สมัยธนบุรี ของ รายชื่อสงครามในประเทศไทย

  • การกอบกู้เอกราชของเจ้าตาก เป็นการรวบรวมกองกำลังของเจ้าตาก เพื่อขับไล่กองทัพพม่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในกรุงศรีอยุธยา ภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง อันส่งผลให้เกิดสภาพจลาจลโดยทั่วไป ราชอาณาจักรอยุธยาเดิมจึงถูกแบ่งออกเป็นชุมนุมต่าง ๆ เป็นอิสระต่อกัน ราวปี พ.ศ. 2309 ก่อนเสียกรุง พระยาตากได้นำทหารในบังคับบัญชาตีฝ่าวงล้อมของกองทัพพม่าไปทางด้านทิศตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา เพื่อรวบรวมผู้คนและยุทธปัจจัยต่าง ๆ มาสู้รบกับกองทัพพม่าอีกครั้ง ในระหว่างนั้นยังได้ตั้งตนเป็นเจ้าเมื่อถึงเมืองระยอง เมื่อ เจ้าตาก เตรียมกำลังรบจนพร้อมสรรพแล้ว จึงได้เคลื่อนพลกลับไปยังกรุงศรีอยุธยาทางด้านปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อทำการขับไล่ทหารพม่าที่ยังคงเหลืออยู่ออกไปได้สำเร็จ
  • การสงครามเพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เตรียมเรือและกำลังจะขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก ครั้นถึงฤดูน้ำนอง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกกำลังขึ้นไปทางเหนือ เจ้าพิษณุโลกให้หลวงโกษา ยัง คุมกำลังมาตั้งรับบริเวณปากน้ำโพ เมื่อฝ่ายธนบุรีมาถึง ก็ได้มีการรบพุ่งกัน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกปืน กองทัพธนบุรีจึงถอยกลับคืนพระนคร เจ้าพิษณุโลกทราบข่าวก็ตั้งตัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่อีก 7 วันต่อมา ก็ถึงแก่พิราลัย[36] ชุมนุมพิษณุโลกก็อ่อนแอลง ไม่นานก็ถูกผนวกรวมกับชุมนุมเจ้าพระฝาง[37] ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้จัดเตรียมกำลังเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้าแผ่นดิน "หุ่นเชิด"[38] ของชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธสู้ไม่ได้ พระองค์จึงถูกนำตัวกลับมายังกรุงธนบุรี และทรงถูกประหารระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311[39] ราวเดือน 4 พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้เจ้าพระยาจักรี (แขก) เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกำลัง 5,000 คน ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราชทางบก เมื่อยกไปถึงท่าหมาก แขวงอำเภอลำพูน แม่ทัพธนบุรีไม่สามัคคี ตีค่ายชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชไม่พร้อมกัน จึงเสียที สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบและประเมินสถานการณ์แล้ว จึงเสด็จยกกองทัพเรือกำลัง 10,000 คน ยกลงไปช่วย ขึ้นบกแล้วเคลื่อนทัพต่อไปจนถึงเมืองไชยา ก่อนจะเข้าตีนครศรีธรรมราช ฝ่ายกองทัพเรือธนบุรีก็ไปถึงเช่นกัน กองทัพธนบุรีจึงตีได้เมืองนครศรีธรรมราช [40] ในปี พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงยกกองทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ตีได้เมืองพิษณุโลก แล้วตามไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางสู้ไม่ได้ จึงนับได้ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว
ภาพจิตรกรรมการรบที่บางแก้ว
  • การสงครามเพื่อปกป้องแผ่นดิน ครั้นพระเจ้ามังระทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตนเป็นใหญ่อีกครั้ง จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ แมงกี้มารหญ้า[41] เจ้าเมืองทวาย ยกทัพมาปราบปราม กองทัพพม่ายกมาถึงอำเภอบางกุ้ง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของกรุงธนบุรี มีกำลังตามพระราชพงศาวดาร 2,000 คน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จนำกองทัพออกตีพม่าจนแตกพ่าย กิตติศัพท์ที่ทรงรบชนะ ทำให้พระราชอำนาจทางการเมืองในภาคกลางยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น[42] ราวปี พ.ศ. 2311 พระองค์ก็ทรงยกทัพไปตีชุมนุมพิษณุโลกอีก แต่กระสุนปืนต้องถูกพระองค์ จึงต้องยกทัพกลับและรักษาพระองค์ยังพระนคร หลังหายจากพระอาการประชวรแล้ว ในระหว่างปี พ.ศ. 2312-2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงใช้เวลาในการปราบปรามชุมนุมอื่น ๆ เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น เริ่มจากชุมนุมเจ้าพิมาย[43] ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช[44] และชุมนุมเจ้าพระฝางตามลำดับ[45] เมื่อทรงปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ลงอย่างราบคาบแล้ว รัฐบาลจีนก็เริ่มให้การยอมรับสถานะพระมหากษัตริย์ของพระองค์อย่างเป็นทางการ[46] นอกจากการต่อสู้เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นแล้ว ยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย ตลอดรัชสมัยทรงทำสงครามกับพม่าถึง 9 ครั้ง แต่ก็ทรงได้รับชัยชนะทุกครั้ง
    • สงครามครั้งที่ 1 รบพม่าที่บางกุ้ง พ.ศ. 2310 เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าเมืองเวียงจันทน์ มีใจฝักใฝ่พม่า ได้กราบทูลข่าวการตั้งตัวเป็นใหญ่ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีให้พระเจ้ามังระ ทราบ พระองค์จึงทรงสั่งให้ แมงกี้มารหญ้า เจ้าเมืองทวาย คุมกำลังมาตรวจตราแผ่นดินไทย มีหน้าที่ปราบปรามผู้ที่กำเริบตั้งตนเป็นใหญ่ให้ราบคาบ แมงกี้มารหญ้ายกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยค ในฤดูแล้งปลายปี พ.ศ. 2310 เมื่อทัพมาถึงบางกุ้ง ซึ่งมีค่ายทหารจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ ก็สั่งให้ทหารเข้าล้อมค่ายนั้นไว้ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นทัพหน้า มีตัวพระองค์เป็นทัพหลวง โจมตีข้าศึก แมงกี้มารหญ้าเห็นสู้ไม่ได้ก็ยกทัพถอยไปทางเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว ทำให้กองทัพไทยสามารถยึดเรือรบ เครื่องศัตราวุธ และเสบียงอาหารเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เมืองราชบุรียังตกอยู่ใต้การปกครองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อีกทั้งยึดได้กองทัพเรือพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่นั่นด้วย[47]
    • สงครามครั้งที่ 2 พม่าตีเมืองสวรรคโลก พ.ศ. 2313 รบกับพม่าครั้งพม่าตีเมืองสวรรคโลก ไทยสามารถตีแตกไปได้[45]
    • สงครามครั้งที่ 3 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. 2313 - พ.ศ. 2314 เป็นการรบกับพม่าเมื่อฝ่ายไทยยกไปตีนครเชียงใหม่ครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากขาดเสบียง[48]
    • สงครามครั้งที่ 4 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 1 พ.ศ. 2315 โปสุพลา แม่ทัพยกทัพไปช่วยเมืองเวียงจันทน์รบกับหลวงพระบาง ขากลับแวะตีเมืองพิชัย แต่ไม่สำเร็จ ไทยชนะ[49]
    • สงครามครั้งที่ 5 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2 พ.ศ. 2316 พม่ายกมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2 แต่พม่าตีไม่สำเร็จ พระยาพิชัย ได้สร้างวีรกรรม พระยาพิชัยดาบหัก[50]
    • สงครามครั้งที่ 6 ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2317 กองทัพไทยชนะ ยึดนครเชียงใหม่กลับจากพม่าได้ เพราะชาวล้านนาออกมาสวามิภักดิ์กับไทย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงแต่งตั้งให้ พระยาจ่าบ้าน เป็น พระยาวิเชียรปราการ ปกครองนครเชียงใหม่ พระยากาวิละ ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์กาวิละ ปกครองนครลำปาง และ พระยาลำพูน เป็น พระยาวัยวงศา ปกครองเมืองลำพูน การครั้งนี้จึงได้ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และ น่าน กลับมาเป็นของไทย[51]
    • สงครามครั้งที่ 7 รบพม่าที่บางแก้วเมืองราชบุรี พ.ศ. 2317 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรู้ข่าวว่าพม่ายกพลตามพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรี โดยทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง ทรงตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตีตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราช ในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่าง ๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากหมดความกลัวเกรงพม่า นับเป็นสงครามแบบจิตวิทยาโดยแท้[52]
    • สงครามครั้งที่ 8 อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ พ.ศ. 2318 เป็นสงครามที่ใหญ่มาก อะแซหวุ่นกี้เป็นผู้นำที่เชี่ยวชาญศึก มีอัธยาศัยสุภาพ ส่วนทางด้านฝ่ายไทยนั้น มี เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) ในการครั้งนี้พม่ายกพลมา 30,000 คน เข้าล้อมเมืองพิษณุโลก อีก 5,000 คน ล้อมเมืองสุโขทัย ส่วนเมืองพิษณุโลกมีพลประมาณ 10,000 คน เท่านั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปช่วย และในที่สุดอะแซหวุ่นกี้ต้องยกทัพกลับ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินพม่าสวรรคต กองทัพพม่าส่วนที่ตามไปไม่ทันจึงถูกกองทัพทหารจับ[53]
    • สงครามครั้งที่ 9 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 2319 พระเจ้าจิงกูจาโปรดให้เกณฑ์ทัพพม่ามอญ 6,000 คน ยกมาตีเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2319 พระยาวิเชียรปราการได้พิจารณาแลเห็นว่า นครเชียงใหม่ไม่มีพลมากมายขนาดที่จะว่าป้องกันเมืองได้ จึงให้ประชาชนพลเรือนอพยพลงมาอยู่ที่เมืองสวรรคโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์คุมกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกองกำลังพระยากาวิ เจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเมืองเชียงใหม่คืนสำเร็จ และทรงให้นครเชียงใหม่เป็นเมืองร้างถึง 15 ปี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้ฟื้นฟูใหม่[54]
แผนที่แสดงอาณาเขตประเทศไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

การขยายอำนาจเข้าสู่อาณาจักรลาว (เวียงจันทน์และหลวงพระบาง) โดยตรงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เช่นเดียวกับการขยายอำนาจสู่เขมร

ใกล้เคียง

รายชื่อสถานีรถไฟ สายใต้ รายชื่อตอนในยอดนักสืบจิ๋วโคนัน (แอนิเมชัน) รายชื่อตอนในวันพีซ (อนิเมะ) รายชื่อตัวละครในวันพีซ รายชื่อเขตของกรุงเทพมหานคร รายชื่อสัตว์ รายชื่อตัวละครในยอดนักสืบจิ๋วโคนัน รายชื่อสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย รายชื่อภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในประเทศไทย รายชื่อตัวละครในเกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว