รัฐประหารในประเทศไทย_เมษายน_พ.ศ._2476

เหตุการณ์ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เหตุสืบเนื่องจากการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับที่เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" พระยามโนปกรณ์นิติธาดาใช้เล่ห์กลปัดร่างดังกล่าวตกไป และยกพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยไม่มีผู้รับสนอง เขาสมคบกับพระยาทรงสุรเดช 1 ใน 4 ทหารเสือผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้นำพระยาฤทธิอัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน ใช้กำลังทหารล้อมสภาไว้และสั่งปิดสภาโดยความตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ปิดสภาฯของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ความว่า...ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดการแตกแยกเป็น ๒ พวก มีความเห็นแตกต่างกัน ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบประเพณีชาวสยาม และ เป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้น จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ...สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้เล่า ก็ประกอบขึ้นด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ สภานี้มีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ จนกว่าจะมีสภาใหม่โดยราษฎรเลือกตั้งสมาชิกขึ้นมา สภาประกอบด้วยสมาชิกที่แต่งตั้งขึ้นมาชั่วคราวเช่นนี้ หาควรที่ไม่จะเพียรวางนโยบายทางเศรษฐกิจใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเก่าอันมีใช้อยู่ประดุจการพลิกแผ่นดิน ส่วนสภาในเวลานี้จะอ้างว่าไม่ได้ทำ หรือยังไม่ได้ทำกฎหมายอันมีลักษณะไปในทางนั้นก็จริงอยู่ แต่เป็นที่เห็นได้โดยชัดเจนแจ่มแจ้งว่าสมาชิกเป็นจำนวนมากคน มีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี...สำหรับตัวพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเองนั้น ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ คณะนายทหารที่สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯ โดย พระยาทรงสุรเดชจึงขู่ฝ่ายที่สนับสนุนนายปรีดีโดยการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนและลูกระเบิดตรวจค้นสมาชิกสภาฯ ก่อนจะเข้าที่ประชุม ดังที่วิเทศกรณีย์บันทึกไว้ว่าก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเวลา 09.35 น. นั้น พระยาทรงสุรเดชได้นำเอาทหาร 1 กองร้อยพร้อมสรรพด้วยอาวุธและนัยว่าได้เอาลูกระเบิดมือติดตัวมาด้วย ทหาร 1 กองร้อยดังกล่าวนี้ได้ยืนอยู่ที่เชิงบันไดสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำการตรวจค้นอาวุธที่บรรดาสมาชิกพกติดตัวมา ถ้าใครพกปืนติดตัวมาก็เก็บเอาไว้เสียทันที การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกเป็นส่วนมาก[1]และยกพวกไปล้อมบ้านพักของนายปรีดี เป็นเหตุให้ต้องใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการ รัฐประหารเงียบ พร้อมบีบบังคับนายปรีดีไปที่ประเทศฝรั่งเศส และได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ออกมาใช้ด้วย มีการกวาดล้างจับกุมชาวเวียดนามที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกันคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์สยามก็ถูกจับและถูกจำคุก ทั้งนี้มีบันทึกที่ไม่เป็นทางการว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา และ พระยาทรงสุรเดช ร่วมมือกันในการขจัดบทบาททางการเมืองของคนสำคัญในคณะราษฏรเอง เช่น นายปรีดี พนมยงค์ และหลวงพิบูลสงคราม เป็นต้นเหตุความขัดแย้งขึ้นยังคงดำเนินต่อมา นำไปสู่การปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ให้การสนับสนุนคณะราษฎร จนทำให้เกิดเหตุรัฐประหารอีกครั้งด้วยกำลังทหารในอีก 69 วันต่อมา ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ปีเดียวกัน[2] ซึ่งคณะนายทหารคณะราษฎรได้รัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เรียกตัวนายปรีดีกลับมา และเนรเทศพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไปปีนังแทนด้วยรถไฟ และถึงแก่กรรมที่นั่นในที่สุด สำหรับพระยาทรงสุรเดช นี่เป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งที่นำไปสู่การกล่าวหาในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดชต่อไป[3]

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหาร รัฐประหารในประเทศพม่า พ.ศ. 2564 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในอิหร่าน พ.ศ. 2496 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500