การก่อสร้าง ของ วังสันติ


เพื่อสรรหารูปแบบที่เหมาะสม มูลนิธิคาร์เนกีจึงจัดประกวดออกแบบสถาปัตยกรรมระหว่างประเทศขึ้น หลุยส์ แอ็ม. กอร์ดอนนีเยร์ (Louis M. Cordonnier) สถาปนิกชาวฝรั่งเศส ชนะการประกวด เขาออกแบบวังไปในแนวฟื้นฟูศิลปวิทยาใหม่ (Neo-Renaissance) แต่เพื่อให้พอดีกับทุนที่มี คาร์เนกี กับฟาน เดอร์ สเทอร์ (Van der Steur) ผู้ช่วยชาวเนเธอร์แลนด์ของเขา ได้ปรับปรุงแบบวัง จากเดิมที่จะให้มีหอระฆังใหญ่สองหอด้านหน้าวัง และหอระฆังเล็กอีกสองหอด้านหลังวัง เป็นเหลือด้านหน้าและด้านหลังด้านละหอ นอกจากนี้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หอสมุดกฎหมายระหว่างประเทศที่เดิมจะให้แยกไว้ข้างวัง ก็ปรับปรุงเป็นให้อยู่ในตัววังเสียเลย

ส่วนลานของวังนั้น ธอมัส เฮย์ตัน มอว์สัน (Thomas Hayton Mawson) ชนะการประกวด แต่เนื่องจากงบน้อย เขาจึงจำต้องตัดน้ำพุและประติมากรรมต่าง ๆ ออกจากแบบ

ภายในวัง ประดับประดาด้วยของขวัญจากชาติต่าง ๆ ที่ร่วมการประชุมสันติภาพ ณ เดอะเฮก เพื่อแสดงการสนับสนุนการก่อสร้าง ในบรรดาของขวัญเหล่านี้ ชิ้นเด่น ๆ ได้แก่ แจกันน้ำหนัก 3.2 ตันจากรัสเซีย, บานประตูจากเบลเยียม, พรมติดผนังจากญี่ปุ่น, นาฬิกาสำหรับหอนาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์, พรมเปอร์เซียจากอิหร่าน และไม้จากอินโดนีเซียกับสหรัฐอเมริกา อนึ่ง ยังมีรูปปั้นและรูปเขียนนักรณรงค์เพื่อสันติอีกหลาย ๆ คนที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกและจากหลาย ๆ ยุค ด้วย

ใน ค.ศ. 1907 ระหว่างการประชุมสันติภาพครั้งที่สอง ณ เดอะเฮก มีการวางศิลาฤกษ์ของวังสันติภาพ แล้วลงมือก่อสร้างกันในหลาย ๆ เดือนถัดมา จนเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ. 1913 แอนดรูว์ คาร์เนกี ก็มาร่วมงานด้วย

ใน ค.ศ. 1999 มีการติดตั้ง "เพลิงสันติอันเป็นนิรันดร์ (eternal peace flame) ซึ่งเป็นชื่อเรียกคบเพลิงที่ตามไฟไว้ตลอด ไว้หน้าประตูทั้งปวงของวัง

ใน ค.ศ. 2007 เบียทริกซ์ พระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จเปิดหอสมุดกฎหมายแห่งวังสันติภาพที่สร้างขึ้นใหม่ สำหรับเป็นที่ตั้งหอสมุดขนาดใหญ่ทั้งหลัง, ห้องบรรยายวิชา และห้องอ่านตำรา ซึ่งมีทางเชื่อมไปยังตัววังสันติภาพด้วย


ใกล้เคียง

วังสันติ วังสันติภาพและการปรองดอง วังสันติภาพ วัดสันติธรรม (จังหวัดเชียงใหม่) วัดสันติธรรมาราม วัดสันติการาม (จังหวัดน่าน) วันสันติภาพสากล วัดสันติคีรีญาณสังวราราม วันสันติภาพไทย