ฝ่ายตุลาการ ของ รัฐบาลไทย

ดูบทความหลักที่: ศาลไทย

ศาลไทยเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาทุกระดับจำต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย ศาลปฏิบัติการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลไทยมี 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) วิจารณ์ว่า ระบบศาลไทย โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น "เลอะเทอะ" และไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่า กระบวนพิจารณาจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ดและเป็นธรรม แม้คดีลอบฆ่าประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฎีกาเอง ศาลชั้นต้นยังใช้เวลาพิจารณาถึง 15 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2536 ถึงปี 2551 ในช่วงดังกล่าว จำเลยต้องขึ้นศาล 461 ครั้ง และถูกผู้พิพากษา 91 คนไต่สวน จำเลยบางคนตายก่อนพิพากษา ส่วนประมาณตายอย่างสงบด้วยโรคปอดติดเชื้อเมื่อปี 2550[4]อนึ่ง หลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารได้เพิ่มขยายบทบาทและอำนาจหน้าที่ขึ้นมามาก จนกระทั่ง 9 กรกฎาคม 2562 คสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น และบางคำสั่งได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหมายไว้แล้ว โดยให้โอนย้ายคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลทหารไปอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม