รูปแบบทางดนตรีและนวัตกรรม ของ ลูทวิช_ฟัน_เบทโฮเฟิน

ในประวัติศาสตร์ดนตรีแล้ว ผลงานของเบทโฮเฟินแสดงถึงช่วงรอยต่อระหว่างยุคคลาสสิก (ค.ศ. 1750 - ค.ศ. 1810) กับยุคจินตนิยม (ค.ศ. 1810 - ค.ศ. 1900) ในซิมโฟนีหมายเลข 5 ของเขา เบทโฮเฟินได้นำเสนอทำนองหลักที่เน้นอารมณ์รุนแรงในท่อนท่อน เช่นเดียวกับในอีกสามท่อนที่เหลือ (เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยในผลงานประพันธ์ช่วงวัยเยาว์ของเขา) ช่วงต่อระหว่างท่อนที่สามกับท่อนสุดท้าย เป็นทำนองหลักของอัตทากาโดยไม่มีการหยุดพัก และท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 ได้มีการนำการขับร้องประสานเสียงมาใช้ในบทเพลงซิมโฟนีเป็นครั้งแรก (ในท่อนที่สี่) ผลงานทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นนวัตกรรมทางดนตรีอย่างแท้จริง

เขาได้ประพันธ์อุปรากรเรื่อง "ฟิเดลิโอ" โดยใช้เสียงร้องในช่วงความถี่เสียงเช่นเดียวกับเครื่องดนตรีในวงซิมโฟนี โดยมิได้คำนึงถึงขีดจำกัดของนักร้องประสานเสียงแต่อย่างใด

หากจะนับว่าผลงานของเขาประสบความสำเร็จต่อสาธารณชน นั่นก็เพราะแรงขับทางอารมณ์ที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในงานของเขา

ในแง่ของเทคนิคทางดนตรีแล้ว เบโฮเฟนได้ใช้ทำนองหลักหล่อเลี้ยงบทเพลงทั้งท่อน และนับเป็นผลสัมฤทธิ์ทางดนตรีที่ไม่มีผู้ใดปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นทางจังหวะที่มีความแปลกใหม่อยู่ในนั้น เบทโฮเฟินได้ปรับแต่งทำนองหลัก และเพิ่มพูนจังหวะต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการของบทเพลงเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ

เขาใช้เทคนิคนี้ในผลงานเลื่องชื่อหลายบท ไม่ว่าจะเป็นท่อนแรกของเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 4 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรก) ท่อนแรกของซิมโฟนีหมายเลข 5 (ที่ใช้ตั้งแต่ห้องแรกเช่นกัน) ท่อนที่สองของซิมโฟนีหมายเลข 7 (ในจังหวะอนาเปสต์) การนำเสนอความสับสนโกลาหลของท่วงทำนองในรูปแบบแปลกใหม่ตลอดเวลา ความเข้มข้นของท่วงทำนองตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ย้อนกลับมาสู่โสตประสาทของผู้ฟังอยู่เรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้เกิดความประทับใจต่อผู้ฟังอย่างถึงขีดสุด

เบทโฮเฟินยังเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ศึกษาศาสตร์ของวงออร์เคสตราอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบทเพลง การต่อบทเพลงเข้าด้วยกันโดยเปลี่ยนรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโน้ตแผ่นที่เขาเขียนให้เครื่องดนตรีชิ้นต่าง ๆ นั้น ได้แสดงให้เห็นวิธีการนำเอาทำนองหลักกลับมาใช้ในบทเพลงเดียวกันในรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ โดยมีการปรับเปลี่ยนเสียงประสานเล็กน้อยในแต่ละครั้ง การปรับเปลี่ยนโทนเสียงและสีสันทางดนตรีอย่างไม่หยุดยั้ง เปรียบได้กับการเริ่มบทสนทนาใหม่ โดยที่ยังรักษาจุดอ้างอิงของความทรงจำเอาไว้

สาธารณชนในขณะนี้จะรู้จักผลงานซิมโฟนีและคอนแชร์โตของเบทโฮเฟินเสียเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยคนที่ทราบว่าผลงานการคิดค้นแปลกใหม่ที่สุดของเบทโฮเฟินนั้นได้แก่เชมเบอร์มิวสิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนาตาสำหรับเปียโน 32 บท และบทเพลงสำหรับวงควอเท็ตเครื่องสาย 16 บท นั้น นับเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรีอันเจิดจรัส --- โซนาตาสำหรับเครื่องดนตรีสองหรือสามชิ้นนับเป็นผลงานสุดคลาสสิก --- บทเพลงซิมโฟนีเป็นผลงานคิดค้นรูปแบบใหม่ --- ส่วนบทเพลงคอนแชร์โตนั้น ก็นับว่าควรค่าแก่การฟัง

ผลงานซิมโฟนี

โจเซฟ ไฮเดินได้ประพันธ์ซิมโฟนีไว้กว่า 104 บท โมทซาร์ทประพันธ์ไว้กว่า 40 บท หากจะนับว่ามีคีตกวีรุ่นพี่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้ว เบทโฮเฟินไม่ได้รับถ่ายทอดมรดกด้านความรวดเร็วในการประพันธ์มาด้วย เพราะเขาประพันธ์ซิมโฟนีไว้เพียง 9 บทเท่านั้น และเพิ่งจะเริ่มประพันธ์ซิมโฟนีหมายเลข 10 แต่สำหรับซิมโฟนีทั้งเก้าบทของเบทโฮเฟินนั้น ทุกบทต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ซิมโฟนีสองบทแรกของเบทโฮเฟินได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากดนตรีในยุคคลาสสิก อย่างไรก็ดี ซิมโฟนีหมายเลข 3 ที่มีชื่อเรียกว่า "อิรอยกา" จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเรียบเรียงวงออร์เคสตราของเบทโฮเฟิน ซิมโฟนีบทนี้แสดงถึงความทะเยอทะยานทางดนตรีมากกว่าบทก่อน ๆ โดดเด่นด้วยความสุดยอดของเพลงทุกท่อน และการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตรา เพราะแค่ท่อนแรกเพียงอย่างเดียวก็มีความยาวกว่าซิมโฟนีบทอื่น ๆ ที่ประพันธ์กันในสมัยนั้นแล้ว ผลงานอันอลังการชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ต และส่งเบทโฮเฟินขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดสถาปนิกทางดนตรี และเป็นคีตกวีคนแรกแห่งยุคจินตนิยม


หากมีปัญหาในการเล่นไฟล์นี้ ดูที่ วิธีใช้สื่อ

แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นซิมโฟนีที่สั้นกว่าและคลาสสิกกว่าซิมโฟนีบทก่อนหน้า ท่วงทำนองของโศกนาฏกรรมในท่อนโหมโรงทำให้ซิมโฟนีหมายเลข 4 เป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการทางรูปแบบของเบทโฮเฟิน ต่อจากนั้นก็ตามมาด้วยซิมโฟนีสุดอลังการสองบทที่ถูกประพันธ์ขึ้นในคืนเดียวกัน อันได้แก่ซิมโฟนีหมายเลข 5 และซิมโฟนีหมายเลข 6 - หมายเลข 5 นำเสนอทำนองหลักเป็นโน้ตสี่ตัว สั้น - สั้น - สั้น - ยาว สามารถเทียบได้กับซิมโฟนีหมายเลข 3 ในแง่ของความอลังการ และยังนำเสนอรูปแบบทางดนตรีใหม่ด้วยการนำทำนองหลักของโน้ตทั้งสี่ตัวกลับมาใช้ตลอดทั้งเพลง ส่วนซิมโฟนีหมายเลข 6 ที่มีชื่อว่า พาสโทราล นั้นชวนให้นึกถึงธรรมชาติที่เบทโฮเฟินรักเป็นหนักหนา นอกเหนือจากช่วงเวลาที่เงียบสงบชวนฝันที่ผู้ฟังสามารถรู้สึกได้เมื่อฟังซิมโฟนีบทนี้แล้ว มันยังประกอบด้วยท่อนที่แสดงถึงพายุโหมกระหน่ำที่เสียงเพลงสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเหมือนจริงที่สุดอีกด้วย

แม้ว่าซิมโฟนีหมายเลข 7 จะมีท่อนที่สองที่ใช้รูปแบบของเพลงมาร์ชงานศพ แต่ก็โดดเด่นด้วยรูปแบบที่สนุกสนานและจังหวะที่รุนแรงเร่าร้อนในท่อนจบของเพลง ริชชาร์ท วากเนอร์ได้กล่าวถึงซิมโฟนีบทนี้ว่า เป็น "ท่อนจบอันเจิดจรัสสำหรับการเต้นรำ" ซิมโฟนีบทต่อมา (ซิมโฟนีหมายเลข 8) เป็นการย้อนกลับมาสู่รูปแบบคลาสสิก ด้วยท่วงทำนองที่เปล่งประกายและสื่อถึงจิตวิญญาณ

ท้ายสุด ซิมโฟนีหมายเลข 9 เป็นซิมโฟนีบทสุดท้ายที่เบทโฮเฟินประพันธ์จบ นับเป็นอัญมณีแห่งซิมโฟนีทั้งหลาย ประกอบด้วยบทเพลงสี่ท่อน รวมความยาวกว่าหนึ่งชั่วโมง และมิได้ยึดติดกับรูปแบบของโซนาตา แต่ละท่อนของซิมโฟนีบทนี้นับได้ว่าเป็นผลงานชั้นครูในตัวเอง แสดงให้เห็นว่าเบทโฮเฟินได้หลุดพ้นจากพันธนาการของยุคคลาสสิก และได้ค้นพบรูปแบบใหม่ในการเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตราในที่สุด ในท่อนสุดท้าย เบทโฮเฟินได้ใส่บทร้องประสานเสียงและวงควอเท็ตประสานเสียงเข้าไป เพื่อขับร้อง "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ซึ่งเป็นบทกวีของฟรีดริช ชิลเลอร์ บทประพันธ์ชิ้นนี้ได้เรียกร้องให้มีความรักและภราดรภาพในหมู่มวลมนุษย์ และซิมโฟนีบทนี้ได้กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก "บทเพลงแห่งความอภิรมย์" ยังได้ถูกเลือกให้เป็นบทเพลงประจำชาติของยุโรปอีกด้วย

นอกเหนือจากซิมโฟนีแล้ว เบทโฮเฟินยังได้ประพันธ์ คอนแชร์โตสำหรับไวโอลิน ที่สุดแสนไพเราะไว้อีกด้วย และได้ถ่ายทอดบทเพลงเดียวกันออกมาเป็นคอนแชร์โตสำหรับเปียโน ที่ใช้ชื่อว่า คอนแชร์โตหมายเลข 6 นอกจากนั้นก็ยังมี คอนแชร์โตสามชิ้นสำหรับไวโอลิน เชลโล และเปียโน และคอนแชร์โตสำหรับเปียโนอีก 5 บท ซึ่งในบรรดาคอนแชร์โตทั้งห้าบทนี้ คอนแชร์โตหมายเลข 5 สำหรับเปียโน นับว่าเป็นรูปแบบของเบทโฮเฟินที่เด่นชัดที่สุด แต่ก็ไม่ควรลืมช่วงเวลาอันเข้มข้นในท่อนที่สองของคอนแชร์โตหมายเลข 4 สำหรับเปียโน

เบทโฮเฟินยังได้ประพันธ์เพลงโหมโรงอันเยี่ยมยอดไว้หลายบท (เลโอนอเร่, ปิศาจแห่งโพรเมเธอุส) แฟนตาซีสำหรับเปียโน วงขับร้องประสานเสียง และวงออร์เคสตราอีกหนึ่งบท ซึ่งทำนองหลักทำนองหนึ่งของเพลงนี้ได้กลายมาเป็นต้นแบบของ "บทเพลงแห่งความอภิรมย์"

นอกจากนี้ยังมีเพลงสวดมิสซา ซึ่งมี มิสซาโซเลมนิส โดดเด่นที่สุด ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานดนตรีขับร้องทางศาสนาที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ท้ายสุด เบทโฮเฟินได้ฝากผลงานประพันธ์อุปรากรเรื่องแรกและเรื่องเดียวไว้ มีชื่อเรื่องว่า ฟิเดลิโอ นับเป็นผลงานที่เขาผูกพันมากที่สุด อีกทั้งยังทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจไปมากที่สุดอีกด้วย

บทเพลงสำหรับเปียโน

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

เชมเบอร์มิวสิก

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

ใกล้เคียง

ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ลูทวิชชาวเยอรมัน ลูทวิช บ็อลทซ์มัน ลูทวิช วิทเกินชไตน์ ลูทวิช มีส ฟัน แดร์ โรเออ ลูทวิชผู้เยาว์ ลูทวิชที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮ็สเซิน ลูทวิช เบ็ค ลูทวิช แอร์ฮาร์ท ลูทวิช ชตุบเบินดอร์ฟ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ลูทวิช_ฟัน_เบทโฮเฟิน http://www.lvbeethoven.com/index_Fr.html http://perso.wanadoo.fr/claude-broussy/musique_et_... http://perso.wanadoo.fr/crampman/album_cris/musici... http://www.bh2000.net/score/orchbeet/ http://www.gutenberg.org/author/Beethoven,+Ludwig+... http://imslp.org/wiki/Category:Beethoven,_Ludwig_v... http://www.unheardbeethoven.org/ https://www.youtube.com/watch?v=UoXn8CfmpPI/ https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Ludwig...