ลักษณะและพฤติกรรม ของ วงศ์ปลาโรนัน

มีปากอยู่บริเวณด้านล่างของลำตัวเหมือนปลากระเบน หรือปลาฉนาก อาศัยและว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูงใหญ่ โดยปกติปลาตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้มาก ออกลูกเป็นตัว โดยไข่พัฒนาอยู่ในลำตัวแม่ เป็นปลาที่พบได้น้อยและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์แล้วทุกชนิด ในน่านน้ำของไทย เคยพบอยู่บ้างในอดีตทั้งทะเลอันดามันและอ่าวไทย และเคยถูกเบ็ดหรือแห ของชาวประมงเกี่ยวติดขึ้นมาบ้าง แต่มิได้โดยตั้งใจเพราะมิใช่ปลาเศรษฐกิจ อีกทั้งยังนิยมตกเป็นเกมกีฬา ได้ถูกพบเห็นบ้างโดยนักดำน้ำ ที่บริเวณหมู่เกาะสิมิลัน และรอบกองหินริเชริว ปลาโรนันขนาดโตเต็มที่อาจมีขนาดได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัม ที่พบในน่านน้ำไทยได้แก่ชนิด Rhynchobatus djiddensis และชนิด Rhinobatos productus เป็นต้น[2]

เป็นปลาที่หากินตามพื้นท้องน้ำเช่นพื้นโคลนหรือพื้นทรายเหมือนปลากระเบน โดยกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ไส้เดือนทะเล, ปู, กุ้ง[3] บางครั้งอาจพบได้ตามปากแม่น้ำ, แหล่งน้ำกร่อย หรือกระทั่งน้ำจืด[4] แต่โดยปกติแล้วจะอยู่ตามชายฝั่ง และพบในความลึกไม่เกิน 30 เมตร[4]