ฝ่ายนิติบัญญัติ ของ รัฐบาลไทย

ดูบทความหลักที่: รัฐสภาไทย

รัฐสภาเป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ เป็นองค์กรบริหารอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาไทยเป็นแบบระบบสองสภา ประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกรัฐสภาทั้งสิ้น 750 คน ใช้ห้องประชุมจันทรา สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ห้องประชุมรัฐสภาไทย

สภาผู้แทนราษฎรมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 500 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเลือกพรรคการเมืองที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้น มีอำนาจที่สำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติ ตลอดจนการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อาทิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นต้น[2]

วุฒิสภามีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 250 คน ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี มาจากการสรรหาทั้งหมด (ดูในมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560) มีอำนาจกลั่นกรองและยับยั้งกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นต้น[3]