การจัดการ ของ รถรางกรุงเทพ

เมื่อ พ.ศ. 2448

รถรางในสมัยแรกที่ยังไม่ใช้ไฟฟ้า ใช้ม้าเทียม 8 แยกเป็น 2 พวง พวงละ 4 ตัว ในพวงหนึ่ง ๆ มีม้า 2 คู่ พวงที่อยู่หน้าใช้เฉพาะขึ้นสะพาน มีการเปลี่ยนม้าเป็นระยะ ๆ หากม้าไม่ไหวหรือล้มไป โดยเปลี่ยนตามระยะที่วางอะไหล่ไว้[5]

ลักษณะรถรางส่วนใหญ่มีสองสีคู่กัน สีที่ใช้แตกต่างกันตามเส้นทาง มีที่นั่งขนานตามทางยาวกับตัวตู้ 26 ที่นั่ง มีที่ว่างตรงกลางให้ผู้โดยสารยืนได้ 34 คน ช่วง สามารถจุคนได้ทั้งสิ้นรวม 60 คน ที่นั่งแบ่งชั้นบริการเป็นรถรางชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีฉากลูกกรงไม้แบ่งครึ่งกลางคัน โดยรถรางชั้นสอง จะไม่มีเบาะรอง ส่วนชั้นหนึ่ง มีเบาะนั่ง ในปีสุดท้ายของกิจการรถรางสายดุสิต คิดค่าโดยสารเป็นระยะหรือสถานี ระยะละ 50 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นหนึ่ง และระยะละ 25 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นสอง ในปีสุดท้ายของกิจการรถรางสายหัวลำโพง คิดค่าโดยสารเป็นระยะหรือสถานี ระยะละ 30 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นหนึ่ง และระยะละ 15 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นสอง[6]

แต่ละคันมีกำลังขับ 40 แรงม้า มีท่ารถรางสี่แห่งที่สะพานดำ สะพานเหลือง บางกระบือ และบางคอแหลม สำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนท่าช้าง ทีโรงจอดที่เป็นโรงซ่อมด้วยอยู่บริเวณแยกแม้นศรี

ป้ายหยุดรถมีลักษณะคล้ายธง มี 2 สี คือ ธงสามเหลี่ยมสีแดงมีดาวตรงกลางคือจุดจอด ขึ้นลงและรับผู้โดยสาร ส่วนธงสามเหลี่ยม สีเขียวมีดาวตรงกลางคือป้ายแสดงจุดให้รถรางรอหลีกขบวนกัน