ประวัติศาสตร์ ของ ราชอาณาจักรนาวาร์

ยุคเริ่มต้นของราชวงศ์นาวาร์

ในปี ค.ศ. 714 ชาวมัวร์ซึ่งเป็นชาวมุสลิมได้เข้ายึดครองลุ่มแม่น้ำเอโบร ทว่ามีอำนาจไม่มากพอที่จะกุมอำนาจทางการเมืองและสังคมได้ ผู้ปกครองชาวบาสก์ของปัมโปลนาจึงยังคงมีอิสรภาพในระดับหนึ่ง ต่อมาชาวคริสต์ลุกขึ้นมาต่อต้านชาวมัวร์ ราวปี ค.ศ. 798 อิญญิโก อารีสตาได้ยุติการอยู่ภายใต้อำนาจของชาวมัวร์และสถาปนาตนเป็นผู้ปกครองอิสระภายใต้ร่มเงาของชาวแฟรงก์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์อิญญิเกซ ราชวงศ์แรกที่ปกครองนาวาร์ (หรือราชอาณาจักรปัมโปลนา) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 เมื่อพระเจ้าการ์ซีอา อิญญิเกซได้ขึ้นครองอำนาจ ราชวงศ์อิญญิเกซของนาวาร์ก็มีอำนาจแข็งแกร่งพอที่จะไม่ต้องอยู่ภายใต้ร่วมเงาของใคร พระองค์ได้สร้างสายสัมพันธ์ทางการทูตและครอบครัวกับราชอาณาจักรอัสตูเรียส

สถานะทางการเมืองของนาวาร์เป็นมั่นคงขึ้นภายใต้การปกครองของราชวงศ์ต่อมา คือ ราชวงศ์ฆีเมเนส พระเจ้าซันโช การ์เซส ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฆีเมเนสได้ดำเนินนโยบายขยายอาณาเขตด้วยการต่อสู้กับชาวมัวร์ พระองค์ได้สร้างสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรคริสเตียนอื่น ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย

ยุคเรืองอำนาจ

ภายใต้การปกครองของพระเจ้าซันโช การ์เซสและรัชกาลต่อ ๆ มานาวาร์ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางอำนาจ การผสมผสานระหว่างความช่ำชองทางการทูตและความแข็งแกร่งทางการทหารทำให้ราชอาณาจักรอยู่รอดในยุคที่อิทธิพลของรัฐเคาะลีฟะฮ์ในสเปนรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 10

พระเจ้าซันโช การ์เซสที่ 3 มหาราชซึ่งปกครองนาวาร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1004 ถึง ค.ศ. 1035 สามารถรวมราชอาณาจักรชาวคริสต์ในสเปนเป็นหนึ่งเดียวได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ โดยทรงปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของชาวคริสต์ในคาบสมุทรไอบีเรีย ได้แก่ ปัมโปลนา, นาเฆรา, อารากอน, โซบราเบ, ริบาร์โกร์ซา, กัสติยา และเลออน ขณะเดียวกันได้อ้างสิทธิ์ในกัสกอญและเคาน์ตีบาร์เซโลนา รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคแห่งการขยายตัวทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของราชอาณาจักรปัมโปลนาไปพร้อม ๆ กับการขยายอาณาเขต พระมหากษัตริย์นาวาร์เป็นผู้บริหารจัดการเส้นทางสู่ซันเตียโก ทรงนำสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์มาใช้ และเผยแผ่วัฒนธรรมคลูนิคไปทั่วราชอาณาจักร

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 ราชอาณาจักรปัมโปลนาถูกบีบให้หยุดการขยายอาณาเขตเนื่องจากอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกัสติยาและอารากอน ซึ่งคุกคามความมั่นคงทางการเมืองของราชอาณาจักรที่ผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียว การไม่ยอมตัดสินใจว่าจะตั้งตนเป็นอิสระหรือจะอยู่ภายใต้ร่วมเงาของฝรั่งเศสทำให้กษัตริย์ของกัสติยาและอารากอนซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของนาวาร์ตกอยู่ในสถานะลำบากในช่วงสมัยกลางตอนต้น

ยุคภายใต้ราชบัลลังก์อารากอน

จักรวรรดิของพระเจ้าซันโชคงอยู่ได้ไม่นาน ในปี ค.ศ. 1076 พระเจ้าซันโช รามีเรซแห่งอารากอนได้เข้ายึดครองปัมโปลนา ทำให้ราชอาณาจักรตกอยู่ภายใต้การปกครองของอารากอนจนถึงปี ค.ศ. 1134 กระทั่งแยกตัวออกมาในรัชสมัยของพระเจ้าการ์ซีอา รามีเรส และกลับมามีอิสรภาพทางการเมืองอีกครั้ง ในรัชสมัยต่อมาของพระเจ้าซันโชที่ 6 ราชอาณาจักรปัมโปลนาได้เปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรนาวาร์ เพื่อยืนยันถึงอำนาจทางการเมืองและความเป็นอธิปไตยทางอาณาเขต ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรอื่นในคาบสมุทรไอบีเรีย โดยเฉพาะกัสติยา

ทว่าในระหว่างการกอบกู้อิสรภาพกลับคืนมานี้อาณาจักรได้สูญเสียอาณาเขตไปอย่างต่อเนื่อง จนในปี ค.ศ. 1200 ในรัชสมัยของพระเจ้าซันโชที่ 7 ดินแดนอาลาบา, กีปุซโกอา และดุรันเกซาโดในบิซกายาถูกพระมหากษัตริยกัสติยาพิชิตเอาไป ฝั่งตะวันตกของนาวาร์จึงถูกพรมแดนของกัสติยาขวางไว้ บีบให้นาวาร์หันไปให้ความสนใจกับการขยายอาณาเขตไปทางเหนือสู่ดินแดนอุลตราปูเอร์ตอสของฝรั่งเศสและทางตะวันออกสู่พื้นที่ชายแดนที่ติดกับอารากอนแทน

ยุคภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส

ทิศทางของประวัติศาสตร์นาวาร์เปลี่ยนไปในปี ค.ศ. 1234 เมื่อการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าซันโชที่ 7 ทำให้ราชวงศ์นาวาร์สิ้นสุดลง ราชอาณาจักรยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสเพื่อเอาตัวรอดจากแรงกดดันจากกัสติยาและอารากอน ชาวฝรั่งเศสกลุ่มแรกที่ขึ้นครองบัลลังก์นาวาร์คือราชวงศ์ช็องปาญ โดยตีโบที่ 1 เคานต์แห่งช็องปาญ พระภาคิไนยของพระเจ้าซันโชที่ 7 ต่อด้วยราชวงศ์กาแปที่ครองทั้งบัลลังก์ฝรั่งเศสและบัลลังก์นาวาร์ในช่วง ค.ศ. 1274 ถึง ค.ศ. 1326 ผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังในประวัติศาสตร์นาวาร์คือชาร์ลที่ 2 เคานต์แห่งเอเวรอที่ทำให้นาวาร์มีความสำคัญในระดับนานาชาติจากการเข้าไปพัวพันในกิจการภายในของฝรั่งเศส จนนำพาราชอาณาจักรต่าง ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรียเข้าสู่สงครามร้อยปี ชาร์ลมีความทะเยอทะยานที่จะกอบกู้ดินแดนเดิมในสเปนที่เคยเป็นราชอาณาจักรในยุคของพระเจ้าซันโช การ์เซสที่ 3 กลับคืนมา พระองค์ได้รับสมญานามว่า "ผู้ร้ายกาจ" จากการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศของนาวาร์อย่างน่าไม่อายอยู่บ่อยครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยแรงกดดันจากต่างประเทศที่มีต่อนาวาร์ ทว่าพระเจ้าชาร์ลเป็นทีจงรักภักดีของคนในปกครองและรักษาเอกราชของนาวาร์ไว้ได้ แต่พระองค์ได้สูญเสียการครอบครองในฝรั่งเศสทั้งหมดยกเว้นอัลเลียนปูเอร์ตอส ในปี ค.ศ. 1379 พระองค์ถูกบีบคั้นจนต้องยอมให้ทหารรักษาการณ์ของกัสติยาเข้ามาอยู่ในปราสาททางตอนใต้ของพระองค์

ความขัดแย้งเรื่องการสืบราชบัลลังก์และการสิ้นสภาพความเป็นราชอาณาจักร

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ก่อเกิดความขัดแย้งในการสืบราชบัลลังก์จนนำไปสู่สงครามกลางเมือง พระเจ้าชวนที่ 2 ผู้นำฝ่ายอารากอนได้สมรสกับบลังกา ทายาทในราชบัลลังก์นาวาร์และขึ้นครองตำแหน่งเป็นกษัตริยแห่งนาวาร์และอารากอนในปี ค.ศ. 1458

ในปี ค.ศ. 1484 ราชบัลลังก์ตกเป็นของฌ็องที่ 2 แห่งอาลแบร แต่อิสรภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้สำหรับนาวาร์ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองรัฐใหญ่ที่เป็นศัตรูกัน คือ ฝรั่งเศสและสเปน สงครามภายในดำเนินอยู่ครึ่งศตวรรษและสร้างประโยชน์ให้แก่พระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอนซึ่งให้การสนับสนุนฝ่ายบูมงต์และเข้ารุกรานนาวาร์ในปี ค.ศ. 1512 ในปี ค.ศ. 1515 ราชอาณาจักรถูกผนวกเข้ากับราชบัลลังก์กัสติยาอย่างเป็นทางการ ความพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ทำให้ดอนฌ็องและดอนญากาตาลีนา เด อาลแบร สองกษัตริย์คู่สุดท้ายแห่งนาวาร์ขอลี้ภัยในอีกฝั่งหนึ่งของเทือกเขาพิรินีและไม่ได้ข้ามกลับมาอีก ทั้งคู่ได้ให้การสนับสนุนราชวงศ์บูร์บงที่ขึ้นมามีอำนาจในฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1555 นาวาร์ฝั่งฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ราบชันทางตะวันตกของเทือกเขาพิรินียังคงความเป็นราชอาณาจักรอิสระได้จนถึงปี ค.ศ. 1589 จนถูกรวมเข้ากับฝรั่งเศส ราชวงศ์บูร์บงของฝรั่งเศสได้ขึ้นปกครองสเปนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1700 เป็นต้นมา แต่ในฝรั่งเศสราชวงศ์ถูกปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789

หลังถูกกัสติยาพิชิต นาวาร์ถูกบริหารปกครองโดยอุปราชซึ่งมีอำนาจเทียบเท่ากษัตริย์แห่งปัมโปลนา ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ ของราชอาณาจักร โดยเฉพาะสภานิติบัญญัติ มียังคงอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีการออกกฎหมายยกให้การเงินของราชอาณาจักรอยู่ในการตัดสินใจของกษัตริย์สเปน ในปี ค.ศ. 1576 ได้มีการจัดตั้งสภาอาณาจักรขึ้นมาแทนที่สภานิติบัญญัติและบริหารปกครองนาวาร์ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นสภาจังหวัด ต่อด้วยสภาภูมิภาคนาวาร์ และในปี ค.ศ. 1982 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบาลนาวาร์ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของสเปน แต่นาวาร์มีการบริหารปกครองและกฎหมายเป็นของตนเองในฐานะแคว้นปกครองตนเอง

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา