ลิงจมูกเชิดสีทอง
ลิงจมูกเชิดสีทอง

ลิงจมูกเชิดสีทอง

ลิงจมูกเชิดสีทอง หรือ ค่างจมูกเชิดสีทอง (อังกฤษ: golden snub-nosed monkey; อักษรจีน: 川金丝猴; ชื่อวิทยาศาสตร์: Rhinopithecus roxellana[3]) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทไพรเมต จำพวกค่างชนิดหนึ่งเป็นลิงจมูกเชิดที่เป็นต้นแบบของลิงจมูกเชิดทั้งหมด จัดเป็นค่างหรือลิงโลกเก่าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง มีขนยาว สีขนมีหลากหลายสี ทั้งสีทอง และสีแดง แตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัยและชนิดย่อย (มี 3 ชนิด ดูได้ที่ตางราง[2]) มีความยาวลำตัวประมาณ 51-83 เซนติเมตร ส่วนหางยาวถึง 55-97 เซนติเมตร [4]ตัวผู้มีลักษณะเหมือนกับตัวเมีย แต่มีขนาดใหญ่กว่ามากถึงครึ่งหนึ่ง มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ กินใบไม้และดอกไม้ต่าง ๆ เป็นอาหาร รวมถึงไลเคนและเปลือกไม้ด้วยยามถึงฤดูกาลที่อาหารขาดแคลน โดยสามารถที่จะกินพืชชนิดต่าง ๆ ได้ถึง 60 ชนิด[5]ลูกลิงขนาดเล็ก จะมีสีขนที่อ่อนไม่เหมือนตัวเต็มวัย โดยจะอาศัยอยู่กับแม่จนกว่าจะโต เมื่ออายุได้ราว 6-7 ปี มีระยะเวลาการตั้งท้องนาน 200 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ลิงตัวเมียที่มีลูกจะมีสถานะทางสังคมมากกว่าลิงที่ไม่มีลูก ขณะที่ตัวผู้ที่มีคู่ก็จะได้เลื่อนสถานะ และแสดงออกถึงความเป็นผู้นำด้วยการ เป็นผู้นำฝูงในการต่อสู้ปกป้องอาณาเขต หากมีลิงฝูงอื่นเข้ามา[5]มีลักษณะเด่น คือ ไม่มีกระดูกดั้งจมูก โดยรูจมูกจะอยู่เชิดขึ้นไปทำให้แลดูเหมือนว่าจมูกเชิด สันนิษฐานว่าเป็นการวิวัฒนาการเพื่อให้จมูกหดสั้นเล็กลงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกความหนาวเย็นกัด อันเป็นสภาพอากาศของถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากสันนิษฐานว่าเป็นลิงที่หลงรอดมาจากยุคน้ำแข็งยุคสุดท้าย และทำให้มีถิ่นกระจายพันธุ์จำกัดเฉพาะป่าดิบทึบบนภูเขาสูงกว่า 3,000 เมตรและห่างไกล ในตอนกลางและตอนใต้ของประเทศจีน เช่น มณฑลยูนนาน, เสฉวน, ฉ่านซี, กานซู และหูเป่ย์[1] จะอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ ซึ่งอาจมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 400 ตัว ปัจจุบันมีลิงจมูกเชิดสีทองเหลืออยู่ในโลกประมาณ 20,000 ตัว ราว 4,000 ตัวอาศัยอยู่ในแถบภูเขาซึ่งทางการจีนจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์จากการถูกล่าเพื่อเอาหนัง กระดูก และเนื้อเพื่อการบริโภค รวมถึงการรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัยจากมนุษย์ด้วยการตัดไม้ทำลายป่าด้วย[6]