://tgfleet.com/modules.php?name=News&file=arti... http://lamotte.picquet.free.fr http://www.defense.gouv.fr/marine/votre_espace/par... http://pagesperso-orange.fr/pierre.gay/EngPages/Ar... http://www.netmarine.net/bat/croiseur/lamotte/kohc... http://www.heritage.thaigov.net/