ประวัติศาสตร์ ของ ราชอาณาจักรอารากอน

การถือกำเนิด

อารากอนเดิมทีเป็นเคานตีตามระบอบศักกดินาของราชวงศ์การอแล็งเฌียงซึ่งตั้งอยู่แถวเมืองฆากา ต่อมาในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 9 ได้กลายเป็นรัฐบริวารของราชอาณาจักรปัมโปลนา (ต่อมาคือราชอาณาจักรนาวาร์) ตระกูลของเคานต์แห่งอารากอนสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 922 เมื่อไร้ซึ่งทายาทเพศชาย

หลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าซันโชที่ 3 แห่งนาวาร์ในปี ค.ศ. 1035 ราชอาณาจักรนาวาร์ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ (1) ปัมโปลนาและดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปตามแนวชายฝั่งและพื้นที่ทางตะวันตกของแคว้นบาสก์ (2) กัสติยา และ (3) โซบราเบ, ริบาร์โกร์ซา และอารากอน กอนโซลา พระโอรสของพระเจ้าซันโช ได้สืบทอดต่อโซบราเบและริบาร์โกร์ซา ขณะที่รามิโร บุตรชายนอกสมรสได้บริหารปกครองอารากอนภายใต้การปกครองของกอนซาโลอีกทีหนึ่ง[2] แต่หลังจากนั้นไม่นานกอนซาโลถูกสังหาร ดินแดนทั้งหมดที่เป็นของพระองค์จึงตกเป็นของรามิโร พระอนุชานอกสมรสที่กลายเป็นกษัตริย์แห่งอารากอนในทางพฤตินัยคนแรก[3] แม้พระองค์จะไม่เคยได้ครองตำแหน่งนี้ อารากอนถูกจำกัดพื้นที่ด้วยเทือกเขาพีรินีและมีพรมแดนติดกับราชอาณาจักรนาวาร์ที่ทรงอำนาจที่สุดและไตฟาซาราโกซาที่มีความสำคัญ แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและความต้องการดินแดนมาเป็นที่อยู่อาศัยผลักดันให้ต้องขยายอาณาเขต แม้ว่าในช่วงแรกจะมีการทหารที่อ่อนแอ[4]

หลังปราบพระเชษฐา พระเจ้าการ์ซิอา ซันเชซที่ 3 แห่งนาวาร์ ได้ รามิโรสร้างเอกราชให้อารากอนได้สำเร็จ พระโอรสของพระองค์ พระเจ้าซันโช รามิเรซ ที่ได้สืบทอดต่อราชอาณาจักรนาวาร์ด้วยเป็นคนแรกที่เรียกตนเองว่า "กษัตริย์ของชาวอารากอนและชาวปัมโปลนา"[5]

การขยายอาณาเขต

จุดมุ่งหมายของพระเจ้ารามิโรที่ 1 ในการพิชิตพื้นที่ราบกลับคืนมาได้รับการสานต่อจากผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์ทันที

พระเจ้าซันโช การ์เซสที่ 4 แห่งนาวาร์ถูกพระอนุชาของตนเองสังหารในปี ค.ศ. 1076[4] ชาวนาวาร์ไม่ต้องการได้คนที่ฆ่าพี่น้องมาบริหารปกครองจึงเลือกพระเจ้าซันโช รามิเรซแห่งอารากอนเป็นกษัตริย์ อันเป็นการรวมราชบัลลังก์ปัมโปลนาเข้ากับอารากอน ราชอาณาจักรนาวาร์ถูกแบ่งให้ราชอาณาจักรเลออน-กัสติยา และราชอาณาจักรอาณาจักรอารากอนซึ่งได้รับอาณาเขตสำคัญ หนึ่งในนั้นคือเมืองหลวงของนาวาร์ และขยายขนาดใหญ่ขึ้นสามเท่า แม้จะต้องแลกกับการยอมรับการครองอำนาจเหนือกว่าในทางทฤษฎีของเลออน-กัสติยา[4] เพื่อฉลองการขยายอาณาเขต พระเจ้าซันโชได้ก่อตั้งเมืองฆากาขึ้น ขณะควบคุมพื้นที่สูงที่มีพรมแดนติดกันแม่น้ำเอโบรทางตอนเหนือ พระองค์ได้ทำการรุกรานหลายครั้ง โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ไตฟาซาราโกซา และได้พยายามขยายอาณาเขตไปทางพื้นที่ราบ โดยมีเป้าหมายหลักคือพื้นที่ราบที่อยู่ติดกับหุบเขาอารากอน, โซบราเบ และริบาโกร์ซา[6] เพื่อชดเชยการขาดแคลนกำลังพลที่จำเป็นต้องใช้ในการขยายอาณาเขต พระองค์ได้พยายามนำเอากำลังพลมาจากทางใต้ของฝรั่งเศส[6] การขยายดินแดนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการพิชิตจุดยุทธศาสตร์อย่างเกราส์ในปี ค.ศ. 1083 และอาเยร์เบในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน[7] ในปี ค.ศ. 1089 การปิดล้อมมอนซอนของอารากอนถูกขัดขวางโดยชุมชนทีตั้งอยู่ระหว่างแยย์ดากับอูเอสกา ในปี ค.ศ. 1091 อารากอนได้สร้างปราสาทเอลกัสเตยาร์ขึ้นมาบนพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างซาราโกซากับตูเดลา[8] พระเจ้าซันโชทำการปิดล้อมเมืองอูเอสกาซึ่งเป็นเมืองสำคัญที่มีขนาดใหญ่กว่าฆากาและปัมโปลนา แต่ทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อน ผู้ที่ขึ้นสืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ทันทีคือพระเจ้าเปโดร พระโอรส ที่กลับมาปิดล้อมเมืองต่อทันที[9]

พระเจ้าเปโดรที่ 1 แห่งอารากอนพิชิตอูเอสกาได้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1096 หลังปราบพระเจ้าอัลมุสตาอินที่ 2 แห่งไตฟาซาราโกซาได้ในสมรภูมิอัลกอรัซซึ่งต่อสู้กันเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนของปีเดียวกันนั้น[10] ในปี ค.ศ. 1101 ทรงยึดบาร์บัสโตรและซารีญเญนา และยึดตามารีเตเดลีเตราได้ในปี ค.ศ. 1104

ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 1 ผู้ประจันบาญ การยึดซาราโกซาได้ในปี ค.ศ. 1118 นำไปสู่การล่มสลายของราชอาณาจักรมัวร์ทั้งหมด พระเจ้าอัลฟอนโซประสบความล้มเหลวในชีวิตแต่งงานกับพระราชินีอูร์รากาแห่งเลออน ทั้งคู่ไม่มีพระโอรสธิดาด้วยกัน ตามพระประสงค์ของพระองค์ ทรงยกราชอาณาจักรของตนให้กับกลุ่มทหารสามกลุ่ม แต่ไม่มีใครคิดจะทำตามพระประสงค์นั้น ขุนนางอารากอนได้รวมตัวกันที่ฆากาและยอมรับรามิโร พระอนุชาของพระองค์เป็นกษัตริย์ ฝั่งนาวาร์ได้เลือกการ์ซิอา รามิเรซเป็นกษัตริย์ และแยกตัวออกมาเป็นราชอาณาจักรนาวาร์ ในตอนนั้นรามิโรดำรงตำแหน่งเป็นบิชอปแห่งโรดา-บาร์บัสโตร แต่ต้องมาครองบัลลังก์

ราชบัลลังก์อารากอน

ตำแหน่งที่ตั้งของอารากอนในราชบัลลังก์อารากอน

ในปี ค.ศ. 1137 พระเจ้ารามิโรที่ 2 ผู้เป็นพระได้ตกลงหมั้นหมายเปโตรนิยาแห่งอารากอน พระธิดาเพียงคนเดียวของพระองค์ กับราโมน บารังเกที่ 4 แห่งบาร์เซโลนา พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 2 แห่งอารากอน พระโอรสของทั้งคู่เป็นกษัตริย์คนแรกที่สืบทอดตำแหน่งเป็นทั้งกษัตริย์แห่งอารากอนและเคานต์แห่งบาร์เซโลนา และปกครองอาณาเขตที่ไม่ได้มีเพียงแคว้นอารากอนในปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงกาตาลุญญา และมาจอร์กา, บาเลนเซีย, ซิซิลี, เนเปิลส์ และซาร์ดิเนียในเวลาต่อมา กษัตริย์แห่งอารากอนเป็นกษัตริย์โดยตรงของแคว้นอารากอน และยังครองตำแหน่งเป็นเคานต์แห่งโพรว็องส์, เคานต์แห่งบาร์เซโลนา, ลอร์ดแห่งมงเปอลีเย และดยุคแห่งเอเธนส์และเนโอปาเตรีย ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไปเมื่อทรงสูญเสียและพิชิตดินแดนได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระราชอำนาจถูกจำกัดโดยสหภาพอารากอน

การรวมกันของราชบัลก์อารากอนและราชบัลลังก์กัสติยา และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

ราชบัลลังก์อารากอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบกษัตริย์ของสเปนหลังการรวมราชวงศ์กับกัสติยา ซึ่งถูกมองว่าเป็นการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในทางพฤตินัยของราชอาณาจักรทั้งสองภายใต้พระมหากษัตริย์ส่วนกลาง ในปี ค.ศ. 1412 หลังการหมดสิ้นทายาทในปี ค.ศ. 1410 ของราชบาร์เซโลนาซึ่งปกครองราชบัลลังก์มาจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว ผู้สรรหาของอารากอนได้เลือกเจ้าชายกัสติยา เฟร์นันโดแห่งอันเตกีรา เป็นผู้ครองบัลลังก์อารากอนที่ว่างอยู่ ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวกาตาลัน พระเจ้าฆวนที่ 2 แห่งอารากอน หนึ่งในผู้สืบทอดตำแหน่งของพระเจ้าเฟร์นันโด จัดการกับการต่อต้านของชาวกาตาลันด้วยการจับเฟร์นันโด ทายาทแห่งกาตาลุญญา แต่งงานกับอีซาเบล รัชทายาทของพระเจ้าเอนริเกที่ 4 แห่งกัสติยา ในปี ค.ศ. 1479 เมื่อพระเจ้าฆวนที่ 2 สิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์อารากอนและราชบัลลังก์กัสตียาถูกรวมเข้าด้วยกันและกลายเป็นหัวใจหลักของประเทศสเปนในปัจจุบัน ทว่าต่อมาดินแดนของอารากอนตกเป็นของสภาและหน่วยงานอิสระด้านการบริหารปกครอง จนกระทั่งพระเจ้าเฟลิเปที่ 5 แห่งสเปนประกาศใช้พระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตาในช่วงปี ค.ศ. 1707 ถึง ค.ศ. 1715 หลังเกิดสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปนซึ่งสุดท้ายก็ได้ข้อยุติ[11] พระราชกฤษฎีกายุติราชอาณาจักรอารากอน, ราชอาณาจักรบาเลนเซีย, ราชอาณาจักรมาจอร์กา และราชรัฐกาตาลุญญา และรวมดินแดนดังกล่าวเข้ากับกัสติยาเพื่อสร้างราชอาณาจักรสเปนขึ้นมาอย่างเป็นทางการ[12] พระราชกฤษฎีกานูเอบาปลันตาฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 1711 คืนสิทธิบางส่วนให้อารากอน เช่น สิทธิพลเมืองของชาวอารากอน แต่ยังคงการยุติอิสรภาพทางการเมืองของราชอาณาจักรไว้[12]

ราชอาณาจักรอารากอนเดิมเหลือรอดอยู่ในฐานะหน่วยปกครองย่อยจนถึงปี ค.ศ. 1833 เมื่อดินแดนถูกแบ่งออกเป็นสามจังหวัด หลังการเสียชีวิตของฟรานซิสโก ฟรังโกในปี ค.ศ. 1982 อารากอนกลายเป็นหนึ่งในแคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน

ใกล้เคียง

ราชอาณาจักรอิตาลี ราชอาณาจักรกัมพูชา (พ.ศ. 2496–2513) ราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946) ราชอาณาจักรลิเบีย ราชอาณาจักรปรัสเซีย ราชอาณาจักรนาวาร์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรมาเกโดนีอา