วีรกรรม ของ ยุวชนทหาร

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้
ภาพจำลองเหตุการณ์การรบของยุวชนทหารที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงกลางปี พ.ศ. 2482 สงครามได้ลุกลามออกไป มีประเทศต่างๆเข้าร่วมรบมากมาย จนกระทั่งญี่ปุ่นได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี และ อิตาลี ในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกอย่างเต็มตัว ด้วยการยึดดินแดนที่เป็นอาณานิคมของชาติฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน) โดยชูนโยบาย เอเชียเพื่อชาวเอเชียเพื่อสร้างเอเชียให้เป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า สงครามมหาเอเชียบูรพาในตอนเช้าตรู่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีฐานทัพเพิร์ลฮาเบอร์ของสหรัฐอเมริกา และส่งกองทัพไปโจมตีประเทศอื่นๆ ในแถบแปซิฟิก หมู่เกาะต่างๆของอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ รวมถึงไทยด้วย ทำให้ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด

เวลา ประมาณ 23.00 น.บริเวณอ่าวชุมพร วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองเรือรบญี่ปุ่นเผชิญพายุฝนทำให้กำหนดการบุกขึ้นฝั่งคลาดเคลื่อน รุ่งเช้า วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดชุมพร 2 จุด คือที่บ้านแหลมดิน และบ้านคอสน กองทหารญี่ปุ่นที่บ้านแหลมดินเป็นทัพหน้า จัดรูปขบวนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่ถนนชุมพร ส่วนทหารญี่ปุ่นที่บ้านคอสนเคลื่อนทัพไปทางทิศใต้ ตามแนวชายฝั่ง และค่อยไปสมทบกับทัพหน้าที่สะพานท่านางสังข์ เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร หลวงจรูญประศาสน์ (จรูญ คชภูมิ)ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพรทราบข่าวการยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นราว 6 นาฬิกา 30 นาที จึงสั่งให้ พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธร และร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 จัดกำลังไปต้านทานกองทัพญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทางปากน้ำชุมพร เวลา ประมาณ 7 นาฬิกา 15 นาที ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้เคลื่อนย้ายกำลังออกปฏิบัติการ โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ใช้กำลังยุวชนทหาร 5 นาย ตำรวจภูธร 5 นาย และราษฎรอาสาสมัคร 1 คน พร้อมด้วยปืนกลเบา 1 กระบอก ในความควบคุมของ จ.ส.อ.จง แจ้งชาติ เดินทางมุ่งไปรักษาเส้นทางอ่าวพนังตัก หน่วยนี้ไม่พบข้าศึกเลย
  • ส่วนที่ 2 ใช้กำลังยุวชนทหาร 30 นาย ในความควบคุมของ ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน และสิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ครูฝึก เคลื่อนย้ายโดยรถยนต์บรรทุกตามเส้นทางชุมพร-ปากน้ำไปสะพานท่านางสังข์ ยุวชนทหารทั้งหมดที่เข้าการรบเป็นยุวชนทหารชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาแล้วเป็นอย่างดีและกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ของปีการศึกษานั้น

เมื่อไปถึงสะพานท่านางสังข์ก็ต้องหยุดเข้าสมทบกับกำลังตำรวจ ที่กำลังปะทะอยู่กับทหารญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว ร้อยเอกถวิลฯได้ขึ้นไปตรวจการณ์บนสะพาน ถูกข้าศึกยิงแต่ไม่เห็นตัวข้าศึก เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าสลับสวนมะพร้าว และทุ่งนาป่าละเมาะ ข้าศึกก็พรางตัวอย่างดีด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ร้อยเอกถวิลฯ จึงรวมกำลังยุวชนทหารทั้งหมดข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม โดยให้ยุวชนทหาร 3 นาย ที่ไม่มีปืนวิ่งกลับไปรับกระสุนเพิ่มเติมจากในเมือง ในการเคลื่อนที่ข้ามสะพานไปยึดพื้นที่ฝั่งตรงข้ามนั้น ร้อยเอกถวิลฯไ ด้สั่งให้ยุวชนทหารทุกนายติดดาบปลายปืนพร้อมที่จะเข้าตะลุมบอนกับทหารญี่ปุ่นทันที แต่โชคไม่ดีขณะที่ร้อยเอกถวิลฯ วิ่งนำยุวชนทหารอยู่นั้น ร้อยเอกถวิลฯ ได้ถูกข้าศึกยิงเข้าที่ซอกคอ กระสุนทะลุหลอดลมเสียชีวิตทันที ยุวชนทหารวัฒนา นิตยนารถ ได้รีบรายงานให้สิบเอกสำราญ ควรพันธ์ ทราบ สิบเอกสำราญฯ จึงปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมยุวชนทหารแทน และได้สั่งให้ยิงต่อสู้ข้าศึกต่อไปอย่างเหนียวแน่น ทหารญี่ปุ่นได้เสริมกำลังเข้ามาเรื่อยๆ โดยพรางตัวด้วยกิ่งไม้ ใบไม้ ดูไกลๆ เหมือนป่าเคลื่อนที่เข้ามา ฝนก็ตกหนักตลอดเวลา ยุวชนทหารได้รับคำสั่งให้ยิงทันทีเมื่อเห็นกิ่งไม้ใบไม้ไหว ทำให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดการบุกชั่วขณะหนึ่ง ได้ยินเสียงทหารญี่ปุ่นร้องเมื่อถูกยิงอย่างชัดเจน สิบเอกสำราญฯ เองก็ถูกยิงที่แขนขวา เนื้อขาดไปทั้งก้อนจนปืนหลุดจากมือ ยุวชนทหารละออ เหมาะพิชัย ได้เข้ามาปฐมพยาบาล พอปฐมพยาบาลเสร็จ สิบเอกสำราญฯเกิดหมดสติเพราะเสียเลือดจึงไม่สามารถบัญชาการการรบต่อไปได้ ยุวชนทหารมารุต ไทยถาวรจึงบัญชาการรบแทน มารุตได้สั่งให้กำลังพลยุวชนทหารต้องต่อสู้กับญี่ปุ่นโดยลำพังด้วยความรักชาติ ความกล้าหาญ การเสียสละเพื่อพิทักษ์แผ่นดินไทย การสู้รบได้ยื้อเยื้อจนกระทั่งรัฐบาลได้สั่งให้มีการหยุดยิงผ่านทางรถวิทยุกระจายเสียง