ประวัติและลักษณะจำเพาะ ของ ยุทธหัตถี

การกระทำยุทธหัตถีเป็นประเพณีสงครามที่รับมาจากอินเดีย โดยช้างที่ใช้ เรียกว่า "ช้างศึก" โดยมากจะนิยมเลือกใช้ช้างพลายที่กำลังตกมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงครามจะกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา เกิดความฮึกเหิมเต็มที่ โดยจะแต่งช้างให้พร้อมในการรบ เช่น ใส่เกราะที่งวงหรืองาเพื่อรื้อทำลายค่ายคูของฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า "ช้างกระทืบโรง" หรือล่ามโซ่หรือหนามแหลมที่เท้าทั้งสี่ ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิ เรียกว่า "ผ้าหน้าราหู"

ตำแหน่งของผู้ที่นั่งบนหลังช้างจะมีด้วยกัน 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง จะเป็นผู้ทำการต่อสู้ โดยอาวุธที่ใช้สู้ส่วนมากจะเป็นง้าว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ เป็นต้น และตำแหน่งควาญช้างซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด และหากเป็นช้างทรงของพระมหากษัตริย์ จะมีทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า "จาตุรงคบาท" ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย หากตามไม่ทันจะมีโทษถึงชีวิต

โดยมากแล้ว ผลแพ้ ชนะของการทำยุทธหัตถีจะขึ้นอยู่กับขนาดของช้าง ช้างที่ตัวใหญ่กว่าจะสามารถข่มขวัญช้างที่ตัวเล็กกว่า เมื่อช้างที่ตัวเล็กกว่าหนีหรือหันท้ายให้ หรือช้างตัวใดที่สามารถงัดช้างอีกตัวให้ลอยขึ้นได้ จะเปิดจุดอ่อนให้โจมตีได้ตรง ๆ การฟันด้วยของ้าวเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ถึงชีวิตได้ โดยร่างอาจขาดหรือเกือบขาดเป็นสองท่อนได้ เรียกว่า "ขาดสะพายแล่ง" [1]

ช้างศึก

ช้างที่จะถูกจัดให้เป็นช้างศึกนั้น ต้องเป็นช้างพลาย (ช้างเพศผู้) มีลักษณะตรงตามตำราคชลักษณ์ คือ รูปร่างใหญ่โตกำยำ หัวกะโหลกหนาและใหญ่ แก้มเต็มสมบูรณ์ หน้าเชิดหลังต่ำ งายาวใหญ่มีความโค้งและแหลมคมได้ที่ โดยที่ช้างเชือกที่ฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและสามารถสู้เอาชนะช้างเชือกอื่นได้ จะถูกเรียกว่า "ช้างชนะงา"

นักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องช้างในประเทศไทยเชื่อว่า ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2310 ช้างต้นที่เป็นทั้ง ช้างศึกและช้างเผือก ในพระราชวังน่าจะอพยพหนีมาอยู่ยังเขาอ่างฤๅไน ซึ่งในสมัยโบราณช้างที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นช้างต้น จะอยู่ที่ ดงพญาเย็น หรือ ดงพญาไฟ ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน จังหวัดฉะเชิงเทรา นักวิชาการเชื่อว่า ช้างป่าที่อาศัยอยู่ ณ ที่นี้น่าจะสืบเชื้อสายมาจากช้างศึกหรือช้างเผือกในสมัยโบราณ เพราะเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2549 เจ้าหน้าที่ของอุทยาน สามารถบันทึกภาพช้างป่าตัวผู้ ตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะของช้างศึก และให้ชื่อช้างตัวนี้ว่า "รถถัง" และยังพบช้างป่าอีกตัวหนึ่งที่มีลักษณะตรงตามลักษณะช้างศึกอีกเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นสถานที่พบช้างเผือกในรัชกาลปัจจุบันอีกด้วย[2]