ประวัติ ของ วงมังคละ

ดนตรีมังคละเป็นดนตรีพุทธบูชาโบราณ สำหรับพระมหากษัตริย์สุโขทัยถวายบูชาพระบรมธาตุ เช่นเดียวกับธรรมเนียมศรีลังกา

ดนตรีมังคละกับพระพุทธศาสนา

  • ในรัชสมัยพญาลิไท (ครองราชย์ พ.ศ. 1897 - พ.ศ. 1919) ได้นำพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์จากลังกาเข้ามา โดยเฉพาะองค์พระมหาสวามีสังฆราชและพระผู้ใหญ่อีกหลายรูปก็มีการไปมาหาสู่กันระหว่างสุโขทัยกับลังกา การที่พระมหาสวามีสังฆราชเสด็จมา จารึกระบุว่ามาเป็นขบวนเสด็จ ซึ่งสมัยโบราณจะต้องมีกองทหารเกียรติยศและจะต้องมีปีมีกลองตามฐานันดร

จากหลักฐานดังกล่าว มีผู้สันนิษฐานว่าพระมหาสวามีสังฆราชน่าจะเสด็จมาพร้อมกับกองเกียรติยศทหารลังกา ประโคมมาตลอดทาง หรือแม้กระทั่งสมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลงกาทีปมหาสามี (หลัก 1 กับหลัก 11) ไปทำบุญในเกาะลังกา ขากลับมาสยามอาจจะได้รับพระราชทานจากพระเจ้าลังกาให้มีกองเกียรติยศและดนตรีประดับพระคุณ[11]

วัดพระฝาง จ.อุตรดิตถ์ พระบรมธาตุโบราณที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุม ซึ่งมีการค้นพบการละเล่นดนตรีมังคละโบราณหลงเหลืออยู่1[6]

ดังนั้นหากนิยามตามทัศนะดังกล่าว มังคละจึงเป็นดนตรีชั้นสูงสำหรับพระพุทธศาสนาของอาณาจักรสุโขทัย และพระมหากษัตริย์สุโขทัย มีพระราชนิยมในการพระราชทานอุทิศเครื่องประโคมมังคละเภรีถวายแด่ปูชนียสถานสำคัญต่าง ๆ ในพระราชอาณาจักร เช่นเดียวกับธรรมเนียมลังกา ทำให้มังคละเภรีได้เผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไปในอาณาจักรสุโขทัย จนกลายเป็นดนตรีพื้นบ้านของอาณาจักรสุโขทัยในระยะต่อมา[12]

ดนตรีปี่กลองมังคละ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอาณาจักรสุโขทัยมาช้านาน ด้วยเหตุนี้สำเนียงการพูดดั้งเดิมแบบสุโขทัย (ภาษาถิ่นสุโขทัย) และการละเล่นดนตรีมังคละ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการชี้วัดความเป็นชุมชนดั้งเดิมที่สืบทอดมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยในเขตภาคเหนือตอนล่างในปัจจุบันอีกด้วย[6]

หลักฐานในศิลาจารึกและจดหมายเหตุ

จารึกวัดช้างล้อม เป็นหลักฐานจารึกของอาณาจักรสุโขทัยโบราณที่กล่าวถึงการถวายข้าพระโยมสงฆ์เพื่อประโคมมังคละบูชาพระบรมธาตุ

มังคละ เป็นกลองชนิดหนึ่ง ขึงด้วยหนัง มีรูปกลมรี ใช้ตีด้วยไม้ คำว่า “มังคละ” หมายถึง มงคล หรืองานที่เจริญก้าวหน้า มังคละจึงเป็นดนตรีที่เป็นมงคล การเล่นมังคละมีมาช้านาน ตั้งแต่สมัยโบราณกาลครั้งกรุงสุโขทัย มีหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ว่า

...เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน มีบริพารกฐิน โดยท่านแล้ปี แล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐินถึงอรัญญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียงวังเท้าหัวลาน ดํบงคํกลอง ด้วยเสียงพาดเสียงพิน เลื่อนขับ ใครจักมักเล่นเล่น ใครจักมักหัวหัว ใครจักมักเลื่อนเลือน..."

ซึ่งคำว่า "ดํบงคํกลอง" เป็นคำโบราณที่มีใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย แปลว่า เป็นการประโคม หรือตีกลองที่ขึงด้วยหนัง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นกลองมังคละเภรี[13] นอกจากนี้ ยังปรากฏธรรมเนียมการถวายข้าพระไว้ประโคมมังคละเภรีสมโภชพระบรมธาตุ เฉกเช่นเดียวกับธรรมเนียมลังกา ในจารึกวัดช้างล้อม เมืองเก่าสุโขทัย พ.ศ. 1927 ความว่า

...พาทย์คู่หนึ่ง ให้ข้าสองเรือนตีบำเรอแก่พระเจ้า ฆ้องสองอัน กลองสามอัน แตร... แต่งให้ไว้แก่พระเจ้า (พระพุทธรูป)..."[14]
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงยกย่องว่าดนตรีมังคละคือ “เบญจดุริยางค์แท้”

จากความในศิลาจารึกดังกล่าว ระบุถึงอุปกรณ์ในวงมังคละ คือฆ้อง 2 และกลอง 3 สันนิษฐานว่าคือฆ้องคู่ในวงมังคละ และกลองดังกล่าว คือกลองยืน กลองหลอน และกลองมังคละในวงมังคละเภรี ตามธรรมเนียมกษัตริย์ลังกาแต่โบราณนั่นเอง[15] ดนตรีมังคละจึงเป็นดนตรีชั้นสูงสำหรับพระพุทธศาสนาของอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะกลายเป็นดนตรีพื้นบ้าน ในชุมชนกลุ่มคนที่ใช้สำเนียงอาณาจักรสุโขทัยโบราณ ปัจจุบันพบการละเล่นอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ รวมทั้งพบร่องรอยการละเล่นมังคละในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งดนตรีมังคละ มีความสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ใช้สำเนียงอาณาจักรสุโขทัยโบราณ

เมื่อครั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2444 พระองค์ท่านบันทึกถึงกลองมังคละขณะที่ผ่านเมืองพิษณุโลกว่า

...ลืมเล่าถึงมังคละไป...เครื่องมังคละนี้ เป็นเครื่องเบญจดุริยางค์แท้ มีกลองเล็กรูปเหมือนเถิดเทิงแต่สั้นขึงหนังหน้าเดียว มีไม้ตียาวๆ ตรงกับ "อาตต" ใบหนึ่ง...เสียงเพลงนั้นเหมือนกลองมลายู..."

พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ว่าดนตรีมังคละนี้คือ “เบญจดุริยางค์แท้” ประกอบด้วย วาตฺต วิตตํ อาตฺตวิตฺตํ สุริสํ และ ฆนํ ครบบริบูรณ์ ซึ่งหมายความว่า ดนตรีมังคละนี้ คือ ดนตรี Classic ตามที่กำหนดไว้ในวรรณกรรมบาลีสันสกฤตโบราณ[16] ซึ่งการละเล่นมังคละ เป็นการละเล่นที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของท้องถิ่นในอาณาจักรสุโขทัยมาแต่โบราณ

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: วงมังคละ http://www.phitsanulokculture.com/cd/ http://pl01.com/~gis090/camp%201.html http://www.sukhothaiculture.com/cd/ http://www.tungsong.com/NakhonSri/Cultures&Games_N... http://www.youtube.com/watch?v=-p1XfioeSYU http://www.youtube.com/watch?v=gCDqaZ1AdMY http://www.youtube.com/watch?v=gCDqaZ1AdMY&feature... http://www.bansuan.net/3/Wattanatom.htm http://www.oknation.net/blog/print.php?id=566127 http://www.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Jou...