การจับเหยื่อ ของ วงศ์กิ้งก่าคาเมเลี่ยน

กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจัดได้ว่าเป็นกิ้งก่าที่มีความโดดเด่นมากในหลายอย่างที่แตกต่างจากกิ้งก่าในวงศ์อื่น ประการหนึ่งก็คือ การใช้ลิ้นยาวในการจับเหยื่อ คือ แมลง กินเป็นอาหาร โดยมีความยาวของลิ้นมากกว่าความยาวลำตัวถึง 2 เท่า ที่ปลายลิ้นจะมีก้อนเนื้อและมีสารเหนียวเคลือบอยู่ ตัวลิ้นมีกล้ามเนื้อวงแหวนขนาดใหญ่ และมีกล้ามเนื้อตามความยาวของลิ้น กล้ามเนื้อวงแหวนถูกล้อมรอบด้วยก้านกระดูกอ่อนที่เจริญจากกระดูกฮัยโอแบรนเคียม ส่วนกล้ามเนื้อฮัยโอกลอสซัสอยู่ทางด้านท้ายของลิ้น กระดูกอ่อนเอนโทกลอสซัสเป็นแผ่นกระดูกกว้างสม่ำเสมอแต่ส่วนทางด้านหน้าเรียวแคบ กลไกของการยืดลิ้น คือ ลดขากรรไกรล่างต่ำลงและยกกระดูกฮัยออยด์ขึ้นพร้อมกันกับยืดลิ้นไปข้างหน้า ในจังหวะเริ่มต้นค่อนข้างช้าต่อจากนั้นลิ้นได้ยืดออกจากปากอย่างรวดเร็วซึ่งเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างฉับพลัน ลิ้นที่ยืดได้ยาวเนื่องจากกล้ามเนื้อวงแหวน กล่าวคือ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวทำให้ตัวลิ้นหดแคบลงแต่ยาวขึ้นและยาวเลยส่วนปลายของกระดูกอ่อนแอโทกลอสซัส ลิ้นที่ยืดออกจากปากมีอัตราความเร็ว 5.8 เซนติเมตรต่อวินาที เมื่อลิ้นสัมผัสกับตัวเหยื่อ ถ้าตัวเยนื่อมีขนาดเล็กจะติดอยู่ที่ส่วนปลายของลิ้น แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่ ก็จะติดกับเนื้อเยื่อบนลิ้น [3]